เกิดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ "ศีรษะกระแทก" ปฐมพยาบาลอย่างไร?
สงกรานต์ปีนี้เตรียมไว้ดีกว่าแก้ หากเจออุบัติเหตุ หรือเป็นอุบัติเหตุเองจนศีรษะกระแทกต้องระวังอะไรบ้าง และปฐมพยาบาลอย่างไร ?
หากเล่นน้ำสงกรานต์อยู่ดีๆ แล้วสะดุดล้มศีรษะกระแทกพื้น ถูกของแข็งตกใส่ หรือศีรษะได้รับแรงกระแทกจากอุบัติเหตุ อาการที่ตามมาอาจเริ่มจากแค่ปวดศีรษะ มึนงง หรือสับสน ไปจนถึงหมดสติ หรือมีเพียงบาดแผลที่ศีรษะ เช่น แผลถลอก บวมแดง แม้อาการจะดูเล็กน้อย แต่ก็ไม่ควรมองข้าม เพราะผลกระทบที่มีต่อสมองอาจแสดงออกภายหลัง การพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กให้แน่ใจจะช่วยให้เกิดการเฝ้าระวัง ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้ดีขึ้น ทั้งนี้ การปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องก่อนถึงมือแพทย์ ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อศีรษะกระแทก
- สอบถามอาการผู้ได้รับบาดเจ็บ หากยังรู้สึกตัว เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หรือปวดศีรษะรุนแรง
- หากมีแผลเปิดที่หนังศีรษะ ให้ใช้ผ้าสะอาดกดเบาๆ เพื่อห้ามเลือด แต่หากสงสัยว่ามีกะโหลกแตก ห้ามกดแผลโดยตรง ควรใช้ผ้าสะอาดคลุมไว้
- ใช้การประคบเย็นเพื่อลดอาการบวม โดยใช้ผ้าห่อน้ำแข็ง หรือถุงเจลเย็นประคบจุดที่กระแทก ครั้งละ 10-15 นาที ทุกชั่วโมง
- ห้ามเคลื่อนย้าย หรือขยับศีรษะ คอโดยไม่จำเป็น หากสงสัยว่ามีกระดูกคอ หรือกะโหลกแตก ควรรอทีมแพทย์ช่วยเหลือ
- สังเกตอาการอย่างละเอียด หากมีอาการแขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด มีเลือดหรือน้ำไหลจากหู หรือจมูก ควรเรียกรถพยาบาลทันที โดยแจ้งอาการให้แพทย์ทราบ เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บเพิ่มเติม
- ห้ามดื่มน้ำหรือกินยาเอง เพราะอาจสำลักหรือทำให้อาการแย่ลง ควรรอคำแนะนำจากแพทย์
อันตรายจากการบาดเจ็บภายในสมองหลังจากศีรษะกระแทก
การบาดเจ็บภายในสมองที่เกิดจากการกระแทกศีรษะอาจนำไปสู่อันตรายหลายประการ โดยเฉพาะเมื่อได้รับบาดเจ็บมีความรุนแรง เช่น
- เลือดออกในสมอง (Intracranial Hemorrhage) อาจเพิ่มความดันภายในกะโหลกศีรษะ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรง ซึมลง ชัก หรือแขน ขาอ่อนแรง หากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่อาการหมดสติ
- สมองบวม (Cerebral Edema) เกิดจากการสะสมของของเหลวในเนื้อสมอง ทำให้ความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่ามัว หรือหมดสติ หากความดันสูงมาก อาจกดทับก้านสมอง ส่งผลต่อระบบหายใจ และการทำงานของหัวใจ
การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและอารมณ์ การบาดเจ็บที่สมองอาจส่งผลต่อสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรม ทำให้เกิดอาการสับสน หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน หรือมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับผู้อื่น
การบาดเจ็บที่สมองส่วนหน้าหรือสมองกลีบขมับ อาจส่งผลต่อความจำ การพูด หรือการควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดภาวะความจำเสื่อม พูดติดขัด หรือเสียการทรงตัวความเสี่ยงต่อโรคในระยะยาว เช่น โรคสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน หรือโรคลมชัก
อาการที่ต้องเฝ้าระวัง ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที?
หลังได้รับการปฐมพยาบาล หรือการตรวจรักษาจากแพทย์แล้ว ยังควรเฝ้าสังเกตอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 72 ชั่วโมง เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นภายหลัง โดยควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจกระทบต่อสมอง เช่น การออกกำลังกายหนัก การขับขี่ยานพาหนะ การรับประทานยาที่มีฤทธิ์กดประสาท หรือการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งอาการที่ต้องเฝ้าระวังประกอบไปด้วย
- อาการทางระบบประสาท
- ปวดศีรษะรุนแรงที่ไม่ทุเลา หรือปวดจนตื่นกลางดึก
- อาเจียนพุ่ง หรืออาเจียน ต่อเนื่องมากกว่า 5 ครั้ง
- ชัก เกร็งกระตุก หรือหมดสติ
- ความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและพฤติกรรม
- สับสนรุนแรง พูดไม่ชัด สื่อสารลำบาก
- ง่วงซึมผิดปกติ ปลุกไม่ตื่น
- ความจำเสื่อมชั่วคราว จำเหตุการณ์ก่อนหรือหลังได้รับการกระแทกศีรษะไม่ได้
- ความผิดปกติทางร่างกาย
- แขนขาอ่อนแรง ชา เดินเซ เสียการทรงตัว หรือสูญเสียความรู้สึก
- ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน
- อาการแสดงการบาดเจ็บรุนแรง
- มีน้ำใส หรือน้ำใสปนเลือดไหลจากหู หรือจมูก
- กะโหลกศีรษะแตกร้าว หรือยุบ
- ปวดต้นคอมาก ขยับคอไม่ได้
- สัญญาณติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อน
- มีไข้สูงเกิน 5°C
- ชีพจรเต้นช้าผิดปกติ
อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุศีรษะกระแทกอาจดูไม่รุนแรง แต่หากละเลยการสังเกตอาการ หรือปฐมพยาบาลผิดวิธี อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ควรเฝ้าสังเกตอาการ หากพบอาการรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ทันที รพ.พญาไท พหลโยธิน มีทีมแพทย์เฉพาะทางพร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการตรวจวินิจฉัย ช่วยให้การประเมินอาการเป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำ ผู้ป่วยจึงได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที เพิ่มโอกาสการฟื้นตัวเร็วที่เร็วขึ้น และลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้มาก
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน