เด็ก ๆ ช่วยกันปูเบาะจิ๊กซอว์ในลานสุขภาพ สวนหลวง ร.9 ซึ่งใช้เป็นสถานที่ออกกำลังกายและซ้อมมวย เป็นประจำมาตลอดระยะเวลา 3 ปี จากการริเริ่มของ นายวีระชัย แสงทอง (ครูวี) อายุ 57 ปี ประกอบธุรกิจส่วนตัว ซึ่งตอนนี้มีนักมวยอาชีพจากเวทีต่าง ๆ หมุนเวียนกันมาช่วยสอนทักษะการป้องกันตัวแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้ประชาชนและชาวต่างชาติที่มาออกกำลังกายยามเย็นได้เรียนรู้มวยไทย บางคนมีทักษะดีได้ขึ้นเวทีแข่งขันเลี้ยงครอบครัว
.
ช่างภาพพีพีทีวี พูดคุยกับ ด.ช.สหรัฐ หนุ่มน้อย อายุ 14 ปี ที่นั่งรอครูวีนำอุปกรณ์ซ้อมมวยมา สหรัฐ เล่าว่า ตอนแรกผมมาเดินเล่นที่นี่ เห็นพี่ ๆ เขาชกมวยกันเลยแวะเข้ามาดู หลังจากนั้นก็เตรียมชุดมาจากบ้าน เลิกเรียนก็มาซ้อมทุกวัน ทุ่มสองทุ่มพ่อมารับกลับ สหรัฐ บอกกับเราว่า อยากเป็นนักมวยเพราะจะได้หาเงินช่วยพ่อกับแม่ โดยมีพี่ตะวันฉายพี.เค.แสนชัยมวยไทยยิม เป็นต้นแบบ ทั้งนี้ สหรัฐ บอกว่า วันที่ 9 มี.ค.นี้ผมก็จะไปขึ้นชก ที่ จ.หนองคาย
.
ครูวี เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า เป็นคนที่มาออกกำลังกายที่นี่อยู่แล้ว พอดีช่วงโควิดค่ายมวยปิดหมด นักมวยก็มาที่นี่กัน เลยคิดว่าตนเคยมีค่ายมวย มีพื้นฐาน จึงซื้อเป้ามา 2 - 3 ชุด เกือบ 10,000 บาท ตอนแรกมีตนสอนคนเดียว เมื่อเด็ก ๆ เข้ามา ครูมวยเห็นเป็นโครงการที่ดีและเข้ามาช่วยเรื่อย ๆ ตอนนี้ในกลุ่มไลน์มีประมาณ 200 คน จนทำให้บางวันต้องซ้อมบนลานปูน
.
“ทุก ๆ วันผมจะขนกลับไปตากแดด เย็นมาก็ซื้อน้ำ กล้วย ขนมมา ตอนนี้รายได้น้อยก็ลดปริมาณลง บางวันมีคนที่ออกกำลังกายก็ซื้อมาช่วยเหลือบาง” เด็กบางคนอยากเป็นนักมวยเพราะอยากหาเงินรักษาแม่ที่ป่วยมะเร็ง บางคนติดยาเสพติดเราก็ไม่ปฏิเสธเขา เพราะมองว่า เขาเป็นคนป่วยเราต้องรีบรักษา ตอนนี้นวมขาดชำรุดทำให้ได้รับบาดเจ็บ เราไม่รับเงินใคร ขอแค่มีอุปกรณ์มา
.
ครูวี บอกอีกว่า การเรียนมวยที่นี่มีครูมวยอาชีพ ทำให้ทุกคนต่อยอดได้ และเป็นนักมวยอาชีพ โดยใช้ฉายาว่า “ส.สวนหลวง”
.
“ตลอด 3 ปี ไม่เคยหยุด ถ้าหยุด เด็ก ๆ ไม่มีอะไรซ้อม ผมผูกพันไปแล้ว มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต”
“ครูวี” จิตอาสาสอนมวย “3ปีไม่เคยหยุด ถ้าหยุดเด็กๆ ไม่มีอะไรซ้อม ผมผูกพันแล้ว มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต”
39 ภาพ | เผยแพร่ 24 ก.พ. 2568