“หัวใจขาดเลือด” เปิดสัญญาณภัยเงียบอันตราย เสี่ยงเสียชีวิตเฉียบพลัน
เปิดสัญญาณ “โรคหัวใจขาดเลือด” ที่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน เสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจตาย ควรพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก
“หัวใจ” อวัยวะที่เปรียบเสมือนศูนย์กลางของร่างกาย ที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ หากทำงานผิดปกติ แน่นอนว่า ระบบอวัยวะต่างๆ ในร่างกายอาจเสียหาย และนานไปย่อมเข้าขั้นวิกฤตเป็นแน่
“โรคหัวใจขาดเลือด” เกิดจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีเลือดไปเลี้ยงลดลงหรือไม่มีเลย เป็นผลทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หากรุนแรงหรือเกิดอย่างฉับพลันอาจถึงขั้นทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายและเสียชีวิตได้

อาการแบบนี้ เสี่ยงหัวใจขาดเลือด
- อาการเจ็บหน้าอกเหมือนถูกบีบรัด หรือกดทับ
- อาการเจ็บหน้าอกปวดร้าวไปกราม สะบักหลัง แขนซ้าย และหัวไหล่
- เหงื่อออก หน้าซีด เหมือนจะเป็นลม
- จุกบริเวณคอหอย ซึ่งบางรายอาจมีอาการจุกบริเวณใต้ลิ้นปี่
บางอาการอาจทำให้สับสนกับบางโรคได้ เช่น โรคกรดไหลย้อน หรือ กระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ ฉะนั้นเราไม่ควรชะล่าใจ! หากมีอาการอะไรก็ตาม อย่าปล่อยทิ้งไว้นาน ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องชัดเจน
วิธีรักษาหัวใจขาดเลือด
โรคหัวใจขาดเลือด จะแตกต่างไปตามระดับความรุนแรงของโรค ซึ่งต้องผ่านการตรวจวินิจฉัย และอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น ซึ่งการรักษาจะมีอยู่หลายแบบ เช่น
- รักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ เช่น เลิกสูบบุหรี่ เว้นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- รักษาโดยการใช้ยา โดยรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์
- รักษาโดยหัตถการสวนหลอดเลือดหัวใจหรือใส่ขดลวด (Stent) เข้าไป เพื่อขยายหลอดเลือดหัวใจตีบให้ทำงานได้ปกติ
- รักษาโดยการผ่าตัดบายพาสหัวใจ หรือ การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Graft – CABG) คือ การต่อหลอดเลือดใหม่ให้กับเส้นเลือดหัวใจ เพื่อเลี่ยงตำแหน่งที่มีการตีบหรือตัน ซึ่งจะทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีขึ้น
หากเราหมั่นตรวจสุขภาพ “หัวใจ” เป็นประจำทุกปี สังเกตความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ หากมีสัญญาณบ่งชี้ถึงโรคหรือมีภาวะเสี่ยง ก็ควรรีบเข้ามาพบแพทย์เฉพาะทางโดยเร็วที่สุด ถ้ารู้เร็ว พบแพทย์เร็ว รักษาได้ทันเวลา ความรุนแรงของโรคก็จะเบาบางลงได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์