ชวนมาไข 5 ความลับของ 'โลก' ที่คุณไม่เคยรู้?!! ก่อนลงมืออนุรักษ์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




​นับตั้งแต่ พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา วันที่ 22 เม.ย.ของทุกปี ถูกประกาศให้เป็นวัน "วันคุ้มครองโลก" หรือ "Earth Day" โดยโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาติ (UNEP)


ซึ่งมีต้นทางมาจาก เกย์ลอร์ด เนลสัน ที่ขอให้ จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ หยิบยกเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติใน พ.ศ. 2505


ทั้งนี้ UNEP ระบุถึงวัตถุประสงค์ของการประกาศวันคุ้มครองโลกว่า ต้องการให้ประชากรโลกที่มีเกินกว่า 7,000 ล้านคนในปัจจุบัน (อ้างอิงจากวิกิพีเดีย) ตระหนักถึงพฤติกรรมของตนเอง ที่ล้วนสร้างมลพิษมหาศาลจนเกิดเป็น "ภาวะโลกร้อน" และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ให้หันกลับมาดูแลยืดอายุสิ่งแวดล้อมบนโลกให้อยู่ยืนนานเผื่อแผ่ไปยังลูกหลานในอนาคต ผ่าน 7 เป้าหมายได้แก่


1.ลดอัตราการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในบรรยากาศ

2.กำจัดคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ซึ่งเป็นตัวทำลายสภาพโอโซนและก่อให้เกิดการสะสมความร้อนให้หมดสิ้นไป

3.เพื่ออนุรักษ์สภาพป่าที่เหลืออยู่ ทั้งที่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบ

4.เพื่อห้ามการซื้อ-ขายสิ่งมีชีวิต ที่อาจทำให้ภาวะการเจริญพันธุ์ลดลงหรือหมดสิ้นไป

5.เพื่อคงสภาพระดับประชากรไว้ ให้อยู่ในสภาพที่สมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่

6.เพื่อสร้างพลังอำนาจจากองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกให้ร่วมกันปกป้องบรรยากาศ น้ำ และสภาพอื่น ๆ ให้พ้นจากการกระทำที่มิชอบของมนุษย์

7.เพื่อสร้างสำนึกที่จะรักษาโลกไว้ทั้งบุคคล ชุมชน และชาติ


ทว่า การรณรงค์เพียงอย่างเดียว อาจไม่มีแรงดึงดูมากพอให้มนุษย์ใส่ใจกับการรักษ์โลก ผู้สื่อข่าว PPTVHD ขอนำข้อมูลบางส่วนบางตอนจาก นิตยสาร SCIENCE ที่บันทึกเกี่ยวกับ "5 ความลึกลับของโลกที่แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เคยล่วงรู้" มาเผยแพร่ให้ทุกคนสัมผัสความมหัศจรรย์ของ "โลก" ยุคดึกดำบรรพ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นหนึ่งจุดกระตุ้นให้คนหันมาช่วยกันยืนอายุดาวเคราะห์สีน้ำเงินให้อยู่ยืนนาน เพื่อที่จะไขปริศนาว่า "โลกอุบัติขึ้นมาได้อย่างไร" และ "สิ่งมีชีวิตชนิดใดกันแน่ที่เกิดขึ้นพันธุ์แรกในโลกสีน้ำเงินใบนี้"


ความลับที่ 1 : โลกของเราเป็นหนึ่งเดียวมากแค่ไหน?

โลกคือโอเอซิสแห่งจักรวาล เพราะโลกมีมวล มีชั้นบรรยากาศ น้ำ และปริมาณแสงกับความร้อนที่เหมาะสมพอดี ขณะที่เพื่อนบ้านทั้งเจ็ดดวงในระบบสุริยะกลับไร้ชีวิต ถ้าไม่เย็นเยือกก็ร้อนจี๋ จึงเกิดคำถามว่าโลกเป็นหนึ่งเดียวหรือเปล่า? หรือยังมีดาวเคราะห์อื่นเหมือนโลกอีก??


ที่ต้องเอ่ยถึงเรื่องนื้ เพราะความเป็นหนึ่งเดียวของโลกนั้นสำคัญ เนื่องจากเป็นตัวตัดสินว่ามนุษย์ควรทุ่มเทความพยายาม ในการค้นหาชีวิตบนดาวดวงอื่นมากเพียงใด โดยมีกล้องโทรทรรศน์อวกาศเฮอร์เชลในยุโรป ทำหน้าที่สำรวจสิ่งมีชีวิตในดาวดวงอื่นมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2552


นอกจากนี้ ยังถือได้ว่าโลกเป็นดวงดาวที่สมบูรณ์แบบ จากการที่ดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางที่เหมาะสม โลกจึงไม่หนาวและไม่ร้อนเกินไปมาตั้งแต่ต้น ขณะที่ ดวงจันทร์ทำให้การโคจรของโลกมีความเสถียร และทำให้เกิดบ่อน้ำทะเลซึ่งเป็นแหล่ง กำเนิดชีวิต ด้านแก่นโลกซึ่งเป็นธาตุเหล็กช่วยรักษาสนามแม่เหล็ก ส่วนดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ได้เหวี่ยงอุกกาบาตและน้ำแข็งขนาดเล็กเข้ามายังโลกในช่วงแรกที่ระบบสุริยะเกิดขึ้นจึงนำน้ำมาสู่โลก






ความลับที่ 2 : อะไรอยู่ตรงศูนย์กลางโลก?

ภายในของโลก คือ แก่นโลก ที่มีลักษณะเป็นของแข็งที่มีเหลวล้อมรอบ แก่นโลกสำคัญต่อสนามแม่เหล็กมาก จึงสำคัญต่อชีวิตบนโลกด้วย แต่ทำไมโลกจึงมีแก่นพิเศษนี้


โดยแรกเริ่มแก่นโลกอาจเป็นของเหลว แต่เมื่ออุณหภูมิลดลงเหล็กตรงแก่นชั้นในได้ตกผลึก ก่อเกิดเป็นแก่นชั้นในซึ่งยังคงขยายขนาดขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่าแก่นโลกทางตะวันตกกำลังละลาย แต่ทางตะวันออกแข็งตัวมากขึ้น ดังนั้น แก่นโลกจึงมีความเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่เคยเชื่อกัน


นอกจากนี้ โลกยังประกอบด้วยชั้นหลายชั้น ตามกระบวนการ differentiation ทำให้ธาตุทางเคมีแยกตัวตามความหนาแน่น ธาตุหนักและธาตุที่รวมตัวกับธาตุหนักส่วนใหญ่จมลงสู่ศูนย์กลางโลก ส่วนธาตุที่เบากว่าจะลอยตัวขึ้นสู่ชั้นเนื้อโลก ซึ่งแบ่งเป็น 1.ธาตุไลโธโฟล์ (lithophile elements) คือธาตุเบาที่รวมตัวกับธาตุเหล็กและตกลงสู่แก่นโลก 2.ธาตุโซเดอร์โรโฟล์ (siderophile elements) คือธาตุหนักที่รวมตัวกับเหล็ก ตกลงสู่แก่นโลก และ 3.ธาตุแคลโคไฟล์ (chalcophile elements) รวมตัวกับกำมะถันและตกลงลู่แก่นโลกเป็นส่วนใหญ่





ความลับที่ 3 : ทวีปเลื่อนแยกออกจาก เริ่มเมื่อใด และเกิดขึ้นได้อย่างไร?

นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้มานานแล้วว่า แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่สัมพันธ์กับแผ่นอื่น แต่กระบวนการทอยู่เบื้องหลังยังเป็นเรื่องลึกลับ มีอะไรเป็นตัวกระตุ้นการเคลื่อนที่นี้หรือ หรือมันแค่เกิดขึ้นมาเอง


ทฤษฎีที่ใหม่กว่า พร้อมด้วยข้อมูลกับแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อน บ่งชี้ว่าน้ำหนักของแผ่นเปลือกโลกคือปัจจัยสำคัญ ทำให้แผ่นเปลือกโลกไถลไปบนพื้นผิวของแมนเทิล ยิ่งแผ่นเปลือกโลกเก่าแก่ที่หนาและหนักขึ้นจากการเย็นตัวลง จะทำให้แผ่นเปลือกโลกจมลึกลงไปในชั้นแมนเทิล ฐานของแผ่นเปลือกโลกจึงไถลตัวออกจากสันเขากลางมหาสมุทร ส่วนใหญ่เป็นผลจากแรงโน้มถ่วง แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี หากรู้กระบวนการที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของแผ่นเปลือกโลกมากขึ้นก็จะนำมาใช้ในการพยากรณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้





ความลับที่ 4 : ชีวิตบนโลกเกิดขึ้นเมื่อไร?

เพราะกำเนิดชีวิตบนโลก ถือเป็นหนึ่งเหตุการณ์สำคัญตั้งแต่โลกก่อกำเนิดขึ้น โดยเป็นข้อถกเถียงและลงมือพิสูจน์กันอย่างมากว่า สิ่งใดเป็นชีวิตแรกที่เกิดขึ้นมาบนโลก และใช้เวลานานเท่าไรจากช่วงที่เกิดสกาวะเหมาะสมต่อชีวิตถึงอุบัติขึ้น


โดยร่องรอยชีวิตเก่าแก่ที่สุดบนโลกที่ยอมรับกัน พบที่กองหินซูอา (Isua Formation) อายุราว 3,800 ล้านปี ในกรีนแลนด์ ซึ่งสิ่งที่นักธรณีวิทยาค้นพบไม่ใช่ฟอสซิล แต่เป็นคาร์บอนที่ถูกสิ่งมีชีวิตแปลงสภาพ ต่อมาได้ตกตะกอนอยู่ก้นมหาสมุทร มีสมมติฐานว่าสิ่งชีวิตบนโลกอาจเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น แต่หาร่องรอยได้ยากเพราะโลกถูกอุกกาบาตโจมตีอย่างหนัก จนร่องรอยในโลกยุคแรก ๆ เมื่อราว 4,000 ล้านปีก่อนสูญหายไปหมด


มีหลายสิ่งบ่งชี้ว่าสภาพที่เอื้ออำนวยต่อการ มีชีวิตนั้นมีอยู่แล้วตั้งแต่โลกถือกำเนิดขึ้นใหม่ ๆ เช่น การค้นพบแร่เซอร์คอน อายุ 4,400 ล้านปี ที่ แจ็คฮิลส์ ในออสเตรเลีย ถือเป็นข้อพิสูจน์อย่างดีว่าเมื่อ 4,400 ล้านปีที่แล้ว โลกมีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ ทั้งยังน่าจะมีน้ำและชั้นบรรยากาศด้วย ซึ่งก็แปลว่าโลกในยุคนั้นมีสภาพที่เหมาะสมต่อการก่อกำเนิดชีวิต


อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งสมติฐานว่าชีวิตที่เริ่มบนโลกครั้งแรกเมื่อราว 4,000 ล้านปีมาแล้วอาจเกิดขึ้นด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1.ธาตุอนินทรีย์ เช่น ไฮโดรเจน แอมโมเนีย และมีเทน ถูกแปลงให้เป็นสารอินทรีย์ การเปลี่ยน รูปนต้องใช้พลังงาน เช่น พลังงานจากฟ้าผ่า 2.สารอินทรีย์บางชนิดทำปฏิกิริยากับชนิดอื่นจนกลายเป็นโมเลกุลใหญ่ เช่น อาร์เอ็นเอและโปรตีน ดึกดำบรรพ์ กระบวนการนี้อาจเกิดในแอ่งน้ำ และ 3.สารอินทรีย์บางชนิดทำปฏิกิริยากับชนิดอื่นจนกลายเป็นโมเลกุลใหญ่ เช่น อาร์เอ็นเอและโปรตีน ดึกดำบรรพ์ กระบวนการนี้อาจเกิดในแอ่งน้ำ







ความลับที่ 5 : อะไรทำให้ภูมิอากาศของโลกเสถียร?

โลกมีภูมิอากาศคงที่ ทำให้การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ แล้วกลไกอะไรที่ทำให้ภูมิอากาศโลกคงที่ล่ะ?


นักวิทยาศาสตร์พบว่า วัฏจักรคาร์บอนไดออกไซด์ของโลก ช่วยรักษาอุณหภูมิให้คงที่ภูมิอากาศมีความเสถียร โดย 1.คาร์บอนไดออกไซด์ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน 2.ความร้อนทำให้น้ำในมหาสมุทรระเหยและกลั่นตัวกลายเป็นฝน 3.ฝนมีคาร์บอนไดออกไซด์ผผสมอยู่ จึงมีฤทธิ์เป็นกรดละลายแร่ธาตุในหินได้ 4.แร่ธาตุที่มีคาร์บอนเป็นส่วนประกอบถูกชะลงสู่แม่น้ำและมหาสมุทร 5.จากนั้นแร่ธาตุจะตกตะกอนเกิดเป็นหิน ชนิดใหม่ที่มีคาร์บอนเป็นส่วนประกอบ 6.เมื่อหินนี้ลงสู่ขั้นแมนเทิลจะเกิดการปล่อยคาร์บอนไดออก ไซด์ออกมา และ 7.ภูเขาไฟปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กลับออกสู่ชั้นบรรยากาศ วนกลายเป็นวัฏจักรอีกรอบ






เห็นมั้ยว่ากว่าจะมาเป็นโลกสีน้ำเงินสวยงามในระบบสุริยะจักรวาลได้ไม่ใช่เรื่องง่าย!! และยังมีปริศนาอีกมากมายรอให้มนุษย์แก้ไข เพื่อใช้เป็นคู่มือในการเสาะหาดาวดวงใหม่ก่อนที่ดาวเคราะห์โลกจะถึงอายุขัย แต่หากมนุษย์ไม่ช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม อายุขัยที่จะอยู่ได้อีกหลายพันปีก็อาจหมดลงเร็วกว่านั้น ซึ่งนั้นหมายถึงกาลที่โลกดับสูญ และมนุษย์ต้องสูญสิ้นเผ่าพันธุ์!!


ภาพประกอบ : forum.herorangers.com, teen.mthai.com,

www.neutron.rmutphysics.com

TOP ไลฟ์สไตล์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ