6 ความเชื่อเรื่อง “ประจำเดือน” ของสาวๆ ที่อาจเข้าใจผิดมาตลอดชีวิต!
ไม่เป็นผู้หญิง ไม่เข้าใจ เรื่องประจำเดือน อาจเป็นเรื่องจริง และบางทีผู้หญิงเองอาจไม่รู้ความลับของการเป็นประจำเดือนด้วย! เช็กข้อเท็จจริงตามแพทย์บอก!
ความเชื่อเรื่องประจำเดือนของคนไทยได้รับการบอกต่อจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งหลายอย่างก็เป็นความเข้าใจผิด และหลายคนก็เข้าใจเช่นนั้นมาตลอดชีวิต ทำให้ได้รับการการดูแลสุขภาพที่ไม่เหมาะสมในเวลาดังกล่าว อาจส่งผลให้ปวดท้อง สุขภาพแย่ลงกว่าเดิม!
ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับประจำเดือน
- ดื่มน้ำเย็นไม่มีผลอะไร!
จากความเชื่อว่าห้ามกินน้ำเย็นหรือกินของเย็นๆ ในช่วงมีประจำเดือน อาจทำให้ประจำเดือนเป็นลิ่มเลือด อันที่จริงไม่มีผลใดๆ กับร่างกาย

เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำหรืออาหารจะผ่านกระเพาะอาหารและลำไส้มาก่อน จึงไม่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อมดลูก เช่นเดียวกับการอาบน้ำเย็นที่ร่างกายสามารถปรับอุณหภูมิได้!
- ดื่มน้ำมะพร้าวช่วงมีประจำเดือนได้!
ความเชื่อว่าน้ำมะพร้าวจะทำให้เลือดมีกลิ่นคาวขึ้น นั้นความจริงไม่มีข้อห้ามดื่มน้ำมะพร้าวแต่ก็ไม่แนะนำให้ดื่มมากเกินไป ที่มีความเชื่อเช่นนั้นอาจเนื่องมาจากในน้ำมะพร้าวมีสารไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) ซึ่งเป็นสารที่คล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการผิดปกติหรือไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ ได้เช่นกัน
- ไม่ควรออกกำลังกายในช่วงมีประจำเดือน
ความจริงแล้วสามารถออกกำลังกายได้ เพราะการออกกำลังกายไม่เพียงแต่ช่วยให้ร่างกายเกิดความผ่อนคลาย แต่ยังช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ด้วย โดยควรเลือกออกกำลังกายเบาๆ ที่มีการเคลื่อนไหวไม่รุนแรงหรือหนักหน่วงเกินไป หรือลดระยะเวลาในการออกกำลังกายลงเล็กน้อยจากปกติ
- มีเพศสัมพันธ์ระหว่างที่มีประจำเดือนก็ท้องไห้!
เนื่องจากผู้หญิงบางคนมีเลือดคล้ายประจำเดือนไหลออกมาในช่วงไข่ตก ซึ่งช่วงที่ไข่ตกเป็นช่วงที่พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์มากที่สุด รวมถึงหากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีประจำเดือนในวันท้ายๆ ก็มีโอกาสเสี่ยงตั้งครรภ์ เพราะอสุจิสามารถมีชีวิตอยู่ในช่องคลอดหลังจากการหลั่งได้นานถึง 72 ชั่วโมง ดังนั้นแม้เป็นช่วงมีประจำเดือน หากต้องมีเพศสัมพันธ์ควรป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัย
การมีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือน ยังมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากกว่าปกติถึง 3 เท่า
- ไม่เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ ไม่ได้ทำให้เสี่ยงมะเร็งปากมดลูก
สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกมาจากการติดเชื้อไวรัส HPV ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ้าอนามัยน้อยครั้ง แต่การเปลี่ยนผ้าอนามัยที่น้อยครั้ง หรือใช้แผ่นเดิมนานจนเกินไป อาจส่งผลต่อความสะอาดบริเวณช่องคลอด
- ประจำเดือนไม่ใช่เลือดเสีย
ประจำเดือนไม่ใช่เลือดเสีย แต่เป็นเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกมาพร้อมกับเลือด ซึ่งการที่มีประจำเดือนมามากก็ไม่ได้แสดงถึงการเอาของเสียออกจากร่างกาย ทั้งยังอาจเป็นสัญญาณเตือนของความผิดปกติของคุณผู้หญิงอีกด้วย การที่ประจำเดือนมามากเกินไปจะส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย และระบบไหลเวียนโลหิตเกิดความผิดปกติได้
ทั้งนี้ผู้หญิงอยู่ในช่วงที่มีประจำเดือนมักมีอาการปวดท้อง เพราะช่วงก่อนมีประจำเดือนจะมีสารที่ชื่อว่า Prostaglandins ในปริมาณมาก ซึ่งจะกระตุ้นให้มดลูกเกิดการบีบตัว และจะหายไปใน 2-3 วัน หากมีอาการรุนแรงหรือมีความผิดปกติของร่างกายมากเกินไป บรรเทาหรือกินยาไม่หาย แนะนำให้คุณผู้หญิงรีบปรึกษาแพทย์นะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล