“Space AC” โรงเรียนแรกในไทยที่การศึกษาไปไกลถึงนอกโลก
พลิกโฉมการศึกษา “อัสสัมชัญ” โรงเรียนแรกในไทย ที่การศึกษาไปไกลกว่านอกห้องเรียน เพราะไปไกลถึงนอกโลก
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนคงเห็นข่าวคราวเกี่ยวกับแวดวงการศึกษาอวกาศและจักรวาลอยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งการค้นพบต่าง ๆ มักมาจากหน่วยงานหรือองค์การระดับโลก เช่นเดียวกับนักบินอวกาศหรือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจนอกโลกก็เป็นชาวต่างชาติกันทั้งนั้น
ว่ากันว่า “นักบินอวกาศ” กับ “ประเทศไทย” เป็นคำที่เหมือนอยู่ห่างไกลกันคนละมิติจักรวาล เพราะด้วยโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการศึกษา งบประมาณการสนับสนุนต่าง ๆ ที่ทำให้ความฝันการเป็นนักบินอวกาศของเด็กไทยเป็นเรื่องที่ดูยากเย็นเหลือเกิน
พบดาวเคราะห์น้อย “ผู้พิฆาตดาวเคราะห์” เสี่ยงเป็นภัยต่อโลก
“เป็นกำลังใจให้ชาวโลก” นาซาจับภาพ “ดวงอาทิตย์กำลังยิ้ม”
“กาแล็กซีชนกัน” ภาพสุดยอดหาชมยากจาก “เจมส์ เว็บบ์”
เรามักพูดกันว่า การศึกษานอกห้องเรียนเป็นหนึ่งในวิธีการพัฒนาศักยภาพให้ได้รับประสบการณ์ ได้เห็นของจริงในเรื่องที่ต้องการศึกษา แต่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง การศึกษาได้ไปไกลกว่านอกห้องเรียน เพราะไปไกลถึงนอกโลกแล้ว เพื่อเติมเต็มความฝันที่เหมือนเป็นไปไม่ได้ของเด็กไทย ให้เป็นไปได้ขึ้นมา
เมื่อปี 2018 “โรงเรียนอัสสัมชัญ” ได้ก่อตั้งชมรม “Space AC” ขึ้นมา เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเทคโนโลยีการบินและอวกาศ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ศึกษาในสิ่งที่ชอบโดยไม่ถูกจำกัดไว้ในกรอบของหลักสูตรการเรียนพื้นฐาน
ในช่วงแรก Space AC เป็นเพียงแค่ชมรมธรรมดา ๆ เท่านั้น แต่เมื่อสมาชิกเริ่มประสบความสำเร็จในการแข่งขันพัฒนาดาวเทียมจิ๋วในเวทีระดับโลก ประกอบกับความทุ่มเทที่เปี่ยมไปด้วยใจรักของเด็ก ๆ ที่หลายคนอยู่ทำงานกันจนดึกดื่น ทำให้ผู้บริหารโรงเรียนมองเห็นและต้องการผลักดันนักเรียนให้ไปไกลขึ้น จึงยกระดับจากชมรมให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการบินและอวกาศ”
สุวิจักขณ์ ปิยะนพโรจน์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สมาชิกศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการบินและอวกาศโรงเรียนอัสสัมชัญ กล่าวว่า อาชีพในฝันของเด็กไทยมีหลากหลายมาก ๆ แต่เห็นด้วยว่า อาชีพ “นักบินอวกาศ” เป็นอาชีพที่คนไทยมักไม่ค่อยพูดถึง
“ในสังคมไทยแทบจะไม่มีการพูดถึงอาชีพนี้เลย สำหรับผมเองที่เป็นเด็กมัธยมที่ชื่นชอบเทคโนโลยีการบินและอวกาศ คิดว่าอาชีพนักบินอวกาศ เป็นอาชีพที่ใช้องค์ความรู้ทางด้านวิชาการไม่มากไม่น้อยไปกว่าอาชีพแพทย์ หรือวิศวกรเลย แต่ทำไมอาชีพนักบินอวกาศถึงเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงในประเทศไทย อาจจะเพราะมันดูไกลตัวไปรึเปล่า อาจจะเป็นเพราะดูเข้าไม่ถึง” สุวิจักขณ์กล่าว
เขาเสริมว่า “ผมทราบมาว่าหลาย ๆ โรงเรียนในขณะนี้มีความตื่นตัวในเรื่องเทคโนโลยีการบินและอวกาศมาก ๆ นักเรียนจากหลายโรงเรียนมีความตื่นตัว มีศักยภาพมากพอที่จะทำการศึกษาวิจัย แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาขาดคือโอกาสและการสนับสนุน”
เจ้าตัวบอกว่า รู้สึกโชคดีมาก ที่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีทั้งโอกาสและการสนับสนุน “ทำไมอาชีพนักบินอวกาศถึงเป็นอาชีพที่เราไม่ค่อยได้พูดถึงกันในสังคมไทย เพราะเราขาดการสนับสนุนครับ ปัจจัยหลักที่ทำให้งานแต่ละอย่างทุกอย่างมันสำเร็จ ก็ต้องมีการสนับสนุน”
ด้าน พชร ภูมิประเทศ ครูที่ปรึกษาศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการบินและอวกาศโรงเรียนอัสสัมชัญ กล่าวว่า “เทคโนโลยีกับทุนมันเป็นของคู่กัน แต่ต้องอธิบายก่อนว่า ชมรมเราตอนแรกก็ไม่มีการสนับสนุนเหมือนกัน มันไม่มีใครที่เกิดมาเพียบพร้อมทั้งหมด เราก็พยายามพัฒนา เราต้องหาจุดให้ได้ว่า เราอยากจะพัฒนาเรื่องอะไร เราอยากพัฒนาคนใช่มั้ยครับ ฉะนั้นคนคือส่วนที่สำคัญที่สุด”
เขาเสริมว่า “ส่วนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เราโชคดีที่โรงเรียนอัสสัมชัญมีโครงข่ายที่ใหญ่มาก เพราะฉะนั้นเราสามารถขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นที่มีความเชี่ยวชาญ เช่นทางวิศวะจุฬาฯ หรือสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ได้”
ที่ผ่านมา การศึกษาวิจัยของ Space AC ทำให้โรงเรียนอัสสัมชัญเป็นสถาบันการศึกษาระดับมัธยมเพียงสถาบันเดียวในประเทศไทยที่สร้างจรวดเองทั้งลูก ขณะเดียวกันก็เคยส่งตัวแบบจำลองดาวเทียมขนาดเล็กทรงลูกบาศก์ (CubeSat) ขึ้นไปที่ชั้นบรรยากาศความสูงประมาณ 35-36 กม. เหนือพื้นดินมาแล้วด้วย
เป้าหมายของ Space AC จากนี้ คือการสร้างดาวเทียมจริง ๆ ขึ้นมา เป็นดาวเทียมขนาดเล็กทรงลูกบาศก์ (CubeSat) นเดิม แต่จะส่งไปทดสอบที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) และมุ่งเน้นจัดสร้างดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อสำรวจและศึกษาฝุ่นละอองขนาดเล็ก และการเคลื่อนที่ลมฟ้าอากาศด้วย
ทั้งนี้ สนนราคาของการทำดาวเทียมจริง อยู่ที่ 7 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยถ้าใช้งบประมาณของโรงเรียน ดังนั้นจึงต้องมีความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก เพื่อสนับสนุน “แผนการใหญ่” ครั้งนี้
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พ.ย. สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อยกระดับการศึกษา วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศในระดับโรงเรียนมัธยม เพื่อวางรากฐานและผลักดันเด็กไทยให้มีความเชี่ยวชาญทัดเทียมกับนานาประเทศ
ภราดา ดร.อาวุธ ศิลาเกษ ผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญ กล่าวว่า “ในการเรียนที่นักเรียนได้ทำในศูนย์การเรียนรู้ มันเป็นความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ชั้นสูงที่มากกว่าระดับมัธยมศึกษา ฉะนั้นนี่คือการพัฒนาการศึกษาอย่างแท้จริง รวมถึงเรามองไปในอนาคตว่า นักเรียนเหล่านี้จะเป็นคนที่จะไปพัฒนาประเทศต่อไป”
พชรมองว่า การสนับสนุนนี้มีความสำคัญมาก เพราะการพัฒนาการศึกษาของเด็กไทยในด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศ ถือเป็นการวางรากฐานที่ดี หากไทยมีแผนที่จะศึกษาอวกาศมากขึ้นในอนาคต
“ถ้าตามนโยบายที่ทางการไทยวางไว้ก็อีก 7 ปีเราจะไปดวงจันทร์ใช่มั้ยครับ แต่ถามว่ามีโอกาสที่เราจะไปดวงจันทร์ได้มั้ย ผมว่าเรามี ... แต่ในขณะที่เราจะไปดวงจันทร์ภายใน 7 ปี ฐานของเรามันกลับยังไม่แข็งแรง โครงสร้างในประเทศเรา เด็กบางคนยังไม่เข้าถึงวิทยาศาสตร์เลยด้วยซ้ำ” ครูที่ปรึกษา Space AC กล่าว
เขาเสริมว่า “การที่เราจะพัฒนาเด็กหรือพัฒนาคนที่จะไปทำตรงนี้ได้แปลว่าเราต้องดึงทุกสาขาที่เป็นหัวกะทิออกมา วิศวกรรมอวกาศมันคือการดึงคนที่มีไฟในแต่ละด้านมาทำงานที่มันเป็นที่สุด อวกาศคือสิ่งที่เราไม่รู้ เรามาเรียนรู้ด้วยกัน เอาพื้นฐานมาพัฒนาให้มันสูงขึ้น รัฐก็ควรจะคิดเหมือนกัน เพราะถ้าฐานไม่ดี จะขึ้นไปบนยอด มันก็โคลงเคลง”
ทั้งนี้ พชรเน้นย้ำว่า ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการบินและอวกาศไม่ได้มีเป้าหมายหลักเพื่อการส่งเด็กไปอวกาศ แต่เพื่อเป็นพื้นที่ให้โอกาสอันหาได้ยากในไทยให้กับนักเรียนได้ทำในสิ่งที่รักที่ชอบมากกว่า
เป้าหมายปลายทางของชมรมนี้ ผมคิดว่าเป้าหมายสูงที่สุด ก็คือการได้เห็นเด็ก ๆ ได้ทำในสิ่งเขาชอบ ได้เป็นในสิ่งที่เขารัก และได้ทำความฝันของเขาให้เป็นจริง นั่นน่าจะเป็นเป้าหมายสูงสุดของชมรม แล้วก็เป็นเป้าหมายสูงสุดของโรงเรียนด้วย