09.30 น. พลตำรวจโทไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) เปิดเผยถึงกรณีเหยื่อถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา โดยระบุว่า จากการผลักดันชาวต่างชาติที่ทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตอนนี้มี 260 คน ที่กลับเข้าประเทศไทย ทาง อ.พบพระ จ.ตาก ตนได้สั่งการให้ตำรวจไซเบอร์ 50 นาย ปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ด่านหน้า เพื่อรวบรวมข้อมูลการกระทำความผิดของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จัดเก็บข้อมูลโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ของทั้ง 260 คน
โดยหลังผ่านกลไกการส่งต่อระดับชาติ หรือ NRM อย่างละเอียดแล้ว พบข้อมูลบ่งชี้ว่า มีผู้ถูกหลอกลวงไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์อาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์จำนวนมาก และพบว่า มีผู้สมัครใจไปทำงานเพียงแค่ 2-3 คน เท่านั้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากที่เคยแถลงข่าวไปก่อนหน้านี้ว่า ในจำนวนดังกล่าวมีเหยื่อที่ถูกหลอกลวงเพียง 1 คน เพราะข้อมูลที่ได้รับรายงานในครั้งแรกกับข้อมูลที่เก็บจากโทรศัพท์มือถือแตกต่างกันอย่างมาก ตำรวจไซเบอร์จึงขออภัยในความผิดพลาดครั้งนี้
ส่วนพยานหลักฐานที่จัดเก็บได้ มีข้อมูลเลขรหัสประจำเครื่อง (IMEI) 107 หมายเลข และข้อมูลที่จัดเก็บอยู่ในโทรศัพท์ของผู้ที่ข้ามแดนกลับมา 35 เครื่อง ส่วนนี้จะนำไปตรวจพิสูจน์และวิเคราะห์อย่างละเอียดเพื่อหารูปแบบของการหลอกลวงและหาพยานหลักฐานว่าจะดำเนินคดีในความผิดอื่นกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์และผู้ที่เกี่ยวข้องในเพิ่มเติมได้หรือไม่ อย่างไร
เมื่อถามว่า ในการคัดกรอง NRM จะมีตำรวจเข้าไปร่วมคัดกรองด้วยหรือไม่ พลตำรวจโทไตรรงค์ ระบุว่า ส่วนนี้จะมีตำรวจตรวจคนเข้าเมืองและตำรวจภูธรจังหวัดตากเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนตำรวจไซเบอร์ มีหน้าที่ไปรวบรวมข้อมูลมาขยายผลผู้ที่เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์เพิ่มเติม
สำหรับ 260 คน ที่กลับเข้ามาในไทย ตามกฎหมายคนเข้าเมืองหากพบว่า เป็นเหยื่อจะถูกยกเว้นในการดำเนินคดีในบางข้อหา ส่วนผู้ที่สมัครใจไปทำงานก็จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย
ส่วนที่ตั้งข้อสงสัยว่ามีกลุ่มคนไทยเข้าไปช่วยเหลือขบวนการดังกล่าวหรือไม่ จะต้องพิสูจน์และรวบรวมข้อมูลก่อน หากพบว่า พาเข้ามาหรือมีการช่วยเหลือ และพบว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำผิดในรัฐไทย ก็จะเข้าองค์ประกอบอาชญากรรมข้ามชาติ (เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568)