สำรวจร้านคาร์ซีทมือสอง พบ แพงสุด 16,000 บาท
อีกประเด็นที่ ผู้ปกครองได้รับผลกระทบ คือ การเตรียมบังคับใช้กฎหมาย ให้เด็กที่อายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่ง ที่นั่งนิรภัย หรือ "คาร์ซีท" ซึ่งคาดว่ากฎหมายจะเริ่มบังคับใช้ 5 ธันวาคม 2565 แน่นอนว่า จากผลวิจัย ยืนยันได้ว่า การให้เด็กเล็กนั่ง คาร์ซีท มีความปลอดภัยมากกว่า แต่สิ่งที่มีการวิจารณ์อย่างหลากหลาย คือ ภาครัฐสนับสนุน-ส่งเสริม-หรือมีแนวทางอะไรช่วยเหลือ ประชาชนให้ทุกครอบครัวสามารถมีคาร์ซีทได้ เพราะต้องยอมรับว่า ไม่ใช่ทุกบ้าน มีเงินเหลือเพียงพอ และ คาร์ซีท ก็ถือว่ามีราคาสูง
ร้านคาร์ซีท ที่ทีมข่าวลงพื้นที่ไปดู จะเห็นว่า คาร์ซีทมีหลายแบบมากทั้งหมดที่เห็นนี้เป็นสินค้ามือสอง จากญี่ปุ่น พีพีทีวี พูดคุยกับ นายรัตพล เรือนแก้ว เจ้าของร้านเขาพาทีมข่าวเดินสำรวจและอธิบาย ลักษณะของคาร์ซีท และ ราคา ของคาร์ซีท แต่ละแบบให้ฟัง
คาร์ซีทตัวที่แพงที่สุดในร้าน คุณรัตพล บอกว่า ราคา 16,000 บาท ต้องย้ำว่าเป็นราคามือสอง ส่วนแบบทั่วไป มีหลายราคาและหลายรูปแบบ
"คาร์ซีท" ดูแลความปลอดภัยลูกยามเดินทาง
รวมเรื่อง 'คาร์ซีท' ควรเลือกแบบไหน? ติดตั้งอย่างไร? ราคาเท่าไร?
แบ่งตามช่วงอายุ ได้ 3 แบบ คือ คาร์ซีทเด็ก ใช้สำหรับเด็กอายุ 0-4 ปี แบบนี้ ราคาต่ำสุด คือ 4,000 บาท แบบที่ 2 คาร์ซีทเด็กโต ใช้สำหรับเด็กอายุ 1-6 ปี จะต้องปรับเอนตัวได้ มีความยาวตามสรีระ ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 3,000 บาท
ส่วนบูตเตอร์ซีท ใช้สำหรับเด็กอายุ 2-12 ปี เป็นแบบสามารถถอดเข็มขัดนิรภัยของคาร์ซีทออกได้ เมื่อเด็กโตขึ้น และสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยของรถยนต์ได้โดยที่ไม่หลวม แบบนี้ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 1,000 -2,000 บาท
นายรัตพล ย้ำว่า คาร์ซีทต้องเลือกที่เหมาะกับสรีระ ช่วงอายุ น้ำหนัก และส่วนสูงของเด็ก ไม่สามารถซื้อตัวเดียวแล้วใช้งานยาวๆได้ เพราะ จะเท่ากับว่า คาร์ซีทไม่ได้มาตรฐาน
นายรัตพล บอกว่า ตั้งแต่มีกระแสข่าวเตรียมบังคับใช้กฎหมายคาร์ซีท ที่ร้านขายดีขึ้นเป็นเท่าตัว ในมุมมองของคนที่พอเจียดเงินสำหรับซื้อคาร์ซีทได้ การเพิ่มความปลอดภัยในบุตรหลาน น่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก แต่ในมุมของคนหาเช้ากินค่ำ คนที่ไม่ได้มีเงินมากพอ มองว่า นี่เป็นรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น แม้จะรู้ดีว่า เพื่อความปลอดภัย แต่สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันบีดรัดจนชักหน้าไม่ถึงหลัง
ประเด็นนี้เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องที่ถูกมองว่า รัฐควรเข้ามาช่วยสนับสนุน ทั้งเรื่องทำความเข้าใจว่า คาร์ซีทสำคัญต่อความปลอดภัยเด็ก และ ช่วยหามาตรการอุดหนุนการซื้อคาร์ซีท
ประเด็นนี้ สอดคล้องกับ การแถลงข่าวของ นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ ย้ำว่า บางคนอาจคิดว่า การอุ้มเด็กไว้บนตัก หรือ คาดเข็มขัดนิรภัย เพียงพอสำหรับการป้องกันเวลาเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่จากผลการศึกษา ยืนยันชัดเจน ว่าไม่เพียงพอ และ ตัวช่วยอย่าง คาร์ซีท จะช่วยไม่ให้เด็กเคลื่อนตัวตามความเร็วรถยนต์ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ
นพ.อดิศักดิ์ มองว่า เมื่อกฎหมายเตรียมจะบังคับใช้ รัฐบาล หน่วยงาน และ ชุมชนต้องเตรียมพร้อม ทั้งให้ความรู้และสร้างทัศนคติประชาชนให้เข้าใจ รวมถึง สนับสนุนการซื้อด โดยอาจออกมาตรการตั๋วคืนเงิน หรือ มาตรการคนละครึ่ง ส่วนสาเหตุที่ คุณหมอมองว่า รัฐต้องสนับสนุนเงินส่วนนี้ เพราะ เงินที่สนับสนุนนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุและเกิดเด็กพิการ รัฐก็ต้องจ่ายเงินอุดหนุนดูแล
ทีมข่าวลองยกตัวอย่าง กฎหมายการบังคับใช้คาร์ซีท ใน 3 ประเทศ ให้เปรียบเทียบดู พบว่า ในสหราชอาณาจักร กำหนดให้ เด็กอายุต่ำหว่า 12 ปี หรือ สูงไม่ถึง 135 เซนติเมตร ต้องนั่ง คาร์ซีท หรือ เบาะนั่งเสริม Booster Seat ในรถยนต์ ปกติ หรือ อย่างที่ เยอรมนี กำหนดว่า ต้องมีสายรัดนิรภัยสำหรับเด็ก อายุ ต่ำกว่า 12 ปี และ เวลาที่ให้เด็กนั่งแท็กซี่ ต้องมีคาร์ซีทด้วย
ส่วนที่ ญี่ปุ่น กำหนดแยกตามอายุเลย เช่น เด็กต่ำกว่า 2 ปี ต้องใช้คาร์ซีทแบบหันหน้าไปทางด้านหลัง ส่วนคาร์ซีทแบบหันไปทางหน้ารถยนต์ จะใช้ได้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ส่วนเด็กที่อายุต่ำกว่า 8 ปี จะต้องใช้เบาะนั่งเสริม Booster Seat
จะเห็นว่า แนวทางของทั้ง 3 ประเทศ หรือจริงๆมีอีกหลายสิบประเทศ กำหนดว่า เด็กเล็กจะนั่งรถยนต์ต้องมีคาร์ซีท ขณะที่ประเทศไทย เมื่อวานนี้ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ย้ำว่า ไม่อยากให้ประชาชนกังวลมากนัก เพราะ ในมุมของตำรวจ มองว่า การจัดที่นั่งปลอดภัยให้เด็ก มี 3 ทางเลือก คือ จัดที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ คาร์ซีท จัดที่นั่งพิเศษ และ หาวิธีป้องกันอันตรายสำหรับเด็ก
3 ทางเลือกที่ว่า หากเราวิเคราะห์กัน ก็จะเห็นว่า มีแค่ คาร์ซีท ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ส่วน การจัดที่นั่งพิเศษ และ หาวิธีป้องกันอันตรายวิธีอื่น ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่าคืออะไร