เผยสาเหตุ “ข้อสะโพก-ข้อเข่า” หลวม อาการที่ทำให้ “เทนนิส” เตรียมเลิกเล่นทีมชาติ
เปิดสาเหตุ “ข้อสะโพก-ข้อเข่า” หลวม อาการที่ทำให้ “เทนนิส - พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” เตรียมเลิกเล่นทีมชาติ หลังศึกโอลิมปิก 2024 พร้อมเผยท่าออกกำลังกายเสริมสมรรถภาพ เพราะคนใช้ร่างกายเยอะก็พบได้
อะไรที่มากเกินไปก็ไม่ดี! สุขภาพเองก็เช่นกัน ถ้าเราใช้งานร่างกายมากเกินไป ก็ส่งผลต่ออาการเสื่อมหรืออาการบาดเจ็บต่างๆ ตามมาได้ ซึ่งจอมเตะสาวที่สร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองโตเกียวเกมส์ 2020 จากกีฬาเทคควันโด “เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” ได้ออกมาแชร์ประสบการณ์ผ่าน “รายการ Rise & Shine ชีวิตดีเริ่มที่ตัวเรา ซีซัน 3”
โดยเธอได้ออกมาเล่าถึงอาการบาดเจ็บบริเวณ “ข้อสะโพก-ข้อเข่า” ที่รุมเร้า จนเธอต้องตัดสินใจจะเลิกเล่นทีมชาติ หลังโอลิมปิกเกมส์ 2024
"เทนนิส" พาณิภัค หวังคว้าแชมป์โลกเทควันโดสมัย 3
"เทนนิส" พาณิภัค นำทีมเป็นกรรมการ คัดตัวจอมเตะเสริมทัพทีมชาติไทย
ที่ตัดสินใจว่าจะเลิกเล่น เพราะด้วยอาการบาดเจ็บที่มันรุมเร้ามากๆ เนื่องจากเจ็บเข่าไปทั้ง 2 ข้าง ตอนแรกเจ็บข้างขวาข้างเดียว คือเอ็นไขว้หลังข้างขวาขาด ก็พยายามไม่ใช้มัน มาใช้ข้างซ้ายแทน แล้วตอนนี้ข้างซ้ายก็ร้องด้วยว่าพอได้แล้ว หยุดใช้ได้แล้ว ก็เลยบอกกับตัวเองว่า เอาอย่างนี้ ให้ไปจบที่โอลิมปิก 2024 ตอนนี้ก็พยายามรักษาร่างกายให้ไปถึงวันนั้นให้ได้
แต่แม้ร่างกายจะเจ็บ แต่ “เทนนิส” ยังไม่ยอมแพ้ เธอบอกผ่านรายการว่า จะตั้งใจคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเอามาฝากชาวไทยอีกครั้ง
เมื่อกำลังใจมาพร้อม ความสำเร็จคงอยู่ไม่ไกล ซึ่ง ดร.วีนัส ดอกจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญการออกกำลังกายทางการแพทย์ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ได้ออกมาเปิดเผยสาเหตุของอาการข้อสะโพกและข้อเข่าหลวม พร้อมแนะนำท่าออกกำลังกายเสริมสมรรถภาพที่จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น สามารถกลับไปเตะได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง
แต่เคล็ดลับนี้ไม่ใช่เฉพาะนักกีฬาเท่านั้น สำหรับคนที่จำเป็นต้องใช้ช่วงขาช่วงสะโพกเยอะ ก็สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน เพราะนี่ถือเป็นอีกกลุ่มเสี่ยงสำคัญต่ออาการบาดเจ็บเหล่านี้ด้วย!
ใช้งานบ่อย-ต่อเนื่อง สาเหตุ “ข้อเข่า-ข้อสะโพก” หลวม
อาการบาดเจ็บตรงข้อเข่าและข้อสะโพก เกิดมาจากการใช้งานเยอะ ใช่งานต่อเนื่อง และการใช้ในมุมกว้าง อย่างกรณีของ “เทนนิส” จะต้องเตะสูงอยู่ตลอดทั้งในการซ้อมและการแข่งขัน ทำให้ตัวเยื่อหุ้มเส้นเอ็นหรือเยื่อหุ้มข้อสะโพกขยายตัว จึงเกิดข้อเข่าและข้อสะโพกหลวมนั่นเอง
บาดเจ็บแบบไหนต้องผ่าตัด ?
อย่างนักกีฬา เดิมฝึกซ้อมหนักอยู่แล้ว ถ้ากลับมาใช้ชีวิตประจำวันปกติ แบบนี้ถือว่าการใช้ร่างกายจะเบาลงมาก ดังนั้นไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ในบุคคลที่ใช้ร่างกายเยอะก็เช่นเดียวกัน
แต่ถ้าในกรณีที่เกิดอาการบาดเจ็บจนถึงขั้นฉีกขาด หรือตัวโครงสร้างของร่างกายผิดปกติไปมาก กรณีนี้จะต้องเข้ามาตรวจร่างกาย ให้แพทย์ทำ MRI เพื่อสแกนดูว่ามีโครงสร้างอะไรเสียหายหรือเปล่า แล้วค่อยมาดูกันว่าจะต้องผ่าตัดหรือไม่
3 ท่าออกกำลังกาย เพิ่มความแข็งแรง “ข้อเข่า-ข้อสะโพก”
เพื่อให้การใช้งานของร่างกายแข็งแรง มีความมั่นใจมากขึ้น ทุกคนสามารถออกกำลังกายตาม 3 ท่าดังต่อไปนี้
ท่าแรก :
- ยกขาซ้าย/ขาขวา ขึ้น
- งอสะโพกขึ้นมา เสร็จแล้วกางออก
- เกร็งลำตัวไว้นิ่งๆ
- จากนั้นหมุนข้อเข่าลง ให้เป็นการบิดสะโพกเข้าข้างใน
- หุบเข่าลง
- ดึงขากลับ
- ทำสลับอีกฝั่ง
ท่าที่สอง :
- นำแท่นเหยียบออกกำลังกายออกมา
- ยืนด้วยขาข้างเดียว อาจเป็นข้างซ้าย/ขวา
- นำขาอีกข้างวางตรงแท่นเหยียบออกกำลังกาย
- จากนั้นย่อขาทั้ง 2 ข้าง ดังรูปด้านล่าง
- ทำสลับอีกฝั่ง
ท่าที่สาม :
- นอนลง
- นำยางยืดมาพันตรงหัวเข่า
- วางเท้าตั้งชันกับเพื่อให้กว้างขนาดเท่าช่วงก้น
- ดันสะโพกขึ้นและลงอย่างช้าๆ (ทำประมาณ 10 ครั้งต่อเซ็ต)
- เมื่อครบเซ็ตแล้ว ให้เอียงตัวมาอีกฝั่ง อาจเป็นข้างซ้าย/ขวาก็ได้ ให้อยู่ในลักษณะของท่านอนตะแคงข้าง
- ถ้านอนตะแคงซ้าย ให้ยกขาขวาขึ้น ตามภาพด้านล่าง (ทำประมาณ 10 ครั้งต่อเซ็ต)
- ถ้านอนตะแคงขวา ให้ยกขาซ้ายขึ้น ตามภาพด้านล่าง (ทำประมาณ 10 ครั้งต่อเซ็ต)