SHARGE เปิดข้อเสนอถึง “ว่าที่รัฐบาลใหม่” หากจะกระตุ้นการใช้รถยนต์ไฟฟ้า
SHARGE ผู้ให้บริการ EV Charging Solution เสนอแนวทางนโยบาย 4 ข้อถึง “ว่าที่รัฐบาลใหม่” หากจะกระตุ้นให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
พีระภัทร ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE) ผู้ให้บริการ EV Charging Solution เปิดเผยว่า การประกาศใช้นโยบาย 30@30 ระยะแรกของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ที่ช่วยกระตุ้นให้คนไทยหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เกิดกระแสการตื่นรู้ด้านความยั่งยืนทางพลังงาน จนสร้างปรากฏการณ์ต่อคิวซื้อข้ามคืนและมียอดจองพุ่งหลายพันคันภายในวันเดียว
“รถ EV” กระแสแรง! บีบเครื่องสันดาป-ไฮบริดตกยุคเร็วขึ้น ดันรถมือสองทะลัก
รัฐบาลจ่อออกมาตรการเพิ่ม หนุนยานยนต์ไฟฟ้า แทนมาตรการเดิมหมดอายุปีนี้
ที่ผ่านมาเราปลุกกระแสการใช้รถรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลในประเทศไทยให้เกิดขึ้นได้แล้ว ก้าวต่อไปคือการเติมกระสุนนโยบายหล่อเลี้ยงโมเมนตัมอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจำเป็นต้องปลดล็อกเงื่อนไขเพื่อขยายโอกาสให้คนไทยทุกคนได้ใช้ รถยนต์ไฟฟ้า อย่างทั่วถึง พร้อมทั้งปรับนโยบายด้าน รถยนต์ไฟฟ้า ให้เอื้อประโยชน์ต่อชีวิตคนไทย ครบทั้ง 3 ด้าน คือ อากาศดี มีรายได้ ค่าใช้จ่ายลด
ทั้งนี้ การจะเดินหน้าสร้างโมเมนตัมต่อไปได้ หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ EV หรือ EV Ecosystem อาจต้องกลับมาทบทวนกฎระเบียบและการสนับสนุนในปัจจุบันให้เอื้อกับผู้ประกอบการ เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ รถยนต์ไฟฟ้า ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
1.การปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน พิจารณากฎหมายที่อาจจะปิดกั้น รถยนต์ไฟฟ้า เข้าสู่ตลาด เช่น ข้อกำหนดเรื่องรถแท็กซี่ต้องมีเครื่องยนต์ 1.6 ลิตรขึ้นไป ขณะที่ รถยนต์ไฟฟ้า ในปัจจุบันไม่มีเครื่องยนต์ ทำให้ไม่สามารถนำ รถยนต์ไฟฟ้า มาเป็นแท็กซี่ได้
2.การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน (EV Infrastructure) ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้ รถยนต์ไฟฟ้า และทำให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่าย
3.การกระตุ้นให้เกิดผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าใหม่ อาจต้องพิจารณาสนับสนุนด้านภาษีหรือสิทธิประโยชน์ (Incentive) แก่ผู้ประกอบการ เช่น ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ที่นำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้เป็นครั้งแรก หรือมีอัตราค่าไฟฟ้าพิเศษ
4.การสร้างประโยชน์ต่อประเทศ พิจารณาประโยชน์จากการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ การแข่งขันด้านต้นทุนการผลิต เป็นต้น
นอกจากนั้น การสนับสนุนกลุ่ม Commercial Fleets ทั้งในระบบขนส่งสาธารณะหรือโลจิสติกส์ จะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยให้รถยนต์ไฟฟ้าเข้าถึงคนไทยทุกกลุ่มได้อย่างรวดเร็วที่สุด แต่ปัจจุบัน Commercial Fleets เป็นกลุ่มที่ยังมีสัดส่วนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าน้อย ด้วยข้อจำกัดทั้งด้านกฎหมายและด้านการลงทุนในระยะแรกเริ่ม
พีระภัทร กล่าวว่า หากจะกระตุ้นให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ “ว่าที่รัฐบาลใหม่” จะต้องออกนโยบายช่วยเอื้อให้เกิด “อากาศดี มีรายได้ ค่าใช้จ่ายลด” โดยสนับสนุนการลงทุนที่จูงใจให้ผู้ประกอบการใหม่อยากลงทุน และผู้ประกอบการเดิมหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าจึงเสนอแนวทางนโยบาย 4 ข้อ ได้แก่
1.เปลี่ยนเงื่อนไขภาษีผู้ผลิต รถยนต์ไฟฟ้า ทยอยปลดล็อกเงื่อนไขยกเว้นภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตชิ้นส่วนและอะไหล่ให้กับบริษัทที่ผลิต รถยนต์ไฟฟ้า ภายในประเทศไทย เพิ่มจำนวนผู้ผลิต รถยนต์ไฟฟ้า ในตลาดให้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการผูกขาด กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิตในประเทศ ทั้งด้านการผลิต คุณภาพมาตรฐาน และราคายานยนต์
2.ปั้นบุคลากรด้าน EV ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในประเทศให้มีความเชี่ยวชาญด้าน EV ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต รถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงการซ่อมบำรุง เพื่อให้ง่ายต่อการบำรุงรักษา EV ง่ายต่อการเข้าถึงช่างผู้เชี่ยวชาญ ลดระยะเวลารอซ่อม แก้ไขเหตุขัดข้องได้ทันที พร้อมทั้งสร้างอาชีพ ช่วยให้กลุ่มช่างยนต์เดิม มีความรู้ความสามารถที่ทันสมัย มีรายได้ต่อเนื่องในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ EV
3.เปิดทางนโยบายลดต้นทุน กระตุ้นการเปลี่ยนผ่าน การลงทุนแรกเริ่มที่สูงทั้งค่ายานยนต์และอุปกรณ์ ทำให้ผู้ประกอบการ Commercial Fleets ยังไม่ตัดสินใจนำ EV เข้ามาใช้ในธุรกิจ การเปิดโอกาสให้ตลาดมีการแข่งขันหลายราย ผู้ให้บริการที่มีใบอนุญาตจะสามารถเข้าถึงรถบรรทุก-รถโดยสาร EV และ EV Infrastructure ที่มีประสิทธิภาพในต้นทุนที่เหมาะสมได้ อาทิ อุปกรณ์ชาร์จ EV หรือ EV Charger ที่มีกำลังไฟฟ้าสูงในราคาที่ถูกลง ดึงดูดให้ผู้ประกอบการเห็นโอกาสในการเข้ามาลงทุนและพัฒนาเครือข่ายขนส่งสาธารณะ EV กันมากขึ้น
4.ปลดล็อกค่าไฟ EV ค่าพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นอีกความท้าทายของการขยาย EV สู่บริการขนส่งสาธารณะและโลจิสติกส์ ภาครัฐจึงควรปลดล็อกเงื่อนไขโครงการค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Low Priority อัตราพิเศษหน่วยละ 2.63 บาท ที่จำกัดเฉพาะสถานีชาร์จ EV สาธารณะ ให้ขยายไปยังผู้ประกอบการ Commercial Fleets เช่น เพิ่มคุณสมบัติให้อู่แท็กซี่ EV ที่มีหัวชาร์จ EV จำนวน 10 จุดขึ้นไป สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งจะช่วยให้คนขับแท็กซี่มีรายได้เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายลดลงไปพร้อมกัน เนื่องจากต้นทุนพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 1 บาทต่อกิโลเมตร ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 2 บาทต่อกิโลเมตร หรือค่าใช้จ่ายลดลงกว่าครึ่ง การปลดล็อกส่วนนี้จะจูงใจให้แท็กซี่ไทยหรือผู้ให้บริการรถโดยสาร ผู้ให้บริการ Last Mile Transportation เปลี่ยนผ่านสู่ EV
ถ้าประเทศไทยสามารถผลักดันแนวคิดอากาศดี มีรายได้ ค่าใช้จ่ายลดให้เกิดขึ้นจริงได้ จะช่วยยกระดับ EV Ecosystem พร้อมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ ดึงดูดนานาชาติเข้าร่วมตั้งฐานการผลิตและยกระดับคุณภาพการผลิตรถ EV ในไทย ส่งผลดีต่อทั้งผู้ประกอบการ พนักงานขับรถ และผู้โดยสาร เราจะเห็นรถเมล์ รถแท็กซี่ และมอเตอร์ไซค์รับจ้างแบบ EV จำนวนมากขึ้น ลดภาระต้นทุนค่าพลังงานและเพิ่มรายได้ให้กับคนขับแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ในธุรกิจและวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับ Ecosystem ลดค่าครองชีพให้คนไทยสามารถใช้บริการรถ EV สาธารณะในราคาไม่แพง และช่วยสร้างคุณภาพอากาศที่ดีให้กับคนไทยทุกคน