09.30 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แท็กทีมผู้บริหารกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงแผนควบคุมโควิด-19 หลังวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะลดระดับจากโรคติดต่อรุนแรง เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง
นายอนุทิน ระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ถือว่า ปลอดภัยมากขึ้น และหลายประเทศกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติแล้ว ส่วนในไทยอัตราผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตต่ำ ประชาชนมีภูมิคุ้มกันแล้วถึง 92 เปอร์เซนต์ อาการติดเชื้อระยะหลังไม่รุนแรง จึงประกาศลดระดับให้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อได้ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ความปลอดภัย พร้อมย้ำว่า แม้จะลดระดับให้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังและการบริหารงานหลังจากนี้ จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข แต่เชื่อมั่นว่า จะสานงานเดิมได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนการรักษาพยาบาล วัคซีน และยา ยังดูแลประชาชนเหมือนเดิม
สำหรับการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลังจากวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ผู้ป่วยมีอาการ หรือ อาการน้อย รักษาแบบผู้ป่วยนอก ไม่ต้องกักตัว ปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT อย่างเคร่งครัด ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง แต่มีโรคร่วม ปัจจัยเสี่ยง แพทย์จะเป็นผู้พิจารณา
เช่นเดียวกับการให้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยไม่มีอาการ ไม่ต้องจ่ายยาต้านไวรัส ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง อาจพิจารณาจ่ายฟ้าทะลายโจร หรือ จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งต้องเริ่มให้เร็วที่สุด และผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ปัจจัยเสี่ยง ให้ยาต้านไวรัส โดยยาต้านไวรัสทั้ง 3 ตัว เช่น ฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ และเรมเดซีเวียร์ มีสำรองใช้ได้อีกหลายเดือน
ส่วนการฉีดวัคซีน หลังจากนี้จะปรับมาฉีดวัคซีนในสถานพยาบาล ตามแต่ละคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนด และฉีดฟรีเหมือนเดิม ตามความสมัครใจ ซึ่งการจะฉีดเข็มกระตุ้นปีหน้าคาดว่า จะฉีดปีละ 1-2 ครั้ง แบบวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยตอนนี้ไทยมีวัคซีนสำรองในคลัง 42 ล้านโดส ฉีดได้อีก 6 เดือน
ขณะที่ การคาดการณ์การณ์โควิด-19 ในปีหน้า กรมควบคุมโรคประเมิน จะมีการระบาดเป็นพื้นที่เป็นระลอกเล็กๆ เหมือนการระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งระบบสาธารณสุขมีศักยภาพรองรับได้อย่างเพียงพอ (เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565)
PPTV PHOTO #ทวีชัยจันทะวงค์
PPTVHD36 #อนุทินชาญวีรกูล #กระทรวงสาธารณสุข #การรักษาโควิดหลัง1ตุลาคม