สาเหตุมะเร็งท่อน้ำดี นอกจากกินปลาน้ำจืดดิบ เผยสัญญาณก้อนมะเร็งอุดท่อน้ำดี
มะเร็งท่อน้ำดี เป็นสาเหตุการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ซึ่งปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุมาจากการกินอาหารสุกๆดิบๆ โดยเฉพาะปลาน้ำจืด ซึ่งยังมีอีกหลายสาเหตุต้องระวัง สัญญาณและอาการร่วมต้องระวัง
โรคมะเร็งท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma) เป็นมะเร็งที่ไทยพบอุบัติการณ์สูงที่สุดในโลก พบผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 18,917 ราย เป็นเพศชายกว่าเพศหญิง เสียชีวิตประมาณ 13,900 ราย เป็น ก้อนเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นบริเวณท่อน้ำดีนอกตับ รวมทั้งบริเวณขั้วตับจนถึงส่วนปลายล่างของท่อน้ำดีใหญ่ โดยมะเร็งท่อน้ำดีสามารถแบ่งตามตำแหน่งของเนื้องอกได้เป็นมะเร็งท่อน้ำดีในตับและมะเร็งท่อน้ำดีนอกตับ พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอายุ 40 ปีขึ้นไป

สาเหตุโรคมะเร็งท่อน้ำดี
- อาการท่อน้ำดีอักเสบเรื้อรัง เป็นพื้นฐานการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีเพราะโรคที่มีการตรวจพบและมีความเกี่ยวข้องกับมะเร็งท่อน้ำดีจะทำให้เกิดอาการท่อน้ำดีอักเสบเรื้อรัง
- นิ่วในท่อน้ำดีหรือถุงน้ำดี 20% – 57% ของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีจะเป็นนิ่วในท่อน้ำดีหรือในถุงน้ำดี ดังนั้นจึงเห็นว่าการอักเสบเรื้อรังของถุงน้ำดี และท่อน้ำดีเป็นปัจจัยทำให้เกิดโรคมะเร็ง
- ท่อน้ำดีผิดรูปร่าง (อาการท่อน้ำดีขยายมาตั้งแต่เกิด) : การมีซีสต์ในท่อน้ำดีมาตั้งแต่เกิดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งได้ง่าย เมื่อการไหลเวียนของท่อตับอ่อนและท่อน้ำดีผิดปกติ ของเหลวจากตับอ่อนจะไหลย้อนเข้าไปในท่อน้ำดี ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบริเวณเยื่อบุผิวท่อน้ำดี เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็ง
- โรคพยาธิใบไม้ตับ (Chinese liver fluke) : เนื่องจากการกินปลาดิบจะทำให้เกิดโรคพยาธิใบไม้ตับและเกิดการติดเชื้อที่ทางเดินน้ำดี ภาวะคั่งของน้ำดี เกิดพังผืดรอบท่อน้ำดีและท่อน้ำดีงอกขยายขึ้น เป็นต้น จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี
อาการของโรคมะเร็งท่อน้ำดี
แน่นอนว่า มะเร็งมักไม่มีอาการในระยะแรก และมักแสดงอาการเมื่ออยู่ในระยะลุกลามแล้ว
- ตัวเหลือง ตาเหลือง ซึ่งเกิดจากการอุดตันของท่อน้ำดี
- ปวดบริเวณท้อง หลังจากรับประทานอาหารแล้วจะรู้สึกไม่สบายบริเวณท้องด้านบนเล็กน้อย หรือปวดเสียดใต้ลิ้นปี่ หรือปวดบริเวณหลัง หรือปวดเค้นบริเวณท้องด้านขวาบน ซึ่งเป็นอาการของเส้นประสาทถูกก้อนมะเร็งลุกลาม
- ไข้ ก้อนมะเร็งอุดตันถึงท่อน้ำดี ทำให้ภายในท่อน้ำดีเกิดอาการอักเสบ ทำให้มีอาการเป็นไข้ แต่อัตราการเกิดค่อนข้างต่ำ
- คันบริเวณผิวหนังทั่วร่างกาย
- อาการอื่นๆ จะมีอาการร่วม เช่น ไม่อยากอาหาร เบื่ออาหารมันๆ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
การรักษามะเร็งท่อน้ำดี
การรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดีแพทย์จะพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ขนาด ตำแหน่ง และลักษณะของเซลล์มะเร็ง ระยะโรคและการกระจายของมะเร็ง สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เพื่อวางแผนการรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยการรักษามะเร็งท่อน้ำดีมีวิธีรักษา ดังนี้
- การผ่าตัดเนื้องอก เป็นวิธีการรักษามาตรฐานที่ได้ผลดีและเพิ่มอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยได้
- การผ่าตัดระบายท่อน้ำดี ในผู้ป่วยที่คาดว่าสามารถผ่าตัดเนื้องอกได้แต่ในขณะที่ผ่าตัดพบว่าระยะโรคไม่สามารถผ่าตัดออกได้ ควรได้รับการผ่าตัดระบายท่อน้ำดีเพื่อรักษาอาการคันและตัวเหลืองตาเหลือง
- การส่องกล้องตรวจรักษาท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (Endoscopic Retrograde Cholangiopancreatography: ERCP) ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดเนื้องอกออกได้หรือผู้ป่วยไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้
- เคมีบำบัด/รังสีรักษา ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดเอามะเร็งออกได้หมด หรือใช้ในการรักษาหลังผ่าตัดเพื่อเพิ่มโอกาสการหายขาด
ผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะเริ่มต้นที่ได้รับการรักษามักมีโอกาสหายขาดสูงถึง 90% ตรงกันข้ามกับผู้ป่วยระยะลุกลามไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใดส่วนใหญ่จะเสียชีวิตภายใน 1 ปี
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท 1 และ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ