รัฐธรรมนูญสนทนา สร้าง “สัญญาประชาคม” : สร้าง รัฐธรรมนูญ ฉบับ “ถาวร”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




10 ธ.ค. วันรัฐธรรมนูญ อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของรัฐธรรมนูญไทยจะเป็นอย่างไร เปิดวงสนทนากับ ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการหนุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญ

เนื่องในโอกาสวันรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561  ครบรอบ 86 ปี ของการพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ. 2475   ทีมข่าว PPTV Online ได้มีโอกาสคุยกับ ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย  นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน และกฎหมายรัฐธรรมนูญ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ดร.พรสันต์ จบการศึกษาปริญญาตรี นิติศาสตร์บัฑิต จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ  ปริญญาโท M.L.I. Law  (University of Wisconsin-Madison); และปริญญาเอกจาก S.J.D. Constitutional Law  (University of Wisconsin-Madison) และเขาเพิ่งกลับมาจากการปฏิบัติภารกิจจากประเทศอังกฤษ ในฐานะคนไทยคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น Visiting Scholar ที่ Faculty of Law, University of Oxford  

เราจึงได้สนทนาเรื่องรัฐธรรมนูญไทย รัฐธรรมนูญสากล  อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของรัฐธรรมนูญไทย

 

รัฐธรรมนูญคืออะไร ?

พรสันต์ : เมื่อถามว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร  เวลาเราทำความเข้าใจ โดยชื่อมาจากคำว่า “รัฐ” กับ คำว่า “ธรรมนูญ”  คำว่ารัฐแปลว่าประเทศ ส่วนธรรมนูญแปลว่ากฎหมาย รัฐธรรมนูญคือกฎหมายที่พูดเกี่ยวกับประเทศประเทศหนึ่ง ว่าประเทศนี้มีรูแบบอย่างไร ระบอบการปกครองอย่างไร ใครเป็นผู้นำประเทศ อย่างประเทศไทย กำหนดให้ผู้นำเป็นพระมหากษัตริย์ เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย เรื่องเหล่านี้จถูกเขียนเอาไว้ โดยเฉพาะประชาชนจะเขียนว่ามีสิทธิเสรีภาพมากน้อยขนาดไหน รัฐจะพิทักษ์รักษาอย่างไร   หากมองภาพใหญ่ เราจะเห็นว่าเป็นกฎหมายที่วางโครงสร้างประเทศ ถึงเรียกเป็นกฎหมายแม่บทของประเทศ

ประเทศไม่มีรัฐธรรมนูญได้หรือไม่?

พรสันต์ :  คำตอบคือไม่ได้  ในโลกนี้เราจัดแบ่งรัฐธรรมนูญเป็นสองประเภท 1.รวมในกฎหมายฉบับเดียว และ 2กฎเกณฑ์การเมืองการปกครองที่ไม่ได้รวบรวมในกฎหมายฉบับเดียว แต่กระจายไปตามฉบับต่างๆ เช่นที่อังกฤษ  ต่อให้ประเทศนั้นๆไม่ได้มีกฎหมายฉบับเดียวแต่ก็มีกฎหมายพื้นฐานที่จัดวางโครงสร้างการปกครอง

 

การเกิดของรัฐธรรมนูญประเทศไทย  เกิดด้วยหลักคิดเดียวกันหรือไม่?

ในทางสากล  การเกิดรัฐธรรมนูญเพราะก่อนหน้านี้อำนาจการปกครองถูกรวมศูนย์ที่คนเพียงคนเดียวสมัยก่อนคือพระมหากษัตริย์  แต่เมื่อรวมศูนย์ก็มีการใช้อำนาจโดยเบ็ดเสร็จ ตามอำเภอใจและไม่ได้ถูกตรวจสอบจนกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงมีการเรียกร้องร้องการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนอำนาจการปกครองมาเป็นของประชาชน เมื่ออำนาจมาอยู่กับประชาชน ประชาชนจึงต้องคิดกฎเกณฑ์ร่วมกัน

“รัฐธรรมนูญถูกสร้างมาบนพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตยเสียก่อน จากนั้นจึงถูกสร้างเป็นสัญญาประชาคม จึงมีลักษณะที่ประชาชนมาออกแบบ ว่าเราจะให้ใครปกครองแทน จากนั้นก็วางโครงสร้างว่าเมื่อรัฐเข้ามาปกครองต้องรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน และจากเดิมที่อำนาจอยู่ที่คนเดียว อำนาจเบ็ดเสร็จไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล  ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงควบคุมการใช้อำนาจของภาครัฐไม่ให้สามารถใช้ตามอำเภอใจรัฐธรรมนูญในทางสากลเกิดมาบนพื้นฐานของสามแนวคิด 1.แนวคิดด้านประชาธิปไตย 2.แนวคิดสัญญาประชาคม และ 3. แนวคิดว่าด้วยการควบคุมกำกับอำนาจรัฐ”

ขณะที่ของประเทศไทย เป็นที่รู้กันว่าเรามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิ.ย. 2475 รัฐธรรมนูญฉบับแรกก็เขียนในมาตรา 1 ว่า ให้อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลายเป็นความพยายามให้รัฐธรรมนูญฉบับแรกสอดคล้องกับการสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่หากไปสังเกตดีๆจะพบว่า ระบอบประชาธิปไตยในไทยล้มลุกคลุกคลาน ไม่สามารถลงหลักปักฐานได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากที่ไทยมีรัฐรรมนูญใช้หลายฉบับสะท้อนความไม่มีเสถียรภาพของการปกครอง หรือแม้แต่ฉบับปัจจุบันที่ชี้ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถที่จะลงหลักปักฐาน มีหลายเนื้อหาที่ไม่ได้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยด้วยซ้ำไป  เมื่อไม่สามารถลงหลักปักฐาน รัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถสร้างกติการ่วมกันได้

“อีกมุมหนึ่งคือลักษณะของรัฐธรรมนูญไทย คือไม่มีลักษณะความเป็นสัญญาประชาคมเมื่อมีการทำรัฐประหารแล้ว  ฉีกรัฐธรรมนูญก็ และร่างรัฐธรรมนูญเพื่อรักษาและคงอำนาจของตัวเอง เมื่อไม่เป็นสัญญาประชาคม  ก็สะท้อนว่าไม่ได้ร่างเพื่อกำกับควบคุมอำนาจของรัฐ และไม่มีใครกำกับอำนาจของตัวเอง หากของไทยไม่ตั้งต้นด้วยประชาธิปไตยมันก็จะมีผลกระทบต่อสถานะของรัฐธรรมนูญและวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญในหลักสากล”

รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับของไทยที่น่าสนใจ?

พรสันต์ : เวลาที่เราจะมาวิเคราะห์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับไหนสมบูรณ์แบบ ดีหรือไม่ดีอาจพูดลำบาก หากพูดความเป็นจริงไม่มีฉบับใดดีไปเสียทั้งหมด ฉบับแรกพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475ต่อให้เนื้อหาสาระอาจไม่ชัดเจน แต่อย่างน้อย ฉบับแรกเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการพยายามก่อตั้งระบอบบประชาธิปไตย หรือนอกจากนั้นในมาตรา 8  เราก็เห็นว่า ดร.ปรีดี พนมยงค์  พยายามวางกลไกความเป็นประชาธิปไตย นั้นคือเมื่อ ส.ส. ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนออกกฎหมายและกษัตริย์ไม่เห็นพ้องด้วย  ก็จะย้อนกลับมาที่สภา หากสภายืนยันก็ให้กฎหมายนั้นผ่านบังคับใช้เป็นกฎหมาย นี่เป็นโมเดลของหลักการสากล และหลักการนี้ก็เป็นต้นแบบจนถึงฉบับปัจจุบัน หากถามถึงจุดบกพร่องก็อาจจะคลุมเครือเรื่องการออกแบบสถาบันการเมือง แต่ท่านก็พยายามวางรากฐานให้

อีกฉบับที่น่าสนใจคือรัฐธรรมนูญ  2489   เป็นรัฐธรรมนูญที่มีแนวคิดก้าวหน้ามีความเป็นประชาธิปไตยสูง เริ่มมีการวางระบบของรัฐสภาที่เป็นสภาแบบคู่ ที่มี ส.ส. และพฤฒิสภา ที่กลายมาเป็นวุฒิสภาในปัจจุบันแ ละกำหนดให้ทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้ง เป็นคอนเซปท์ที่ก้าวหน้ามากๆ และมีการอนุญาตให้รวมตัวเป็นพรรคการเมืองได้ นอกจากนั้น เรื่องโครงสร้างการเมืองการปกครอง เรื่องสิทธิเสรีภาพก็น่าสนใจ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการอนุญาตและคุ้มครองการชุมนุมในที่สาธารณะ หรือนอกจากนั้นยังมีการรับรองสิทธิของประชาชนในการยื่นคำร้องทุกข์กับรัฐ ซึ่งเป็นการตรวจสอบภาครัฐ หากรัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจ  อีกกรณีที่สำคัญคือการห้ามมิให้รัฐสภาตรากฎหมายที่ลงโทษทางอาญาย้อนหลังกับประชาชน ซึ่งเป็นการวางหลักนิติรัฐนิติธรรมกับประชาชน  เป็นคอนเซปท์ที่ก้าวหน้ามากๆ

อีกฉบับที่น่าสนใจ และย้อนไปไม่นานคือรัฐธรรมนูญ 2540 มีข้อดีคือหากเราสังเกตส่วนใหญ่ไม่ได้ร่างบนบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญโดยมากผลิตหลังการทำรัฐประหารและยกร่างโดยคนทำรัฐประหา รแต่ฉบับปี 2540 เป็นการเริ่มต้นของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง มีการตั้ง ส.ส.ร.  ในแง่ที่มาใกล้เคียงกับการเป็นสัญญาประชาคมมากที่สุด เพราะการเลือก ส.ส.ร. จะเลือกจากหลายๆกลุ่มคน เป็นโมเดลที่น่าสนใจ  ด้านเนื้อหาตอนนั้นเองที่คนยกร่างเสนอแนวความคิดเรื่องการปฏิรูปการเมือง  มีการเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองอย่างมาก เราเห็นองค์กรต่างๆที่ไม่เคยมีเช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง องค์กรอิสระ  และหลังจากตั้งหน่วยงานนั้นๆก็ฟังค์ชั่นได้ดีพอสมควร แต่จากนั้นอาจจะมีผลทางการเมืองที่ทำให้ฟังก์ชั่นไม่ดีพอสมควร และปัจจุบันก็ได้รับอิทธิพลมา  หรือแม้กระทั่งสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองมาเรื่อยๆ

และมีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่ขัดกับหลักการบ้าง?

พรสันต์ :  จริงๆแล้วธรรมนูญการปกครองชั่วคราวหลายๆฉบับในเชิงหลักการไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ดี เพราะถูกร่างมาอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และฉบับเหล่านี้เป็นการมอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้ผู้นำ ณ ขณะนั้นๆ  ฉบับชั่วคราวเกือบทุกฉบับไม่ค่อยจะเป็นไปตามหลักการสากล

ส่วนฉบับถาวร เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ 2550 จนถึงปัจจุบัน  ฉบับ 2550 เริ่มลดทอนบทบาทขององค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง   เริ่มจะก่อร่างสร้างอำนาจให้องค์กรที่ไม่มาจากเลือกตั้งให้มีอำนาจ  และยังไม่พูดถึงฉบับ 2560 ที่เป็นการร่างแบบ พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน เป็นการย้อนไปก่อนปี 2534 ด้วยซ้ำไป หากจำได้ฉบับปี 2560 เอาโมเดลของปี 2521 มาใช้   

อนาคตของรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นอย่างไร ?

พรสันต์ :  “ผมเคยให้ความเห้นว่า จะมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ รัฐธรมนูญฉบับน้าจะมาอายุการบังคับใช้ไม่นาน ไม่เกิน 3 ปี พิจารณาและวิเคราะห์จากหลักการ อาจจะบวกลบ ขึ้นกับปัจจัยทางการเมือง”

คำถามคือทำไม  อย่างแรก มีปัญหาเรื่องที่มาแน่นอน  รัฐธรรมนูญหากไม่มีลักษณะเป็นสัญญาประชาคมจะมีปัญหาความไม่ศักดิ์สิทธิ์ และถูกฉีกอยู่เสมอส่วนที่มีการแย้งว่าผ่านประชามติต้องบอกว่า ประชามติ 2560 ไม่ได้เป็นประชามติที่เป็นหลักการสากล เพราะมีบรรยากาศที่ไม่เอื้อกับการลงประชามติแบบฟรีแอนด์แฟร์   สัญญาประชาคมคือการให้คนทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วม  ที่ผ่านมาคนยกร่างไปมองว่าการมีส่วนร่วมคือการเปิดรับฟังขณะยกร่าง หรือการทำประชามติ  เขามองแค่หากผ่านสองส่วนนี้ถือว่าประชาชนมีส่วนร่วมแล้ว แต่คำตอบคือไม่ใช่ เพราะการมีส่วนร่วมประชาชต้องมีส่วนตั้งแต่ขั้นแรก ตั้งแต่ขั้นยกร่าง ประชาชนไม่ได้หมายถึงทุกคนเข้าไปมีส่วนร่วมได้เลย แต่ต้องมีจุดยึดโยงเช่นเลือกตัวแทนของเขาเข้าไปช่วย   

การมีส่วนร่วม ต้องประกอบด้วย 1. การเลือกผู้ยกร่าง 2.ขณะยกร่าง และ 3.ก่อนที่จะมีการประกาศใช้ ทั้งสามส่วนประชาชนต้องไปมีส่วน แต่ที่ผ่านมาเราจะมีแค่สองส่วน แต่ส่วนแรกไม่มี

“ทำไมผมต้องเน้นเรื่องสัญญาประชาคม เพราะมันสร้างลักษณะการเป็นเจ้าของ มีการสร้างความหวงแหนกับกฎเกณฑ์กติกาที่จะบังคับใช้กับสังคมของเขาเอง  อย่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีการวิพากษ์รัฐธรรมนูญ  คนที่ปกป้องคือคนยกร่าง เพราะเขามีความรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมา แต่เป็นเจ้าของของคนกลุ่มเดียว แต่หากเป็นการสร้างสัญญาประชาคม สังคมจะมีความหวงแหนรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกว่า Sense of belonging และจะส่งผลให้รัฐธรรมนูญมีความศักิด์สิทธิ ใครจะเข้ามาฉีก มาบิดเบือนจะมีปฏิกริยาการต่อต้าน”

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายมีลักษณะพิเศษ หากเป็นกฎหมายอื่นหากเราไม่ทำจะมีเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่รัฐธรรมนูญไม่มี ถ้าไม่ทำคือไม่ทำ   รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายทีต้องบังคับใช้โดยตัวเอง และใครจะยอมปฏิบัติตามหากมีคนร่างให้ตัวเองได้ประโยชน์อย่างเดียว และทำให้กลุ่มอื่นไม่ได้รับประโยชน์  เขาก็ย่อมปฏิเสธเพราะไม่ใช่กติกาของเขา การบังคับใช้ด้วยตัวเองจึงไม่เกิด รัธฐรรมนูญ 2560 จึงเป็นเช่นนี้

หากเราวิเคราะห์เนื้อหา ก็มีปัญหาอย่างมาก มีการร่างกติกาที่ไม่สอดคล้องความเป็นจริง ที่บอกว่ามีการนำโมเดล รธน. 2521 มาเป็นต้นร่าง

“คุณกำลังถอยเวลาหาอดีต เอากติกาปี 2521 มาสวมทับสังคมปี 2561 หรือ 2560  ย้อนไปประมาณ 40 ปี หากเราอ่านอารัมภบท นี่คือความเชื่อคนยกร่าง ว่ามีปัญหาเพราะรธน. สร้างประชาธิปไตยที่ไม่เหมาะสมกับสังคมไทย ดังนั้นต้องสร้างประชาธิปไตยที่เหมาะสม เขาจึงวิ่งกลับไปหารัฐธรรมนูญ 2521   ที่เขามองว่าคือประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับกับไทย  ส่วนฉบับ 2540 คือการเอาแบบฝรั่งมาใช้ หากถามผม  ผมมองไม่สอดไม่สอดคล้องด้วย เพราะสังคม ปี 2521 กับ 2560 ไม่เหมือนกันแน่นอน  ตอนนั้นไม่ใช่สังคมเปิด ตอนนี้เป็นสังคมเปิดมีการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก ในเชิงสถิติระบุว่าไทยติดอันดับ 8 ของโลก มีการใช้ 74% มากกว่าอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย สะท้อนการไหลเวียนของสังคมข่าวสาร  ไม่มีทางที่คุณจะเอากติกาเมื่อ 40 ปีที่แล้วมาสวมทับสังคมปัจจุบันได้”   

ประการที่สอง ที่เป็นการตอกย้ำและมีปัญหา เนื่องจากเนื้อหาย้อนเวลา ผู้ร่างเองไปร่างบทบัญญญัติแก้ไข ที่ไปล็อกไม่ให้แก้ไข  อาจจะเป็นความตั้งใจหรือไม่ของผู้ยกร่าง ทีต้องการให้แก้ไขยากๆ ทำให้นึกถึงข้อถกเถียงในสมัยก่อนที่บอกว่ารัฐธรรมนูญดีต้องแก้ยากๆ แต่แนวคิดแบบนี้ค่อนข้างโบราณ อาจะมีอิทธิพลมาจากรัฐธรรมนูญอเมริกา แต่เขามีบริบทเฉพาะ และเขาแก้ยากแต่ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่วิพากษ์วิจารณ์  เขาแก้ยากเพราะไปเชื่อมโยงกับรูปแบบสหพันธรัฐ  การพูดเช่นนี้เป็นการพูดแบบไม่ดูบริบท 

ในทางหลักการรัฐธรรมนูญที่ดีคือสามารถปรับตัว ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่แข็งกระด้าง แต่ต้องพัฒนาได้ตามสังคมที่เปลี่ยน เวลาเราพูดถึงการยกร่าง เรามักพูดเรื่องการวางโครงสร้าง แต่ไม่พูดถึงการแก้ที่เป็นปัญหาสำคัญ    เมื่อเข้าไปเขียนแบบนั้นยิ่งทำให้มีปัญหากับแง่บังคับใช้และทำให้ล้มไป ใช้ไม่ได้จริง 

นอกจากเนื้อหาที่ไม่สอดคล้อง ยังมีเนื้อหาที่น่าจะเป็นปัญหาคือการถูกตั้งคำถาม หลังจากประกาศใช้แล้ว ทำไมเราเห็นการใช้อำนาจของ ม.44 อยู่  เมื่อมีการประกาศใช้ ทำไม ม.44 ยังอยู่ เพราะผู้ยกร่างไปแทรกไว้ในบทเฉพาะกาล จากสถิติเมื่อมีการประกาศใช้ ยังมีการใช้อำนาจตาม ม.44 อยู่ 43 ครั้ง มีการตั้งความเคลือบแคลงว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญถาวรทำไมลักษณะอำนาจพิเศษยังคงอยู่   ลักณะแบบนี้สร้างความรู้สึกการต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อเกิดการตั้งคำถามว่าการใช้อำนาจตรวจสอบไม่ได้สังคมจะปลอดภัยได้อย่างไร

“เจตนารมณ์ของรธน. คือการกำกับการใช้อำนาจรัฐ แต่การใช้กลับเอื้อกับอำนาจเบ็ดเสร็จ  แบบนี้เรียกว่ารัฐธรรมนูญทีเอื้อต่อการใช้อำนาจตามอำเภอใจ เมื่อเป็นแบบนี้จึงมีปัญหาการบับคับใช้ คนหลายภาคส่วนจะต่อต้าน”

เนื้อหาประการต่อไปที่อาจจะเกิดความสุ่มเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆคือเมื่อมีความพยายามตรวจสอบการใช้อำนาจ องค์กรที่เข้ามารับหน้าที่คือศาล หรือองค์กรอิสระ เราก็เห็นเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่า ที่เขียนในอารัมภบทว่าการเมืองมีปัญหาเนื่องจากศาลและองค์กรอิสระไม่มีประสิทธิภาพการจัดการปัญหาทางการเมือง  การเขียนบอกว่าต้องปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สะท้อนว่าเขามอบอำนาจให้มีมากขึ้นและมีบทบาทมากขึ้น  ดังนั้นเมื่อมีความสงสัย เรื่องการใช้อำนาจ อย่างนี้เป็นการโยนเผือกร้อนให้ศาล  

ที่ผ่านมาเราเห็นปรากฏการณ์แบบนี้มากขึ้นเช่นเรื่องการตรวจสอบเรื่องนากฬิกาและเริ่มเกิดการไม่ยอมรับ นี่ไม่ได้เกินความคาดหมาย เพราะมันถูกดีไซน์ให้เป็นแบบนั้น หากมีการบังคับใช้แบบเต็มรูปแบบ คดีแบบจะมีมากมายแน่นอน และก่อให้เกิดความขัดแย้งแน่นอน  และก่อนหน้านี้เคยปรากฏเหตุเช่นนี้มาก่อน และตนเคยใช้คำว่าวิกฤตองค์กรรัฐธรรมนูญ เพราะมันขัดแย้งจนทำงานไม่ได้ในเชิงระบบ   สิ่งเช่นนี้สุ่มเสี่ยงจะเกิดในรัฐธรรมนูญ 2560  ส่วนหนึ่งอาจเป็นความเข้าใจของผู้ยกร่างว่าเอากฎหมายไปจัดการเรื่องทางการเมืองได้ในทุกกรณี  แต่ทางการเมืองมีพรมแดนเรื่องกฎหมายและเรืองการเมือง บางครั้งเราไม่อาจเอากฎหมายไปตรวจสอบเรื่องการใช้อำนาจทางการเมืองได้ แต่ที่ผ่านมาคุณเอาศาลพยายามเข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจทางการเมืองทำให้เกิดความขัดแย้ง

เรื่องการยกร่างหมวดสิธิเสรีภาพ ถือเป็นการร่างที่แปลกประหลาด เป็นมาตราที่พูดเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ เป็นการเสนอแบบก้าวหน้าเพราะเขียนว่าอะไรที่ไม่บัญญัติให้การรับรองเหมือนกัน  แต่คนยกร่างมีประโยคถัดมาว่า  “ทั้งนี้ถ้ากฎหมายไม่ได้ห้ามหรือจำกัด”  ทำให้สิ่งที่คุณยกร่างมาก่อน มันไม่มีคุณค่าเลย เพราะไปเขียนเช่นนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้รัฐสามารถเข้าไปจำกัดสิทธิได้

อยากให้รัฐธรรมนูญเป็นฉบับ “ถาวร”  ต้องทำอย่างไร?

สร้างสัญญาประชาคม สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม อย่างน้อยโมเดลฉบับปี 2540 ก็น่าสนใจให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ต้องสร้างสัญญาประชาคมขึ้นมา แต่ต้องศรัทธาในประชาธิปไตยด้วย ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ แต่ต้องเป็นแบบสากล ผมไม่ได้ปฏิเสธอัตตลักษณ์ของไทย  แต่หากจะสร้าง  แก่นของระบอบประชาธิปไตยต้องคงไว้ เช่นการเคารพสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แทนที่จะร่างไม่ให้แก้ทั้งฉบับคุณควรเขียนเพื่อพิทักษ์สิ่งเหล่านี้ไม่ให้แก้  ไม่ใช่การห้ามปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองที่ยังไม่มั่นคง  ถ้าจะล็อกต้องไปล็อกไม่ให้แก้ลักษณะความเป็นประชาธิปไตย จากนั้นจึงจะเป็นการสร้างกฎเกณฑ์ที่เป็นสัญญาประชาคม

/////

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ