วาฬบรูด้า อ้าปากกินอาหารบริเวณอ่าวไทยตัว ก หรือ อ่าวไทยตอนบน จ.สมุทรสงคราม แสดงให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำสื่อมวลชนติดตามการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล และสัตว์ทะเลหายาก พบวาฬบรูด้า 5 ตัว และคู่แม่ลูก “แม่กันยา หนูมาลี” โดยแม่กันยา พบว่าอาศัยอยู่บริเวณนี้ตั้งแต่ปี 2553
13 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทย มีการสำรวจประชากรวาฬบรูด้า โดยใช้โฟโต้ไอดี พบวาฬบรูด้ามากกว่า 100 ตัว โดยตั้งชื่อได้ 92 ตัว มีแม่พันธุ์ทั้งหมด 22 ตัว ให้ลูกมากกว่า 60 ตัว
นอกจากนี้ ยังพบอัตราการเกิดเฉลี่ยปีละ 4 ตัว และอัตราการตายปีละ 2 ตัว ซึ่งนับว่าสามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้ เนื่องจากระบบนิเวศน์ดี หากระบบนิเวศน์ไม่ดีวาฬบรูด้าจะย้ายไปอยู่ที่อื่น
ส่วนสาเหตุการตายของวาฬบรูด้านั้น เกิดได้ 2 สาเหตุ จากโรคภัยไข้เจ็บตามธรรมชาติ และฝีมือมนุษย์ เช่น การใช้พื้นที่ทับซ้อนเกิดอุบัติเหตุทางทะเล เรือชนวาฬบรูด้าตาย และจากขยะทะเลที่รัดพันวาฬบรูด้า ทำให้เกิดแผล และถุงพลาสติกที่วาฬบรูด้ากินเข้าไป
ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ฝากถึงประชาชนในเรื่องของการท่องเที่ยวทะเลหรือเที่ยวชมวาฬบรูด้า ว่า “ควรเก็บภาพเป็นความทรงจำมิใช่เก็บเอาทรัพยากรทางทะเล” พร้อมทั้งขอให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้คำนึงถึงธรรมชาติเป็นหลักรักเสมือนคนในครอบครัว และช่วยปฏิบัติตามข้อระเบียบกรมฯอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำและปรับ (เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566)
PPTVPHOTO #ทวีชัยจันทะวงค์
#PPTVHD36 #วาฬบรูด้า #อ่าวไทย #วาฬบรูด้าอ่าวไทย #กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง