เรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากต้องสัตว์มีพิษที่มักมาในช่วงหน้าฝน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ช่วงหน้าฝน นอกจากจะต้องระวังโรคภัย อีกสิ่งที่ไม่ควรละเลยคือสัตว์มีพิษทั้งหลายเพราะมันมักจะมาหลบฝนอยู่ในบ้านเรา ดังนั้นจึงควรเฝ้าระวังให้ดี และทางที่ดีควรเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นไว้ด้วย

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่เราต้องระวังทั้งโรคประจำฤดูกาล อย่างไข้หวัด , ไข้เลือดออก , ภูมิแพ้ หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องระวังด้วยก็คือ สัตว์มีพิษทั้งหลาย เพราะเนื่องจากสภาพอากาศที่้ชุ่มฉ่ำจนบางครั้งสัตว์เหล่านี้ต้องอพยพขึ้นมาจากดินเพื่อหาที่พักอาศัยชั่วคราว และบ้านของเรา หรือสวนต้นไม้ ดอกไม้ของเราอาจกลายเป็นแหล่งพึ่งพิงของสัตว์มีพิษเหล่านี้ ไปโดยไม่รู้ตัว 

ระวัง!! สัตว์มีพิษ ช่วงหน้าฝน แนะจัดบ้านให้เป็นระเบียบ

เตือนภัย !! สัตว์ร้ายที่มากับฤดูฝน

ดังนั้นเราจึงควรรู้ไว้ว่า สัตว์มีพิษชนิดใดบ้างจะอาศัยจังหวะช่วงฝนตกแฝงตัวเข้าอยู่ในบ้านเราได้ พร้อมกับเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากโดนสัตว์เหล่านี้กัด

สัตว์มีพิษที่มากับหน้าฝน 
1. งู เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่ไม่มีขา ไม่มีเปลือกตา มีเกล็ดปกคลุมผิวหนังทั่วลำตัว งูมีความปราดเปรียวและว่องไวในการเคลื่อนที่ มีลิ้นสองแฉกเพื่อใช้สำหรับรับความรู้สึกทางกลิ่น 
     หากโดนงูกัด ควรสังเกตก่อนว่า มีพิษหรือไม่ วิธีสังเกตให้ดูจากรอยกัด ถ้าเป็นงูที่ไม่มีพิษ รอยฟันบนผิวหนังจะเรียงเป็นแถว แต่ถ้าเป็นงูที่มีพิษ อาจพบหรือไม่พบรอยเขี้ยวก็ได้ หากพบรอยเขี้ยว จะมีลักษณะเป็นรอยเขี้ยว 2 จุดชัดเจน และมีเลือดซึมออกจากแผล รอบๆ รอยเขี้ยวมีสีคล้ำ หรืออาจพองเป็นถุงน้ำ

อันตรายของพิษงูในประเทศไทยแบ่งเป็น 3 ระบบใหญ่ๆ ได้แก่
    - พิษต่อระบบประสาท ทำให้มีอาการแขนไม่มีแรง กระวนกระวาย ลิ้นเกร็ง พูดไม่รู้เรื่อง ตามัว น้ำลายฟูมปาก หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้หยุดหายใจ และเสียชีวิตในที่สุด 
    - พิษต่อระบบเลือด ทำให้มีอาการเลือดออกผิดปกติในร่างกาย เช่น เลือดกำเดาไหล ไอ อาเจียน ปัสสาวะและอุจจาระเป็นเลือด และอาจทำให้เสียชีวิตได้ 
    - พิษต่อระบบกล้ามเนื้อ ทำให้ปวดกล้ามเนื้อทั่วทั้งตัว ปัสสาวะออกน้อย และปัสสาวะมีสีเข้มถึงดำ 
 
วิธีปฐมพยาบาล 
    * ตั้งสติให้ดี อย่าตกใจ และพยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด
    * ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ ไม่ควรใช้เหล้า ยาสีฟัน หรือสมุนไพรใดๆ ล้างหรือประคบ
    * ใช้ผ้าสะอาดห้ามเลือดด้วยการกดลงบนแผลโดยตรง สามารถใช้แอลกอฮอล์หรือเบตาดีนทาแผลได้ เพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรค
    * ไม่แนะนำให้ขันชะเนาะ 
        * รับประทานยาแก้ปวด ถ้ารู้สึกปวด
       * รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด พร้อมกับนำซากงูหรือถ่ายรูปงูมาด้วย เพื่อช่วยให้แพทย์หาเซรุ่มมาฉีดแก้พิษงูได้เร็วขึ้น 

2. ตะขาบ  เป็นสัตว์ขาข้อซึ่งพบได้ทั่วไปในเขตร้อนชื้น ชอบอาศัยอยู่บนบก มีขนาดความยาวลำตัวตั้งแต่ 3-8 ซม. มีจำนวนปล้อง 15-100 ปล้อง แต่ละปล้องมีขา 1 คู่ ส่วนหัวแยกจากลำตัวชัดเจน มีหนวดขา 1 คู่ และมีเขี้ยวพิษ 1 คู่ ซึ่งดัดแปลงมาจากปล้องแรกของลำตัว 
     เมื่อถูกตะขาบกัดจะพบรอยเขี้ยว 2 รอย ลักษณะเป็นจุด มีเลือดออกตรงบริเวณที่ถูกกัด พิษของตะขาบมีสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบต่อร่างกาย ได้แก่ hydroxytryptamine หรือ cytolysin ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบ ปวด บวมแดง ร้อน ชา บางคนอาจเกิดอาการอัมพาตตรงบริเวณที่ถูกกัด หรือเป็นแผลไหม้อยู่ประมาณ 2-3 วัน ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรง อาจมีอาการอาเจียน หัวใจเต้นผิดจังหวะ มึนงง ปวดศีรษะ ซึ่งถ้าดูแลแผลไม่ดี อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ 
 
วิธีปฐมพยาบาล 
     * ล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ไม่ควรใช้เหล้า ยาสีฟัน หรือสมุนไพรใดๆ ล้างหรือประคบ 
    * ประคบเย็นด้วยน้ำแข็ง ครั้งละ 10 นาที เพื่อลดอาการปวด หรือรับประทานพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวด
    * ห้ามเกา แกะ บริเวณที่ถูกกัด เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้  
    * หากอาการปวดไม่ทุเลา หรือมีอาการแพ้มาก ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับยาแก้ปวดหรือยาฆ่าเชื้อ บางรายแพทย์อาจแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักร่วมด้วย 

3. แมงป่อง สามารถพบได้ทั่วโลก ซึ่งบางชนิดก็มีพิษไม่รุนแรง แต่บางชนิดก็มีพิษรุนแรงมากและอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยลำตัวของแมงป่องจะประกอบไปด้วยส่วนหัวและอกรวมกัน ส่วนท้องเป็นปล้องๆ ส่วนปากมีลักษณะเป็นก้าม (คล้ายก้ามปู) เอาไว้สำหรับจับเหยื่อ ส่วนหางมี 5 ปล้อง ปล้องสุดท้ายจะมีอวัยวะสำหรับใช้ต่อยและมีต่อมพิษอยู่ที่ส่วนปลาย แมงป่องชอบที่เย็นและชื้น ดังนั้น ที่ๆ เรามักจะพบแมงป่องได้บ่อยๆ ในบ้านก็คือ ห้องน้ำ ห้องครัว ผนังห้อง ท่อแอร์
     พิษของแมงป่องประกอบไปด้วยสาร phospholipase, acetylcholinesterase, hyaluronidase และ neurotoxin ซึ่งแมงป่องส่วนมากที่พบในประเทศไทยจะมีพิษน้อย โดยรอยแผลที่ถูกแมงป่องต่อยจะมีจุดสีแดง ซึ่งจะบวมและปวดมาก นอกจากนี้ พิษของแมงป่องยังอาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณใกล้เคียงโตและเจ็บได้ โดยทั่วไปอาการของผู้ที่ถูกแมงป่องต่อยจะดีขึ้นภายใน 1 วัน แต่ในรายที่แพ้มากอาจมีอาการน้ำลายฟูมปาก กล้ามเนื้อกระตุก ตะคริว อาเจีบน ชัก หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตจากระบบหัวใจล้มเหลวได้ 
              
วิธีปฐมพยาบาล 
    *  ล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ไม่ควรใช้เหล้า ยาสีฟัน หรือสมุนไพรใดๆ ล้างหรือประคบ 
    *  ประคบเย็นด้วยน้ำแข็ง ครั้งละ 10 นาที เพื่อลดอาการปวด หรือรับประทานพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวด
       *  ห้ามเกา แกะ บริเวณที่ถูกต่อย เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้  
        *  หากอาการปวดไม่ทุเลา หรือมีอาการแพ้มาก ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับยาแก้ปวดหรือยาฆ่าเชื้อ บางรายแพทย์อาจแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักร่วมด้วย

 

4. ด้วงก้นกระดก มีชื่อเรียกอื่นๆ อีก เช่น แมลงก้นกระดก ด้วงปีกสั้น ด้วงก้นงอน ด้วงกรด เมื่อโตเต็มที่จะมีสีดำสลับเข้ม ลำตัวยาวประมาณ 5-7 มิลลิเมตร หัวสีดำ อกส่วนหน้าแบนยาว ส่วนท้องมี 6 ปล้อง 4 ปล้องแรกจะมีสีส้มอมน้ำตาล ส่วนที่เหลือจะมีสีดำ ขาทั้ง 3 คู่ มีสีน้ำตาลแดง ปีกแข็งด้านบนมีสีน้ำเงินเข้มและมีปีกอ่อนข้างใต้ บินได้เร็วและมีความว่องไว เวลาเดินจะยกปลายท้องตั้งขึ้น จึงเป็นที่มาของชื่อ “ด้วงก้นกระดก” 
     ด้วงก้นกระดกมีสารพิษที่ชื่อว่า พีเดอริน (Pederin) มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน สามารถทำลายเซลล์เนื้อเยื่อผิวหนังได้ โดยตัวเมียจะมีปริมาณสารพิษมากกว่าตัวผู้ 
     โดยอาการมักเกิดจากการสัมผัสกับสารพิษโดยตรง เช่น เผลอใช้มือปัดตัวแมลงที่มาเกาะตามร่างกาย หรือใช้นิ้วบี้เพื่อให้แมลงตาย ซึ่งอาการจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณของสารพิษที่เราสัมผัสและปฏิกิริยาตอบสนองของแต่ละคน เพราะอาการจะไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่มักจะเกิดขึ้นหลังสัมผัสสารพิษแล้วประมาณ 12 ชม. โดยพิษจากด้วงก้นกระดก ทำให้เกิดอาการแสบร้อน ผื่นระคายเคือง คัน และอาจเป็นหนองได้  
 
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากสงสัยว่าสัมผัสกับแมลงก้นกระดก 
     * ล้างบริเวณที่สัมผัสด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ 
     * ประคบด้วยสำลีชุบน้ำเย็น หรือน้ำเกลือครั้งละ 5-10 นาที วันละ 3-4 ครั้ง
    * อาการอักเสบจะหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยอาจมีรอยดำทิ้งไว้ที่ผิวได้ แต่ไม่เป็นแผลเป็น ยกเว้นในรายได้ที่ได้รับสารพิษในปริมาณมาก หรือมีอาการแพ้รุนแรง อาจมีไข้สูง และอาการทางระบบหายใจได้ แต่ถ้ามีอาการเจ็บปวด ปวดแสบปวดร้อนจนทนไม่ไหว หรือโดนพิษบริเวณใบหน้า หรือดวงตา แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ทันที 

แต่ไม่ว่าอย่างไรการระมัดระวัง และทำให้รอบบ้านสะอาดปราศจากที่ซุกซ่อนของเหล่าสัตว์มีพิษ ก็จะปลอดภัยเป็นที่สุด แต่ถ้าระมัดระวังป้องกันแล้วยังถูกกัด สิ่งสิ่งแรกที่ควรทำก็คือ ตั้งสติให้ดี อย่าตกใจ และสังเกตดูว่าตัวที่กัดหรือต่อยนั้นเป็นตัวอะไร จากนั้นก็รีบปฐมพยาบาล และเดินทางไปพบแพทย์เป็นดีที่สุด 
 

ที่มาจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช 

TOP ไลฟ์สไตล์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ