แนะวิธีปลูกผัก 5 ชนิด ที่ไว้เก็บกินช่วง "ล็อกดาวน์"


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การปลูกผักไว้กินเองในช่วงสถานการณ์โควิด 19 แบบนี้ ถือเป็นเรื่องดีเพราะลดการสัมผัสที่ไม่จำเป็น และยังทำให้เรามีผักไว้กินตลอดช่วงล็อกดาวน์

ด้วยสถานการณ์โควิด 19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น และรัฐบาลก็เตรียมจะยกระดับสถานการณ์โดยใช้ "อู่ฮั่นโมเดล" มาเป็นมาตรการในการป้องกัน ซึ่งงานนี้อาจส่งผลให้ตลาด ร้านอาหาร และซุปเปอร์มาร์เก็ต ไม่สามารถเปิดขายสินค้าได้อย่างที่เคย  แล้วงานนี้เราจะกินอะไร คงกลายเป็นคำถามที่เรานึกถึงทันที 

แต่ถึงไม่มีการยกระดับมาตรการ ณ ปัจจุบันนี้เราก็ยังหาอาหารรับประทานยากมากขึ้น ดังนั้นวันนี้เราจะมาแนะนำการปลูกผักในกระถางแบบง่าย ๆ ได้ผักสดปลอดสารกินเอง จะมีผักอะไรบ้างไปดูกัน 

ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ด้วยซูเปอร์มาร์เก็ตตามธรรมชาติ จากศาสตร์พระราชา

ปลูกผักสวนครัวในบ้าน | The Lighthouse Family EP.6 | PPTV HD 36

1. ผักบุ้ง

ผักบุ้ง มีชื่อเรียกอื่นว่าผักทอดยอด เป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่เรามักจะคุ้นเคยกันมาตลอดว่ามีส่วนช่วยในการบำรุงสายตา แต่จริง ๆ แล้วผักชนิดนี้ยังมีประโยชน์มากกว่านั้น เพราะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญ ๆ


วิธีปลูก 
นำเมล็ดผักบุ้งแช่น้ำประมาณ 1 คืน สังเกตว่าจะมีตุ่มเล็กๆ งอกออก มาคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ผักบุ้งที่สมบูรณ์มาปลูกลงในดินร่วนผสมปุ๋ยคอก ในภาชนะที่เป็นกระถาง หรือแปลงปลูก รากจะงอกออกมาภายใน 2-3 วัน

ข้อแนะนำในการปลูก
ควรดูแลเรื่องความชื้นของดินเป็นพิเศษ เพราะผักบุ้งเป็นพืชที่ชอบความชื้นมาก อย่าปล่อยให้ขาดน้ำเด็ดขาด มิเช่นนั้นต้นจะตายได้ รออีกไม่นาน ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตมากินได้เลย

2. สะระแหน่

สะระแหน่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หอมด่วน หอมเดือน (ภาคเหนือ), ขะแยะ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), สะระแหน่สวน (ภาคกลาง), มักเงาะ สะแน่ (ภาคใต้) เป็นต้น มีแหล่งกำเนิดในแถบทวีปยุโรปตอนใต้และในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ลักษณะใบจะคล้ายคลึงกับพืชในตระกูลมิ้นต์มาก มีกลิ่นหอมคล้ายมะนาว รสชาติจะคล้าย ๆ กับตะไคร้หอมและมะนาว

สะระแหน่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ หลายชนิด เช่น เบต้าแคโรทีน วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก เป็นต้น และยังให้พลังงาน 47 กิโลแคลอรี่ (ใน 100 กรัม) โดยใบสะระแหน่นั้นควรเลือกใช้ใบสดและยอดอ่อนจะได้สรรพคุณที่ดีกว่าใบแห้ง

วิธีปลูก 
หลังจากทำกับข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถ้ายังมีต้นสะระแหน่ เหลืออยู่ อย่าเพิ่งทิ้งค่ะ เราสามารถมาปลูกต่อได้ โดยการเลือกกิ่งสะระแหน่ที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป ปักจิ้มลงไปในแปลงเพาะชำ หรือกระถางที่เตรียมไว้ 

ข้อแนะนำในการปลูก
ปักให้กิ่งเอนทาบกับดิน รดน้ำให้ชุ่มแต่อย่าให้ถึงกับแฉะแล้วโรยแกลบทับกลบดินเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้หน้าดิน และเมื่อแกลบผุก็จะกลายเป็นปุ๋ยต่อไป ประมาณ 4-5 วันก็จะแตกใบ แตกยอดเลื้อยคลุมดิน

3. แตงกวา

แตงกวามีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แตงขี้ไก่ แตงขี้ควาย แตกช้าง แตงปี แตงร้าน มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ในบ้านเราก็นิยมปลูกแตงกวาเป็นอาชีพ เนื่องจากเป็นผักที่ปลูกง่าย ให้ผลผลิตเร็ว การเก็บรักษาง่ายกว่าผักชนิดอื่น ๆ 

วิธีปลูก 
นำดินร่วนปนทรายมาผสมกับปุ๋ยหมักในอัตราส่วนที่เท่า ๆ กันในกระถางปลูก จากนั้นนำเมล็ดที่สมบูรณ์ลงไปปลูกในกระถางประมาณ 4-5 เมล็ด รดน้ำพอชุ่ม

เมื่อต้นเริ่มโตเพียง 5-7 เซนติเมตร ให้เลือกต้นที่แข็งแรงเก็บไว้ แล้วถอนต้นที่ไม่สมบูรณ์ทิ้งไป

ข้อแนะนำในการปลูก
หาไม้หลักมาปักให้ต้นเลื้อย รดน้ำที่โคนต้นให้ชุ่ม นำมาตากแดดวันละ 6 ชั่วโมง และใส่ปุ๋ยบำรุงดิน

4. คะน้า

คะน้า เป็นผักที่มีต้นกำเนิดในทวีปเอเชียซึ่งเพาะปลูกมากในประเทศจีน ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย รวมไปถึงประเทศไทยบ้านเราด้วย

ผักคะน้าเป็นผักที่สามารถเพาะปลูกได้ตลอดปี (แต่ช่วงเวลาเพาะปลูกที่ดีที่สุดจะในช่วงเดือนตุลาคม - เมษายน) มีระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวสั้น สำหรับบ้านเราสายพันธุ์ที่นิยมปลูกจะมีอยู่ด้วยกัน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ใบกลม พันธุ์ใบแหลม พันธุ์ยอดหรือก้าน เป็นต้น เมื่อหาซื้อมาแล้วควรเก็บใส่ไว้ในกล่องหรือถุงพลาสติก มัดหรือปิดให้แน่นแล้วนำไปแช่ไว้ในช่องเก็บผักของตู้เย็น ซึ่งเป็นวิธีที่จะช่วยรักษาวิตามินในผักให้คงอยู่ได้มากที่สุด 

วิธีปลูก
ขั้นตอนแรกให้เตรียมดินด้วยการผสมดินร่วน ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก และขี้เถ้าแกลบหรือขุยมะพร้าวหรือใบไม้แห้ง จากนั้นก็ใส่ลงไปในกระถางแบบไม่ต้องเต็มมาก เสร็จแล้วหย่อนเมล็ดคะน้าตามลงไป หลังจากนั้นเติมดินกลบได้ตามต้องการ

ใช้เวลาประมาณ 45 วัน จึงเก็บเกี่ยวได้ แต่ถ้าหากจะปลูกคะน้าซ้ำในกระถางเดิม ควรผสมดินใหม่

5. ต้นหอม

ต้นหอมต้นหอมเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กตระกูลเดียวกับกระเทียม มีหัวสีขาวบ้างก็ปนสีม่วงอยู่ใต้ดิน ทำหน้าที่สะสมอาหาร ใบเป็นท่อยาว ปลายแหลม ภายในกลวง ดอกมีสีขาวออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกยาว ช่อดอกเมื่อบานมีลักษณะคล้ายร่ม มีดอกย่อยเป็นจำนวนมาก ต้นหอมกินได้ทั้งใบ ดอก และหัว มีกลิ่นฉุนและรสซ่า นิยมนำไปกินเป็นผักเคียงกับอาหารชนิดอื่น ๆ เช่น ข้าวหมูแดง ส่วนใบใช้ตกแต่งโรยหน้าอาหาร และใส่ในต้ม ผัด ยำ แกงต่าง ๆ หรือนำไปดอง 

โดยต้นหอม มีสรรพคุณช่วยในการขับเหงื่อและบำรุงหัวใจ ถ้ากินสด ๆ อย่างต่อเนื่องสามารถลดไขมันในเส้นเลือดได้ ถ้านำต้นหอม 5-6 ก้าน ต้มกับขิง 2 แว่น กรองน้ำดื่ม ขับเหงื่อ ลดไข้

วิธีการปลูก
ขั้นตอนแรกคือการเตรียมดินนำเปลือกถั่วลิสงบด และผสมกับดินร่วน จากนั้นนำดินใส่ในกระถางปลูก แล้วนำต้นหอมมาตัดตั้งแต่รากขึ้นไปยังลำต้นประมาณ 1.5-2 นิ้ว ให้เหลือท่อนเล็ก ๆ ก่อนปักชำลงในกระถางที่เตรียมไว้

ข้อแนะนำในการปลูก
รดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หลังจากใบงอกแข็งแรงแล้ว ให้เปลี่ยนมารดน้ำเพียงวันละ 1 ครั้งก็พอ


การปลูกผักไว้รับประทานที่บ้าน เรียกได้ว่า เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน อีกทั้งยังลดความเสี่ยงในการออกไปเจอกับเชื้อโรค รวมถึงการปลูกผักยังช่วยผ่อนคลายความเครียดในสถานการณ์อย่างนี้ได้อีกด้วย 

คอนเทนต์แนะนำ
เรือพิฆาตเกาหลีใต้ ติดโควิด 251 นาย รอดแค่ 50 ขณะปฏิบัติภารกิจนอกประเทศ
กรมการแพทย์ ชูมาตรการแยกกักตัวในชุมชน ดันผู้ป่วยโควิดสีเขียวเร่งรับการรักษา ลดการแพร่เชื้อ

TOP ไลฟ์สไตล์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ