ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ "เฟซบุ๊กไลฟ์" ใช้อย่างไรให้เหมาะสม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ปฎิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันนี้เทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้นและเข้าถึงได้ง่าย ผิดกับในอดีตที่เทคโนโลยีจะผูกติดกับคอมพิวเตอร์ที่ราคาสูง ทำให้ยอดการใช้งานน้อย แต่ปัจจุบันนี้ต้นทุนต่ำลงสมาร์ทโฟนราคา 999 บาท ก็สามารถนำมาใช้งานอินเทอร์เน็ตได้แล้ว แต่ถึงอย่างไรต้องยอมรับข้อหนึ่งว่าคนที่เข้ามาใช้งานนั้นยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ

จากกรณีดราม่าที่กำลังฮือฮาในโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีคลิปวิดีโอจากการไลฟ์เฟซบุ๊ก ที่มีกลุ่มพริตตี้สาวไปทานอาหารที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง แต่กลับมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับเจ้าของร้าน โดยสาเหตุเนื่องมาจากเด็กๆ ที่พามาด้วย ไปอาเจียนและอุจจาระไว้ในร้าน ซึ่งเจ้าของร้านจึงขอให้ลูกค้าเชคบิล ทำให้กลุ่มพริตตี้สาวไม่พอใจ และมีปากเสียงกัน และพริตตี้สาวขอให้ชาวโซเชียลมีเดียช่วยกันแชร์คลิปนี้ออกไป จากนั้นก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมจากชาวเน็ต ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะต่อว่ากลุ่มของพริตตี้สาวที่ไม่สามารถดูแลเด็กๆ ที่พามาด้วยได้

นายปฐม อินทโรดม ที่ปรึกษาสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย  เปิดเผยกับทีมนิวมีเดีย PPTV ว่า กระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ออกมานั้นถือเป็นกระแสตีกลับ เพราะกลุ่มคนบางกลุ่ม หลังจากที่มีคนมาติดตามเยอะ จะรู้สึกว่าตนเองเด่นดัง มีอิทธิพลต่อสังคม เพราะฉะนั้นมักจะคิดว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นถูก และใช้สื่อโซเชียลฯ เพื่อฟ้องต่อสังคมเมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรก็ตามที่ตนไม่ถูกใจ โดยพวกเขาจะใช้โซเชียลฯในการประจาน ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาเกิดการหลงตัวเอง และหลายๆ ครั้งกระแสตีกลับก็จะฟ้องว่าพวกเขาเหล่านั้นคือคนผิด

ที่ปรึกษาสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศฯ กล่าวต่อว่า ในอดีตคนใช้อินเทอร์เน็ตจะใช้เพื่อการศึกษา หาข้อมูลการค้นคว้า การวิจัย และใช้ในเรื่องธุรกิจ หรือสรุปง่ายๆคือใช้ในเรื่องที่มีประโยชน์เป็นหลัก แต่ในปัจจุบันการใช้งานมีต้นทุนต่ำกว่าเมื่อก่อน ทำให้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ซึ่งไม่มีความพร้อมในการใช้งานและไม่รู้ถึงข้อเสียของการใช้งาน ทำให้พวกเขาตื่นตาตื่นใจและไม่รู้มารยาท เกิดการใช้งานแบบไม่เหมาะสม ทั้งนี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังที่เราอาจสังเกตพบว่าผู้ใช้งานหน้าใหม่มีเพิ่มมากขึ้นและไม่ใช่เพียงประเทศไทย แต่เป็นแนวโน้มทั่วโลก

นอกจากนี้นายปฐม คาดว่า เฟซบุ๊กกับไลน์จะอยู่ไปอีก 2 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี และจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่จะมีแอพพลิเคชั่นน้องใหม่จากบริษัทไหนเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ แต่อนาคตคนเราจะตระหนักถึงข้อมูลส่วนตัวมากขึ้นและอาจมีแอพพลิเคชั่นที่ตอบสนองชาวโซเชียลฯได้มากกว่าที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการจัดระเบียบกันใหม่ แล้วพอถึงวันนั้นจริงๆ การใช้งานแบบสังคมก้มหน้าก็จะหมดไป

ขณะที่เฟซบุ๊กมีอิทธิพลต่อผู้คนมากขึ้น ปัจจุบันเฟซบุ๊กไลฟ์ก็มีผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่ง นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ เปิดเผยว่า ข้อดีของเฟซบุ๊กไลฟ์คือ เป็นการติดต่อสื่อสารที่ทำให้ทุกๆ อย่างมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่เฟซบุ๊กนั้นไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว เพราะฉะนั้นข้อมูลทุกอย่างที่เราใช้ผ่านเฟซบุ๊กจะเป็นข้อมูลสาธารณะ ดังนั้นเนื้อหาหรือข้อมูลต่างๆ ที่มีการถ่ายทอดสดออกไปนั้นจะควบคุมได้ยาก อีกทั้งอาจก่อให้เกิดความเสียหายภายหลังได้ เพราะทุกอย่างที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตจะถูกเก็บรวบรวมโดยระบบคอมพิวเตอร์ ถึงแม้ลบออกไป ข้อมูลจะยังคงอยู่

“คลิปวิดีโอที่ไม่เหมาะสมต่างๆ หรือมีความผิดทางกฎหมาย แม้คนที่ทำเฟซบุ๊กไลฟ์ได้ลบข้อมูลไปแล้ว แต่ก็ยังคงมีความผิดทางกฎหมายอยู่ เพราะสามารถดูผ่านระบบย้อนหลังได้” นายไพบูลย์ กล่าว

ทั้งนี้นายไพบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การไลฟ์ที่ติดบุคคลที่ 3 ที่ไม่เต็มใจออกอากาศด้วยเช่นกัน แม้จะไม่ผิดกฎหมายแต่ถือว่าเป็นมารยาทที่ไม่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่ากลุ่มคนที่หลากหลายทำให้มีการใช้งานที่เกินพอดีโดยไม่สนใจคนที่อยู่ตรงหน้า มัวแต่พูดคุยกับคนที่อยู่ในโซเชียลฯ และใช้งานเกินความจำเป็น ส่งผลให้เสียทั้งสุขภาพเสียทั้งสายตา และที่สำคัญที่สุดคือเสียการปฎิสัมพันธ์กับผู้คนที่อยู่รอบข้าง

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ไลฟ์สไตล์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ