เงินเฟ้อไทย พ.ค. เพิ่ม 0.53% ต่ำสุดรอบ 21 เดือน คาดปีนี้ลงต่อเนื่อง-จับตาราคาน้ำมัน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




อัตราเงินเฟ้อไทย เดือน พ.ค. ชะลอตัวลงต่ำสุดในรอบ 21 เดือน จากราคาน้ำมันและอาหารลดลง ยกเว้นอาหารสดที่ราคายังพุ่งสูง ก.พาณิชย์ ประเมินปีนี้เงินเฟ้อมีสัญญาณลดลงต่อเนื่อง พร้อมเชื่อรัฐบาลใหม่จะทยอยปรับขึ้นค่าแรง 450 บาท และไม่กระทบเงินเฟ้อโดยตรง

ราคาทองวันที่ 6 เดือน 6 ปี 2566 เปิดตลาด "ขึ้น 100 บาท"

ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดตลาดอ่อนค่า หลังจ้างงานสหรัฐฯสูงกว่าคาด

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อของไทย (CPI) เดือน พ.ค. อยู่ที่ 107.19 เพิ่มขึ้น 0.53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวลงอย่างมากเทื่อเทียบกับเดือน เม.ย. ที่เพิ่มขึ้น 2.67% และถือว่าต่ำสุดในรอบ 21 เดือน

โดยสาเหตุมาจากราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และสินค้าหมวดในอาหารลดลงต่อเนื่อง แต่สินค้าที่ราคายังปรับขึ้นส่วนใหญ่เป็นอาหารสด

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ที่ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน (Core CPI) อยู่ที่ 104.33 เพิ่มขึ้น 1.55% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงขึ้นจากเดือน เม.ย. ที่ 0.66 %

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ค. (CCI) อยู่ที่ 56.6 สูงสุดในรอบ 53 เดือน หรือ สูงกว่าเดือน ม.ค. 62 ที่เป็นช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยเหตุผลสำคัญเป็นเรื่องเศรษฐกิจราว 41% และการเมือง 20% (สูงขึ้นจากเดิม 10%)

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน มิ.ย. อยู่ในแนวโน้มลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันอาจจะผันผวนในกรอบแคบ ๆ จากสัญญาณลดกำลังผลิต และเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งต้องรอความชัดเจน ประกอบกับฐานราคาน้ำมันปีที่แล้วสูง

โดยสมติฐานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2566 ยังคงระดับเดิม อยู่ระหว่าง 1.7 – 2.7 ค่ากลางอยู่ที่ 2.2 ซึ่งถ้าสถานการณ์ยังเป็นเหมือนเดิม อาจจะมีการปรับเป้าลงในเดือน ก.ค. แต่ยังคงมีความเสี่ยงในด้านราคาน้ำมันอยู่เล็กน้อย

ขณะที่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีความเสี่ยงในด้านราคาน้ำมัน แต่เงินเฟ้อคาดว่าไม่ขึ้นไปถึง 3-4% เหมือนปีก่อน โดยประมาณการณ์ ไตรมาส 2 เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 1% ส่วนไตรมาส 3 เชื่อว่าจะต่ำกว่าไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 4 ก็จะต่ำกว่าไตรมาสที่ 3

ทั้งนี้เรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทนั้น นายวิชานัน ระบุว่า ต้องรอดูความชัดเจนของรัฐบาลใหม่ แต่เชื่อว่าจะเป็นการทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได ไม่ใช่การปรับขึ้นในครั้งเดียวเหมือนตอนครั้งก่อนที่ปรับขึ้น 300 บาท

“เราไม่เชื่อว่าจะปรับขึ้นทีเดียว แต่ว่าถ้าจะมีการปรับขึ้น ผลของค่าแรงอาจเป็นผลทางอ้อม อาจเป็นผลของค่าบริการ และอาหารตามสั่ง แต่โครงสร้างของเงินเฟ้อ ไม่ได้มีเรื่องค่าแรงตรง ๆ มันจะแฝงในหลาย ๆ ตัว” นายวิชานัน กล่าว

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ