“หนูล้นเมือง 6.2 ล้านตัว” มากกว่าคนกรุงเทพฯ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




“หนู” ถือว่าเป็นสัตว์ที่แม้จะตัวเล็กจิ๋วแต่กลับสร้างปัญหาหลายด้านให้กับคน เช่น สุขอนามัย แหล่งบ่มเพาะเชื้อโรค ความเสียหายจากการกัดแทะทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า แต่ถ้าไปดูต้นตอปัญหาจริงๆ การที่หนูเพิ่มจำนวนจนล้นพื้นที่กรุงเทพมหานครกลับมีสาเหตุมาจาก “คน”

“การพยายามฆ่ามันคือปลายเหตุ ไม่ว่าจะใช้แมว งู หรือใช้อาหารล่อฆ่า ต้นเหตุจริงๆ คือแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารมากกว่า เช่น ขยะเศษอาหารต่างๆ จัดการตรงนั้นก่อน เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ”

รศ.ดร.เจษฏา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดบทสนทนากับทีมนิวมีเดีย พีพีทีวี ก็เลยต้องถามต่อเลยว่า

“แมวสมัยนี้ไม่จับหนูแล้วเหรอ”

รศ.ดร.เจษฏา บอกว่า เป็นภาพจำว่าแมวต้องกินหนู ไล่จับหนู แต่แท้จริงแมวเป็นสัตว์เลี้ยง แมวจำนวนมากที่อยู่ในบ้านคนจะคุ้นเคยกับการถูกเลี้ยงด้วยอาหารเม็ด หรืออาหารทั่วๆไป ก็อาจไม่คุ้นชินกับการไล่จับหนู แต่ถ้าเทียบกับเป็นแมวจรจัดก็อาจชำนาญกว่าเพราะแมวมีพฤติกรรมที่อยากจะเล่นกับหนู จิ้งจก แมลงสาบ แต่การเล่นนั้นไม่ใช่สถานการณ์ที่จะไล่ล่าให้หมด

นอกจากแมวแล้วการกำจัดหนูในกรุงเทพมหานครยังมี “งู” ด้วย

ซึ่งการที่ปริมาณหนูเพิ่มขึ้นก็ทำให้งูเพิ่มขึ้นด้วยโดยเฉพาะงูเหลือม โดยข้อมูลจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า งูเหลือมจะตามกลิ่นหนูมาอยู่ตามบ้านเรือนและทุกที่ที่มีหนูอยู่ที่ไหนมีหนูมากที่นั่นก็มีงูมากเช่นกัน เหมือนกับว่า งูในสมัยนี้มาทำหน้าที่กำจัดหนูแทนแมว

แต่...เมื่อประชาชนเจองูเหลือมก็แจ้งเจ้าหน้าที่มาจับ ซึ่งช่วงประมาณ 1 ปี กับ 4 เดือนที่ผ่านมา มีการแจ้งจับงูชนิดต่างๆ ประมาณ 5,542 ตัว โดยปริมาณเท่านี้จะสามารถกินหนูได้ราว 6 แสนตัวต่อปี ดังนั้นเมื่องูถูกจับออกไป ศัตรูของหนูลดลง ขณะที่ปริมาณอาหารของคนซึ่งเป็นอาหารของหนูไม่ได้ลดลงและอาจจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย”

ด้าน รศ.ดร.เจษฏา บอกว่า ปริมาณของงูในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีค่อนข้างเยอะและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะปริมาณของหนูที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นอาหารหลักของงูแต่จำนวนก็ยังน้อยมากเมื่อเทียบจำนวนที่จะไปกินหนู เนื่องจากหนูเป็นสัตว์ที่มีอัตราการเกิดเร็วมากเมื่อเทียบกับอัตราการเกิดของงู ดังนั้นคงไม่ใช้แนวทางในการแก้ปัญหาที่จะให้งูมาจับหนู

ทีมข่าวนิวมีเดีย พีพีทีวี เลยเข้าประเด็นที่ต้นตอของปัญหา “หนูล้นเมือง” จริงๆ คือมาจาก “คน”

เพราะการที่หนูมีปริมาณเพิ่มขึ้นก็เป็นไปตามระบบนิเวศคือมีอาหารที่สมบูรณ์ซึ่งอาหารนั้นก็เกิดจากพฤติกรรมการกินทิ้งขว้างของคน

นายศุภากร ปทุมรัตนาธาร รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เคยกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า พฤติกรรมของคนกรุงเทพทุกวันนี้จะซื้อกับข้าวถุงจากตลาดมารับประทานเมื่ออาหารเหลือทิ้งไว้ในถังขยะก็จะมีหนูบ้านเข้ามาหาของกินในถังขยะนั้น ซึ่งพื้นที่แหล่งอาหารของหนูในถังขยะประกอบกับการจัดการขยะที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ทำให้อาหารของหนูอุดมสมบูรณ์มาก

จึง ถาม รศ.ดร.เจษฏา ถึงการการจัดการกับหนูในเมืองอย่างถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์โดยใช้พฤติกรรมหนูเป็นหลักว่าจะต้องทำอย่างไร ก็ได้คำตอบว่า การกำจัดจำนวนประชากรของวิธีการที่ดีที่สุดและได้ผล 60-70% คือการจัดการพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาหารของมัน เช่น กองขยะ แหล่งทิ้งเศษอาหาร ซึ่งวิธีนี้ดีกว่าการใช้กรงล่อหรือกรงดักเพราะถ้าใช้กรงดักแล้วไม่กล้าฆ่ามันก็จะไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่

รวมถึงการใช้เหยื่อล่อที่เป็นสารเคมีเพราะจะทำให้หนูตายกลายเป็นซากเน่าและเป็นแหล่งเพาะพันธ์ุโรค ส่วนวิธีที่นิยมแต่ก็ไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ คือการเอาหนูไปปล่อย เพราะหากไปปปล่อยในพื้นที่ไม่ไกลจากที่เดิมหนูจะจำบ้านตัวเองและกลับมาได้ แต่ถ้าปล่อยพื้นที่ไกลๆ ก็จะไปแพร่พันธุ์และสร้างปัญหาให้ที่อื่น

“ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดของหนูคือการลดพื้นที่อยู่อาศัย แล้วก็พื้นที่อาหารของมัน ตรงไหนที่มีพื้นที่ที่คิดว่าทิ้งเศษอาหาร ก็ต้องลดตรงนั้น จัดการตรงนั้นก่อน เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ”

แล้วการแก้ปัญหาในองค์รวมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ที่เป็นแหล่งชุมชน พื้นที่สาธารณะ ตลาดสด ควรเป็นไปในรูปแบบใด

รศ.ดร.เจษฏา  บอกว่า อยากให้มองเรื่องการจัดการหนูไม่ต่างจากการจัดการยุงลาย ชุมชนต้องช่วยกันทั้งชุมชน ไม่ใช่บ้านใดบ้านหนึ่ง มีจุดใดที่เป็นที่อยู่อาศัยของหนูได้ ให้ทำลายตรงนั้นก่อน ลดตรงนั้นก่อนแล้วพื้นที่ต่างๆ จะดีขึ้นหรือหากเป็นตลาดสดต้องมีการจัดการเศษขยะ แยกขยะ มีพื้นที่เก็บมิดชิด ไม่ใช่กองรวมกันไว้

ทีมข่าวนิวมีเดีย พีพีทีวี จึงต่อสายตรงสอบถาม นายแพทย์ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง บอกถึงการแก้ปัญหาหนูในเมืองได้รับคำตอบว่า  การแก้ปัญหาจากต้นเหตุคือการกำจัดเศษอาหารจากบ้านเรือนประชาชน และแหล่งกักเก็บอาหารเพื่อไม่ให้มีเศษอาหารเหลือทิ้ง รวมถึงการทำความสะอาดบริเวณที่หมักหมมที่ก่อให้เกิดรังของหนูส่วนในพื้นที่ที่เป็นตลาดสด ได้รณรงค์ให้มีการ Big Cleaning ทุกวันก่อนปิดตลาด ทั้งพื้นที่ส่วนลกลางและแผงค้าของแต่ละร้าน  ไปจนถึงการแยกขยะ เช่น ขยะเปียกขยะแห้ง

จากงานวิจัยเรื่องประชากรหนูในกรุงเทพฯ ปี พ.ศ 2559 และการสอบถามเจ้าหน้าที่และนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ คำนวณตามพื้นที่ที่คาดว่าจะมีหนูอาศัย 1 ตัว ต่อพื้นที่ 250 ตร.ม. ดังนั้น พื้นที่ กทม.1,569 ตารางกิโลเมตร จะมีหนู ประมาณ 6,276,000 ตัว ขณะที่หนู 1 ตัว ออกลูกปีละ 4-8 ครอก ครอกละ 8-12ตัว โดยใช้เวลาผสมพันธุ์และตั้งท้องเพียง 25 วัน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าประชากรหนูอาจจะเพิ่มขึ้นได้หากไม่มีการจัดการอย่างถูกต้อง ซึ่งหนูที่พบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น หนูสีน้ำตาลหรือหนูนอร์เวย์ หรือ หนูขยะ หนูท่อ ชอบอยู่ตามรู ท่อน้ำ ใต้ถุนตึก บ้านเรือน กองขยะมูลฝอย ออกลูกปีละ 4-7 ครอก ลูกครอกหนึ่งมีจำนวน 8-12 ตัว

หนูท้องขาว หรือ หนูหลังคา ชอบอยู่ในบ้าน ต้นไม้ ปีนป่ายเก่ง กินอาหารได้ทุกชนิด ออกลูกปีละ 4-6 ครอก ครอกหนึ่งมี 6-8 ตัว

หนูจี๊ด ชอบอยู่ในบ้าน และ หนูหริ่งหรือหนูผี ชอบซ่อนตามตู้ โต๊ะ ที่เก็บของ ออกลูกปีละ 8 ครอก ครอกหนึ่งมี 5-6 ตัว

นอกจากนี้ หนูยังเป็นพาหะนำโรคมาสู่คนหลายชนิด เช่น  โรคฉี่หนู ไข้รากสาดหนู กาฬโรค แม้กระทั่งโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งเมื่อไปกัดสุนัขหรือแมวก็ทำติดเชื้อตามมา

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ