ปรับสูตร “พาราฯ” - “ปรับพฤติกรรม” ลดปัญหาใช้ยาเกินขนาด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ส่องความคืบหน้ามาตรการปรับฉลาก เอกสารกับยา และคำเตือน “พาราเซตามอล” หวังลดปัญหาผู้บริโภคได้รับยาเกินขนาด พร้อมย้ำเตือนกรณีใช้แก้ปวด ไม่ควรเกิน 5 วัน - ลดไข้ 3 วัน 

ความพยายามในการแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัคระวัง เกี่ยวกับการใช้ยาให้เหมาะสมและไม่มากเกิดความจำเป็น ยังคงเป็นความพยายามของบุคลากรแวดวงสาธารณสุขทั่วโลก โดยที่ผ่านมาปัญหาการใช้ยาไม่ถูกต้องมักถูกมุ่งเป้าไปที่การใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะการใช้ยาชนิดนี้อย่างพร่ำเพรื่อและไม่สมเหตุสมผล กำลังเป็นการส่งเสริมให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยามากขึ้นทุกขณะ ผลเสียไม่เพียงตกอยู่ที่สุขภาพของผู้บริโภคเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันยังทำให้กระบวนการรักษาซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดของคนในระบบสุขภาพ ในการสร้างความเข้าใจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ยาให้ถูกต้อง

ทั้งนี้ หากเจาะลึกปัญหาการใช้ยาไม่เหมาะสมและมากเกินขนาด นอกจากยาปฏิชีวะแล้ว ยังพบว่า “พาราเซตามอล” ก็เป็นอีกหนึ่งในปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุย ถึงการวางมาตรการลดและป้องกันปัญหาสุขภาพ ที่ในปัจจุบันพบว่าสถาบันการแพทย์เริ่มมีรายงาน “พิษจากการใช้พาราเซตามอล” เกินขนาด ทั้งในรูปแบบที่ผู้บริโภคตั้งใจและไม่ตั้งใจเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นการตอกย้ำอันตรายจากการใช้พาราฯ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและองค์กรผู้บริโภค ต่างออกมาแจ้งเตือนถึงผลเสียต่อ “ตับ” อวัยวะสำคัญของร่างกาย เพราะเป็นแหล่งสร้างอาหาร ซ่อมแซมร่างกาย ทำลายสารพิษ หากตับอักเสบการทำงานของร่างกายจะบกพร่อง ซึ่งท้ายที่สุดอาจทำให้ป่วยเป็นมะเร็งได้

ก่อนหน้านี้ในการแถลงข่าว “เตือนภัยยาที่มีพิษต่อตับ” ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า โรคตับ เป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญของไทย เกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งจากโรค เช่น ไวรัสตับอักเสบ และจากพฤติกรรมสุขภาพ เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือเกิดจากใช้ยาไม่ถูกต้อง เนื่องมาจากการมีทะเบียนตำรับยาที่ไม่ปลอดภัย เช่น มียาสูตรผสมที่ไม่เหมาะสม ยามีขนาดความแรงที่หลากหลายเกินไป รวมไปถึงมีฉลากยาที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือสับสนในการใช้ยา ทำให้ผู้ป่วยได้รับปริมาณยาเกินกำหนด จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยต่อสุขภาพประชาชน

“มาตรการลดจำนวนเม็ดต่อภาชนะบรรจุ การกำหนดปริมาณของพาราเซตามอลในยาสูตรผสม และมาตรการด้านฉลาก เช่น ระบุว่ายานี้มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ  ‘Contains paracetamol’ และห้ามเกิน 4,000 มก./วันในผู้ใหญ่ ใช้ติดต่อกันไม่เกินเวลาที่กำหนด กรณีแก้ปวด 5 วัน ลดไข้ 3 วัน รวมไปถึงการกำหนดเครื่องมือให้ยาน้ำแก่เด็กที่ได้มาตรฐาน จะช่วยให้ปัญหาการได้รับยาพาราฯ มากเกินปริมาณที่เหมาะสมลดลง” ผู้จัดการ กพย. ย้ำ

ขณะที่ ท่าทีจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. หน่วยงานผู้รับผิดชอบโดยตรงในการขึ้นทะเบียนตำรับยา รวมไปถึงการบังคับฉลากยาให้มีความชัดเจน เพื่อแจ้งเตือนผลกระทบต่อผู้บริโภค ได้ออกมาเปิดเผยความคืบหน้าการพัฒนาฉลากและเอกสารกำกับยา ซึ่งได้ทบทวนข้อมูลวิชาการและเห็นชอบมาตรการจัดการความเสี่ยง โดยมีมติให้ปรับปรุงข้อกาหนดการแสดงฉลาก เอกสารกับยาและคำเตือนของยาพาราเซตามอล ทั้งยาเดี่ยวและสูตรผสม ระบุว่า 

ห้ามใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาดที่แนะนำในฉลากหรือเอกสารกำกับยา เพราะจะทำให้เป็นพิษต่อตับได้ และไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเกิน 5 วัน 
หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยาอื่นที่มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ เพราะอาจทาให้ได้รับยาเกินขนาด 
หากดื่มสุราเป็นประจำ เป็นโรคตับ หรือโรคไต ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้ 
หากกินยาแล้วเกิดอาการบวมที่ใบหน้า เปลือกตา ริมฝีปาก ลมพิษ หน้ามืด ผื่นแดง ตุ่มพอง ผิวหนังหลุดลอก ให้หยุดยาและรีบปรึกษาแพทย์ทันที

พร้อมกันนี้ อย. ได้ขอให้ผู้บริโภคใช้ยาอย่างระมัดระวัง ควรอ่านฉลากและเอกสารอย่างถ้วนถี่ และปฏิบัติตามวิธีใช้ที่ระบุบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด ไม่ควรกินยาเกินกว่า ปริมาณที่ระบุได้ โดยเฉพาะยาพาราเซตามอล (เม็ดละ 500 มิลลิกรัม) ไม่ควรกินเกินวันละ 8 เม็ด และหากมีความผิดปกติ หรือมีอาการข้างเคียงจากการใช้ยา อาทิ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร บวมบริเวณท้อง กดเจ็บบริเวณตับ ขอให้พบแพทย์โดยด่วน ส่วนกรณีที่หลายภาคส่วนพยายามผลักดันให้มีการออกมาตรการ ลดปริมาณพาราเซตามอลจาก 500 มก. เหลือ 325 มก. เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้บริโภคในการคำนวณจำนวนเม็ดยา ต่อน้ำหนักตัวตามคำแนะนำที่ 10-15 มก./น้ำหนักตัว 1 กม. เช่นน้ำหนัก 50 กม. ควรใช้ยาไม่เกิน 750 มก./ครั้ง หากกำหนดปริมาณยาที่ขาย 325 มก. ผู้บริโภคสามารถกินได้ครั้งละ 2 เม็ด โดยไม่ต้องหักครึ่งในเม็ดที่ 2 นั้น 

นายประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมา อย. พยายามแก้ไขปัญหาการใช้ยาพาราเซตามอลมาโดยตลอด ซึ่งล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการพัฒนาฉลากและเอกสารกากับยา ได้ทบทวนข้อมูลวิชาการและเห็นชอบมาตรการจัดการความเสี่ยง โดยการเพ่ิมข้อความย้ำเตือนผู้บริโภคในเอกสารกำกับยาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนการผลักดันให้มีการออกทะเบียนตำรับปริมาณยา 325 มก./เม็ด นั้น ปัจจุบัน อย. ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการเพ่ิมการผลิตยาขนาดดังกล่าวเพ่ิมมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้ใช้อย่างสะดวก ซึ่งขณะนี้ในท้องตลาดมีวางขายมากกว่า 10 ยี่ห้อแล้ว แต่ปัญหาที่พบคือไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าที่ควร เนื่องจากประชาชนคุ้นเคยกับการใช้ยาพาราเซตามอลขนาด 500 มก./เม็ด 

“คนไทยยังคงนิยมการใช้พาราฯ แบบ 500 มก. อยู่ ขณะเดียวกันทุกวันนี้ตาม รพ. ต่างๆ ก็จ่ายยาขนาดดังกล่าวให้ผู้ป่วยด้วย จึงอยากให้ผู้บริโภคศึกษาข้อมูลและใช้ปริมาณยาให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัว ซึ่งค่าเฉลี่ยน้ำหนักของคนไทยโดยเฉพาะผู้หญิง 50-60 กก. หากเลือกใช้แบบ 325 มก. จะทำให้กินยาได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องหักเม็ดยา” รองเลขาธิการ อย. กล่าว
 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ไลฟ์สไตล์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ