29 ก.ค. “วันภาษาไทย” คุณค่าและเอกลักษณ์คู่ชาติไทย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดประวัติและที่มา "วันภาษาไทยแห่งชาติ" 29 กรกฎาคม

วันที่ 29 ก.ค.ของทุกปี ถือเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ที่มีขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนชาวไทย ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย และร่วมใจกันใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง

ที่มาของวันภาษาไทยแห่งชาติ

เริ่มต้นจากเหตุการณ์ในวันที่ 29 ก.ค.2505 ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานและทรงอภิปรายเรื่อง "ปัญหาการใช้คำไทย" ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คุณค่าภาษาไทยในมุมมองคนรุ่นใหม่

เกิดเป็นคนไทยต้องใช้ภาษาไทยให้เป็น

โดยทรงแสดงความห่วงใยในภาษาไทย และมีพระราชดำรัสตอนหนึ่ง ว่า "เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่าย ๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก"

โดยการเสด็จพระราชดำเนินร่วมในการประชุมครั้งนั้น ถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาในไทย ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีติในปี พ.ศ.2542 เห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ โดยมีจุดประสงค์หลักๆ ดังนี้

1.เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย

2. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบในวันที่ 5 ธันวาคม 2542

3. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

4. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับให้สัมฤทธิ์ผลยิ่งขึ้น

5. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่าง ๆ ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ

วัฒนธรรมภาษาไทย

1. กล่าวคำว่า “สวัสดี” เมื่อแรกพบและจากกัน

2. กล่าวคำว่า “ขอบคุณ” เมื่อได้รับความอนุเคราะห์จากผู้อื่น

3. กล่าวคำว่า “ขอโทษ” เมื่อทำผิดพลาดหรือล่วงเกิน

4. ไม่ควรพูดคำหยาบ ลามก อนาจาร

5. รู้จักใช้ภาษาพูดและภาษาเขียนให้เหมาะแก่ชั้นของบุคคลที่จะพูดด้วย เช่น พระสงฆ์ เจ้านาย ผู้ใหญ่ที่นับถือ ผู้มีเกียรติ ฯลฯ

6. เขียนหนังสือให้ถูกต้องตามพจนานุกรมของทางราชการ เพื่อให้การเขียนหนังสือภาษาไทย เป็นแบบเดียวกัน

กิจกรรมในวันภาษาไทยแห่งชาติ

สำหรับกิจกรรมที่นิยมจัดในวันภาษาไทย จะมีทั้งการจัดนิทรรศการ, การอภิปรายทางวิชาการ, การประกวดแต่งคำประพันธ์ ร้อยแก้ว ร้อยกรอง การขับเสภา การเล่านิทาน เป็นต้น

อ้างอิง

http://www.bangsrimuang.go.th/

https://th.wikipedia.org/wiki/

น้องเทนนิสฟีเวอร์ แฟนกีฬาแห่ติดตามติ๊กต๊อกเกือบวันละ 1 แสนคน

แนะ 5 วิธีตรวจสอบ Fake News บนโลกออนไลน์ ก่อนตกเป็นเหยื่อ

 

 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ไลฟ์สไตล์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ