เปิดภาพล่าสุด โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




11 มีนาคม คลื่นยักษ์กลืนกินชีวิตและบ้านเรือนตามแนวชายฝั่งของญี่ปุ่น หลายพื้นที่การฟื้นฟูเสร็จสิ้น คนกลับไปใช้ชีวิตได้ ยกเว้นที่ฟูกูชิมะ เพราะที่นี่ซับซ้อนมากกว่าเนื่องจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ความเงียบสงบของ ฟูกูชิมะ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความเงียบสงบที่เห็นตามพื้นที่ชนบทอื่นๆของญี่ปุ่น ที่นี่ยังมีเงาของความเศร้า ความหวาดหวั่นและวิตกกังวลแฝงเร้นอยู่

ด้านในของ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ ชายนับพันคนในชุดสีผ้าหนาสีน้ำเงินเข้มเดินสวนกันไปมาระหว่างการ เปลี่ยนกะทำงานผ่านระบบรักษาความปลอดภัยเข้มงวดขั้นสูง เมื่อได้บัตรที่บันทึกข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลชีวภาพจะต้องผ่านการตรวจวัดระดับกัมมันตรังสีเพื่อเปรียบเทียบค่ารังสีก่อนเข้าและออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ สวมถุงเท้า ถุงมือผ้าหนา และเสื้อกั๊กกับเครื่องวัดรังสีแบบพกพา เกือบปีแล้วที่ผู้ปฏิบัติงานบางส่วนสามารถแต่งตัวแบบนี้ภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เจ้าหน้าที่อธิบายว่า ชุดป้องกันรังสีเต็มรูปแบบในบางจุดไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้วปริมาณรังสีลดลงต่อเนื่องหลังกำจัดซากปรักหักพังและปูแผ่นเหล็กกันไม่ให้ฝุ่นที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีฟุ้งกระจาย และการเตรียมตัวขั้นสุดท้ายก่อนเข้าพื้นที่คือ สวมรองเท้าบู๊ทยางคู่หนาหนัก

จากนั้นเจ้าหน้าที่จะพาขึ้นรถบัสเล็กๆ เลาะเลี้ยวผ่านอาคารปฏิบัติการหลายจุด ก่อนจะจอดบนเนินสูงที่ถูกปิดผิวด้วยคอนกรีตแข็งแรง ต่ำลงไปข้างหน้าประมาณ 100 เมตร จะเห็นจุดเริ่มต้นของมหันตภัยทางนิวเคลียร์ที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ อาคารทรงเหลี่ยม 4 หลัง ด้านในคือเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ครั้งหนึ่งเคยทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในภูมิภาคคันโตรวมถึงโตเกียวเมืองหลวง

11 มีนาคม 2011 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางฝั่งชายทะเลด้านตะวันออกของญี่ปุ่น ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิที่โถมกระหน่ำอย่างไม่ปรานี บ้านเรือน ผู้คนเสียชีวิตและสูญหายหลายหมื่นคน อาคารเตาปฏิกรณ์ทั้งสี่ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิถูกคลื่นกระแทก กระแสไฟฟ้าถูกตัดขาด ส่งผลให้ระบบหล่อเย็นที่หล่อเลี้ยงแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ไม่ทำงาน เมื่อระบบหล่อเย็นไม่ทำงาน อุณหภูมิภายในเตาปฏิกรณ์สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ความร้อนระดับมหาศาลทำให้แท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์ในอาคาร 1, 2 และ 3 เกิดการหลอมละลาย ความร้อนมหาศาลยังทำให้เกิดระเบิดไฮโดรเจนขึ้นที่อาคาร 1,3 และ 4 วันนี้ร่องรอยความเสียหายจากการเกิดระเบิดยังคงเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า

แต่ที่มองไม่เห็นและเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุดคือ ด้านในตัวอาคารที่มีการหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ การหลอมละลายรวมถึงการระเบิดของไฮโดรเจนทำให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้างผู้คนนับแสนต้องอพยพออกอย่างเร่งด่วน มาถึงวันนี้จำนวนมากยังคงกลับมาไม่ได้ทิ้งให้อาคารบ้านเรือนรกร้างว่างเปล่า ฟูกูชิมะไดอิจิถูกปิดตัวอย่างถาวร ภารกิจของเจ้าหน้าที่หลายพันคนในวันนี้ไม่ใช่การผลิตพลังงานอีกต่อไป แต่คือการปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้

หนึ่งงานหลักของการปลดระวางคือ เก็บซากที่เกิดจากการหลอมละลายของแท่งนิวเคลียร์ และถอดแท่งนิวเคลียร์ที่ยังไม่หลอมละลายออกจากอาคารเตาปฏิกรณ์ให้หมด เป็นภารกิจที่ยากเย็นเพราะกัมมันตภาพรังสีในอาคารเตาปฏิกรณ์สูงในระดับที่ทำให้มนุษย์เสียชีวิตได้ภายในไม่กี่วินาที

การปฏิบัติจึงต้องใช้หุ่นยนต์ แต่หลายครั้งหุ่นยนต์ที่ถูกส่งเข้าไปติดอยู่ในเตาปฏิกรณ์ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้เพราะฤทธิ์ของกัมมันตภาพ งานในช่วงแรกๆ จึงเป็นไปอย่างล่าช้า เฉพาะที่อาคารเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลายเลข 3 กว่าจะพบแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ได้ก็ล่วงเข้าปี 2017 หรือหลังเกิดเหตุการณ์ 6 ปี เมื่อหุ่นยนต์ที่มีชื่อว่า 'ปลาแสงอาทิตย์' ถ่ายภาพเชื้อเพลิงที่หลอมละลายได้ที่บริเวณใต้เตาปฏิกรณ์ การขนย้ายเริ่มขึ้น และคาดว่ายังใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปีในการเคลื่อนย้ายแท่งเชื้อเพลิงที่มีอยู่กว่า 500 แท่งออกมา

การปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 50 ปีเป็นอย่างต่ำ การนำเอาเศษซากและแท่งเชื้อเพลิงออกจากเตาปฏิกรณ์เป็นขั้นตอนแรกๆ ยังไม่ใช่ขั้นตอนที่ท้าทายที่สุดด้วยซ้ำไป นับเป็นงานที่ซับซ้อนและยาก เพราะโลกของเรายังไม่เคยเผชิญกับหายนะลักษณะนี้มาก่อน ไม่มีคู่มือหรือตัวอย่างให้ทำตาม

กรณีฟูกูชิมะอาจมีความเลวร้ายน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเชอร์โนบิล โดยสถาบันป้องกันอันตรายจากรังสีและความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ (IRSN) ระบุว่าที่ฟูกูชิมะมีสารกัมมันตรังสีถูกปล่อยปริมาณ ๑ ใน ๑๐ ของปริมาณที่ปล่อยในอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ภายในโรงงาน แม้อยู่ใกล้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ไม่กี่เมตร แต่เครื่องวัดระดับสีที่ติดตัวเราโชว์ตัวเลขในระดับที่ไม่เป็นอันตราย แต่คนจำนวนมากก็ไม่อาจวางใจค่าตัวเลขนี้ได้ 


เมื่อเดินทางมุ่งสู่ที่ตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ร่องรอยของระดับน้ำท่วมหลังคลื่นสึนามิยังปรากฏให้เห็น จุดนี้เราต้องสวมหน้ากากอนามัย หมวกกันกระแทกและแว่นป้องกันดวงตาเพื่อเข้าดูอาคารเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 2 กับ 3 ในระยะใกล้ ร่องรอยจากของระเบิดไฮโดรเจน ร่องรอยขูดขีดแตกร้าวจากเศษหินเศษปูนที่ถูกสึนามิพัดมาชนหลงเหลืออยู่อย่างแจ่มชัดนอกจากวัชพืชไม่กี่ต้นที่แทรกตัวขึ้นมาตามรอยต่อแผ่นเหล็ก ไม่มีสิ่งมีชีวิต ใดในบริเวณนี้อีก 

หากเทียบตามการจัดอันดับของมาตรวัดเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ ภัยพิบัติฟูกูชิมะไดอิจิมีความรุนแรงน้อยกว่าเชอร์โนบิล แต่ปัญหาของที่นี่ซับซ้อนกว่าเนื่องจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมดได้รับผลกระทบ และที่ฟูกูชิมะไดอิจิมีรังสีรั่วไหลออกมาน้อยกว่า หมายถึงว่ายังมีเชื้อเพลิงเหลือในเตาพังๆ นั้นอีกมหาศาล พื้นดินใต้ตัวอาคารและน้ำใต้ดินจึงถูกปนเปื้อนอย่างหนัก

รวมเข้ากับน้ำที่มีการฉีดเข้าไปในเตาปฏิกรณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยลดอุณหภูมิที่ร้อนจัดหลังระบบหล่อเย็นเสียหาย  ปริมาณน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในฟูกูชิมะไดอิจิที่สะสมไว้ตั้งแต่เกิดเหตุในปี 2011 จึงมีจำนวนมหาศาล  ถึงแม้น้ำเหล่านี้ผ่านการบำบัดแล้ว แต่ยังมีสารกัมมันตรังสีอีกตัวที่ไม่สามารถขจัดออกได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆก็ตาม นั่นคือ “ทริเทียม”

“ทริเทียม” คือไอโซโทปชนิดหนึ่งของอะตอมไฮโดรเจน คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่มันมีเหมือนกับไฮโดรเจนคือ สามารถรวมตัวกับออกซิเจนกลายเป็นน้ำได้ เมื่อทริเทียมไปปนอยู่กับน้ำจะกลายเป็นน้ำที่เป็นกัมมันตภาพรังสีที่เรียกว่า ทริเทรต วอเตอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติทางเคมีเหมือนกับน้ำธรรมดา นี่คือเหตุผลว่า ทำไมจึงไม่มีเครื่องมือใดๆ ในการขจัดทริเทียมออกจากน้ำได้  แม้จะไม่สามารถทะลุผ่านผิวหนังได้แต่ทริเทียมสร้างความเสี่ยงต่อโรคต่างๆรวมถึงมะเร็ง ทำให้น้ำปนเปื้อนทริเทียมต้องเก็บอยู่ในถังแบบนี้ ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ พื้นที่จัดเก็บกำลังจะเต็มปริมาณน้ำปนเปื้อนตอนนี้มีถึง 1.1 ล้านตัน ขณะที่พื้นที่ที่จัดเก็บได้มี 1.3 ล้านตัน และน้ำปนเปื้อนมีมาเติมใหม่ทุกวัน เมื่อพื้นที่ในการจัดเก็บหมด ยังไม่มีใครรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรกับน้ำปนเปื้อนสารกัมมัตรังสีนี้

“ญี่ปุ่น” เล็งปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี ออกจากโรงไฟฟ้า “ฟูกูชิมะ” หลังแทงค์ใกล้เต็ม

และเมื่อยังหาทางกำจัดไม่ได้ สิ่งที่ทำคือการลดปริมาณน้ำปนเปื้อนให้น้อยลงด้วยการใช้เทคโนโลยีกำแพงน้ำแข็ง ลึกลงไปใต้ดิน 30 เมตร ล้อมรอบอาคารที่ตั้งเตาปฏิกรณ์รวมเป็นระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ความเยือกแข็งที่อุณหภูมิ - 30 องศาเซลเซียส  กำแพงน้ำแข็งทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้น้ำใต้ดินไหลออกสู่ภายนอกหรือไหลเข้ามาใต้เตาปฏิกรณ์ ท่ามกลางแสงแดดที่แผดเปรี้ยง บนหัวน็อตโลหะที่มีน้ำแข็งเกาะอยู่มีหยดน้ำปรากฏ กำแพงน้ำแข็งกำลังทำหน้าที่ของมันอย่างหนัก

สิ่งที่เกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูฟูชิมะไดอิจิอาจคืออุบัติภัยทางนิวเคลียร์ที่ท้าทายมันสมองของมนุษย์มากที่สุดครั้งหนึ่ง การปลดระวางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ดำเนินไปท่ามกลางปัญหาและอุปสรรคมากมาย ด้านนอกโรงงาน คลื่นจากมหาสมุทรแปซิฟิกวันนี้ดูสงบเงียบ แต่ไม่มีหลักประกันว่า มันจะปั่นป่วนรุนแรงอีกเมื่อใด ตลอดความยาวของชายฝั่งทะเล กำแพงกันคลื่นสูง 14 เมตรถูกสร้างขึ้นทอดยาวไปตามชายฝั่ง บดบังทัศนียภาพทุกๆ อย่างริมทะเลไปจนหมดสิ้น ทั้งความสูงและฐานคอนกรีตความกว้าง 80 เมตรที่จมอยู่ในน้ำอาจส่งผลต่อระบบนิเวศบริเวณชายฝั่ง แต่กำแพงในทะเลนี้เป็นความจำเป็นในขณะที่กระบวนการปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดำเนินไป ทั้งการกำจัดซากแท่งเชื้อเพลิงและการจัดการน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีเป็นงานที่ยากเย็น 

ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า หากไม่มีทางเลือกอื่นใดเหลืออีก อาจต้องปล่อยน้ำปนเปื้อนเหล่านั้นลงสู่ท้องทะเล หากต้องเลือกทางนั้นจริงไม่มีใครรู้ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับมหาสมุทรแปซิฟิกที่ในที่สุดจะส่งมาถึงมนุษย์ด้วยจะกว้างไกลเพียงใด และคนที่นี่หลายพันชีวิตก็กำลังเก็บกวาดทำความสะอาดเศษซากของเทคโนโลยีที่พ่ายแพ้ต่อธรรมชาติ ท่ามกลางความท้าทายและปัญหาให้ต้องกังวลอีกมากมาย

ติดตามเรื่องราวจากทั่วโลกในรายการ "รอบโลก By กรุณา บัวคำศรี" ทุกวันพุธ และ พฤหัสบดี เวลา 22.30 น. ทาง PPTV HD ช่อง 36  รับชมย้อนหลัง http://pptv36.tv/yQI

ฟื้นฟูฟุกุชิมะยังไม่สำเร็จ! รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมร่างแผนฯ 5 ปี ฉบับใหม่

ค่าทำความสะอาดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะพุ่ง 2 เท่า

พบการรั่วไหลรอบใหม่ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ