Sleep Test ตรวจคลื่นสมอง ป้องกันโรคหยุดหายใจขณะหลับอันตราย
ภาวะนอนกรน และหยุดหายใจขณะหลับ ปัญหาการนอนที่ต้องได้รับการแก้ไข แนะทำSleep Test ตรวจคลื่นสมอง? เผยความถี่อันตราย!
หลายคนประสบปัญหาการนอนไม่เต็มอิ่ม ไม่สดชื่นหลังตื่นนอน ง่วงตอนกลางวัน ขับรถหลับในบ่อยคนเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ สมาธิสั้น โฟกัสอะไรไม่ได้นานๆ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนภาวะนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ไม่เข้ารับการตรวจวินิจฉัย ก็จะทำให้เสี่ยงอันตราย ส่งผลเสียต่อหัวใจจนอาจก่อให้เกิดภาวะขาดออกซิเจน หรือหัวใจล้มเหลวขณะหลับหรือใหลตายได้เลยทีเดียว
Freepik/freepik
นอนไม่เต็มอิ่ม

สาเหตุนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ
เกิดจากสรีระร่างกายของคนที่แตกต่างกัน เช่น คนไข้บางรายมีช่องปากแคบ ต่อมทอลซิลโต เพดานหย่อน โคนลิ้นโต ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับได้มากกว่า เพราะสรีระดังกล่าวจะมีผลต่อการอุดกั้นทางเดินหายใจ หรือในบางกรณีก็จะเกิดจากจมูกและโครงหน้าที่มีความผิดปกติ เช่น เป็นภูมิแพ้ ผนังกั้นจมูกคด จมูกเบี้ยว ก็ทำให้หายใจลำบากได้ หรือคนที่มีคางสั้น โคนลิ้นก็จะดันไปด้านหลังมากกว่าปกติ ทำให้อุดกั้นทางเดินหายใจจนหายใจไม่สะดวก เป็นต้น ซึ่งการทำ Sleep Test จะเป็นการตรวจที่บอกได้ว่าเรามีภาวะนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และมีอาการรุนแรงแค่ไหน ต้องรักษาอย่างไรจึงจะเหมาะสม
Sleep Test คือ การตรวจการนอนหลับ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ตรวจในกลุ่มผู้ป่วยที่มาปรึกษาแพทย์ด้วยภาวะนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งจะเป็นการตรวจคลื่นสมองเพื่อดูว่าอยู่ในภาวะใดขณะหลับ หลับลึก หลับตื้นหรือถึงเข้าระดับฝัน มีการตรวจคลื่นหัวใจดูว่าเต้นช้า เต้นเร็ว เต้นผิดจังหวะ หรือหยุดเต้นหรือไม่ รวมถึงมีการตรวจคลื่นกล้ามเนื้อร่วมด้วยว่ามีการชัก เกร็ง กระตุก หรือเป็นลมชักหรือไม่ เพราะผู้ป่วยบางรายก็เป็นลมชักขณะหลับได้
การตรวจ Sleep Test จะทำให้ทราบการทำงานของระบบทางเดินหายใจ ตรวจว่าเวลานอนหลับ มีลมหายใจออกทางจมูกดีหรือไม่ ซึ่งถ้าพบว่ามีลมหายใจออกทางปากอย่างเดียวหรือมากผิดปกติ ก็แสดงว่าจมูกมีปัญหา เช่น อาจเป็นภูมิแพ้จมูก ผนังกั้นจมูกคด จมูกบวม ตลอดจนตรวจทราบได้ว่าลักษณะการหายใจขณะหลับของเรานั้น อกขยับหรือไม่ ท้องขยับหรือไม่ และเรามีการหยุดหายใจกี่ครั้งขณะหลับ ช่วงเวลาไหนบ้าง มีความถี่มากน้อยเท่าไร รวมถึงหยุดหายใจในขณะที่นอนตะแคง นอนหงาย หรือว่านอนคว่ำมากกว่ากัน
ปกติคนทั่วไป จะมีค่าการหยุดหายใจอยู่ที่ไม่เกิน 5 ครั้งต่อชั่วโมง
หากตรวจ Sleep Test แล้วพบว่ามีค่าการหยุดหายใจน้อยกว่า 5 ครั้ง จะหมายถึงการมีภาวะนอนกรน แต่หากค่าการหยุดหายใจมีมากเกิน 5 ครั้งต่อชั่วโมง จะหมายถึงการมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ค่าการตรวจ Sleep Test
-
ค่าการหยุดหายใจอยู่ระหว่าง 5-15 ครั้งต่อชั่วโมง จะถือว่าอยู่ในภาวะหยุดหายใจระดับเล็กน้อย
-
ค่าการหยุดหายใจอยู่ระหว่าง 15-30 ครั้งต่อชั่วโมง จะถือว่าอยู่ในระดับรุนแรงปานกลาง
-
ค่าการหยุดหายใจเกิน 30 ครั้งต่อชั่วโมงขึ้นไป จะอยู่ในระดับรุนแรงมาก
ภาวะการหยุดหายใจในระดับปานกลางถึงรุนแรงนั้น อาจส่งผลต่อหัวใจ ทำให้เกิด Heart Attack ขาดออกซิเจนขณะหลับจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
ก่อนทำการตรวจ Sleep Test ผู้ป่วยต้องไม่มีอาการป่วย ไม่เป็นหวัด ไม่มีการติดเชื้อในช่องคอ และในระหว่างการทำ Sleep Test หากรู้สึกว่านอนไม่หลับ ควรแจ้งแพทย์หรือพยาบาล เพื่อรับยานอนหลับ เพราะหากไม่หลับ จะไม่สามารถทำการตรวจ Sleep Test ได้ ทั้งนี้ ระยะเวลาในการตรวจ Sleep Test อาจเป็น 1 คืน หรือ 2 คืนก็ได้ ขึ้นอยู่กับอาการของคนไข้แต่ละราย
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท 3