10.45 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหาร ตรวจเยี่ยมการเสริมภูมิคุ้มกันกลุ่มเปราะบาง สร้างกำลังใจป้องกันภัยจากโควิด-19 ที่สถาบันบำราศนราดูร โดยได้นำยาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ ยาอีวูชีลด์ (Evusheld) นำร่องฉีดให้กับผู้ป่วยโรคไตวายที่ทำการฟอกไต หลังจากที่แอสตร้าเซนาก้า ได้ส่งมอบยาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ล็อตแรก 7,000 โดส จากจำนวน 257,500 โดส ส่วนที่เหลือจะทยอยส่งมอบให้ครบภายในปีนี้
เบื้องต้น มีจำนวนผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ จำนวนกว่า 500,000 ราย ซึ่งต้องดูตามข้อบ่งชี้ จะเป็นการฉีดฟรีให้กับผู้ป่วย ซึ่งหากพบว่า มีความต้องการเพิ่มขึ้นก็พร้อมที่จะจัดหาเพิ่มเติม
นายอนุทิน ระบุว่า ในวันนี้ถือเป็นความก้าวหน้าของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้จัดหายาฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปให้กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ จะทำให้อัตราการควบคุมการเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยงดีขึ้น เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตจากโควิด 19 ในช่วงที่ผ่านมาร้อยละ 95 ยังคงเป็นกลุ่ม 608 และกลุ่มที่มีโรคประจำตัวร่วม ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการพูดคุยกับแอสตร้าเซนาก้าเป็นอย่างดี ในการที่จะปรับเปลี่ยนจากการสั่งซื้อวัคซีนโควิดเดิม มาเป็นยาฉีดบางส่วนในครั้งนี้
สำหรับการสั่งซื้อยาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ได้มีการปรับลดการจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนาก้า จากเดิม 60 ล้านโดส ให้เหลือจำนวน 35.4 ล้านโดส และเปลี่ยนวัคซีนบางส่วนเป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป จำนวน 257,500 โดส ขณะที่ รพ.เอกชน หากมีผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายต้องรับยาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปให้ห้ประสานมายังกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับแนวทางใช้ยาฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ อีวูชีลด์ (Evusheld) ฉีดในคนอายุ 12 ปี ขึ้นไป น้ำหนัก 40 กิโลกรัมขึ้นไป 1 กล่องบรรจุภัณฑ์ มี 2 ขวด ได้แก่ Tixagevimab 1.5 มิลลิลิตร Cilgavimab 1.5 มิลลิลิตร ฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพก 2 ข้าง ข้างละ 1.5 มิลลิลิตร ใช้กับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยที่เคยปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง คนที่ใช้ยากดภูมิ ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนโควิดไปแล้ว 3 เข็ม แต่ภูมิไม่ขึ้น ฉีดในผู้ที่ไม่ได้กำลังติดเชื้อโควิด และไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงโควิด เมื่อฉีดแล้ว ยาจะอยู่ได้ 6 เดือน เบื้องต้น ผลข้างเคียงน้อย
สำหรับ Long-acting antibody หรือ ยาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป เบื้องต้น พบว่า ประสิทธิภาพดี ความปลอดภัยดี ผลข้างเคียงน้อยมาก ซึ่งข้อมูลจากบริษัท แอสตราเซเนก้า พบว่า ยาดังกล่าวสามารถ ป้องกัน สายพันธุ์ BA.2 ได้ดี รวมถึง BA4./BA.5 ได้ถึงร้อยละ 80 ส่วนการเก็บรักษายาอยู่ที่ 2-8 องศาเซียลเซียส
ผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมาย สามารถติดต่อเข้ารับการฉีดยาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปได้ที่สถานพยาบาลตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร กําหนดไว้ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียนต่อ อย.ในการนำมาใช้ในการรักษาต่อไปด้วย (เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565)
PPTV PHOTO #ทวีชัยจันทะวงค์
PPTVHD36 #เรื่องข่าวเรื่องใหญ่ #อนุทินชาญวีรกูล #กระทรวงสาธารณสุข #ยาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป #ยาอีวูชีลด์ #โควิด #โควิด19