“ผมไม่ใช่นักวิชาการหรอก แค่คนทำงานที่รักป่า และบังเอิญได้เจออะไรที่ยิ่งใหญ่”
.
ปรีชา ซ้ายหนองขาม ชาวภูเวียงวัย 64 ปี พนักงานประจำพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น อดีตสมาชิกทีมขุดค้นกระดูกไดโนเสาร์แห่งภูเวียง เขาเข้าร่วมภารกิจสำรวจป่าภูเวียงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นักวิชาการด้านธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาเข้ามาตั้งต้นโครงการขุดค้นฟอสซิลในภูเวียง โดยมีนักวิชาการชั้นนำ เช่น ดร.วราวุธ สุธีธร นักบรรพชีวินวิทยาของไทย ผู้ขุดค้นฟอสซิลไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่หลายพันธุ์ เช่น สยามโมซอรัส สุธีธรนี ที่ตั้งชื่อตามสกุลของเขา สมชัย เตรียมวิชานนท์ อดีตนักธรณีวิทยาแห่งกรมทรัพยากรธรณี และอีริค บุฟโต (Eric Buffetaut) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพืชและสัตว์ดึกดำบรรพ์จากฝรั่งเศส
.
โดยหน้าที่ของปรีชาในตอนนั้น คือการประสานงาน ดูแลพื้นที่ และอำนวยความสะดวกให้ทีมวิชาการ โดยไม่คิดว่าตนเองจะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ไทย
ไดโนเสาร์หลุม 8 และ “รอยตีนเป็ดโบราณ”
.
หนึ่งในเรื่องราวที่ปรีชายังเล่าได้อย่างแม่นยำ คือเหตุการณ์การค้นพบ รอยเท้าไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็ก จำนวน 65 รอย ที่ลานหินใกล้น้ำตกตาดฟ้า ซึ่งในตอนแรก เขาเรียกว่า "รอยตีนเป็ดโบราณ"
.
“ผมจำได้ว่าวันนั้นเรากินข้าวอยู่ที่หลุมขุด อาจารย์วราวุธถามว่าผมเคยเห็นอะไรแปลกๆ มั้ย ผมก็นึกถึงรอยตีนเป็ดที่เคยเห็นตอนเดินสำรวจ ทางขึ้นมันลำบากมาก ต้องเข็นรถขึ้นภูเขา แต่พอไปถึงแล้วเจอของจริง มันคุ้มมาก”
.
การค้นพบครั้งนี้ไม่เพียงกลายเป็นหลักฐานของการดำรงอยู่ของไดโนเสาร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่ยังจุดประกายให้นักวิชาการหันมาให้ความสนใจกับภูเวียงในฐานะแหล่งข้อมูลระดับโลก
ไดโนเสาร์หลุม 9 และการค้นพบ "สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส"
.
อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญคือการค้นพบกระดูกไดโนเสาร์กินเนื้อที่หลุมหมายเลข 9 ในปี พ.ศ. 2536 ซึ่งปรีชาเล่าว่าเกิดจาก “ความขี้เกียจขุด” ในวันหนึ่ง
.
“พวกเราขุดกันอยู่ที่หลุม 3 หินมันแข็งมาก ก็เลยบ่นกันว่าขุดต่อไม่ไหวแล้ว เลยชวนกันไปเดินสำรวจเล่น แต่ดันไปเจอกระดูกจริงๆ”
.
หลังจากนำทีมกลับไปตรวจสอบเพิ่มเติม ทีมวิจัยพบว่า ฟอสซิลที่ค้นพบเป็นของ ไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ ที่มีอายุเก่าแก่ถึง 130 ล้านปี ถูกตั้งชื่อว่า สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis) และเชื่อกันว่าเป็นญาติห่างๆ ของ ทีเร็กซ์ (Tyrannosaurus rex)
.
“ทีเร็กซ์ที่เจอในอเมริกามันมีอายุแค่ 65 ล้านปี แต่ของไทยเราเจอก่อนมันอีกเท่าตัว นักวิจัยก็เลยตั้งข้อสันนิษฐานว่าแหล่งกำเนิดของไทรันโนซอรัสอาจอยู่แถวๆ บ้านเรา”
จากคนเดินป่า สู่ผู้เล่าประวัติศาสตร์
.
ในช่วงท้ายของชีวิตการขุดค้น ปรีชาตัดสินใจเปลี่ยนบทบาทมาเป็นเจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง เขายอมรับว่าแม้งานในพิพิธภัณฑ์จะไม่ตื่นเต้นเหมือนการเดินป่า แต่ก็เปิดโอกาสให้เขาได้ใช้ประสบการณ์ ถ่ายทอดความรู้สู่คนรุ่นใหม่
.
“หลายคนมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ แต่ไม่รู้เลยว่ากว่าจะมีพิพิธภัณฑ์นี้ขึ้นมา เราเคยเดินป่า ฝ่าแดด ฝ่าฝน ขุดฟอสซิลทีต้องทุบหินกันเป็นเดือนๆ วันนี้ผมมีหน้าที่เล่าให้เขาเห็นภาพนั้น”
.
เขาใช้เวลาในแต่ละวันพาผู้มาเยี่ยมชมเดินดูแผนที่หลุมขุดค้น ห้องแสดงฟอสซิล และแม้แต่ “ห้องเก็บของจริง” ที่ฟอสซิลแท้บางชิ้นถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี เช่น กระดองเต่าดึกดำบรรพ์ หรือหางของไดโนเสาร์ขนาดยักษ์ที่เขาเคยเป็นคนขุดด้วยมือ
.
“ผมเริ่มทำงานที่นี่ตั้งแต่ยังไม่มีถนน ไม่มีไฟฟ้า ทุกวันนี้ที่ภูเวียงมีทั้งถนน มีนักเรียนมาเยี่ยม มีนักวิชาการมาศึกษา ผมภูมิใจที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนั้นตั้งแต่ต้นทาง”
.
โดยปัจจุบันไดโนเสาร์ที่พบในประเทศไทยที่เป็นชนิดที่พบใหม่ของโลก 13 สายพันธุ์ โดยการขุดค้นครั้งล่าสุดในปี 2567 หลังว่างเว้นการสำรวจเป็นเวลากว่า 30 ปี ที่หุบเขาภูเวียง มีความเป็นไปได้สูงที่จะนำไปสู่การค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ตัวที่ 6 ของพื้นที่ และนับเป็นตัวที่ 14 ของประเทศไทย โดยมีการสันนิษฐานเบื้องต้นว่า ซากฟอสซิลที่พบน่าจะเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์กินพืช และมีขนาดใหญ่กว่าภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ ซึ่งเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์กินพืชตัวแรกที่เคยพบในหุบเขาภูเวียง โดยปรีชาก็ตั้งความหวังและคาดว่าจะเจอสายพันธ์ไดโนเสาร์ที่พบในประเทศไทยชนิดใหม่ในเร็ว ๆ นี้