แนะวิธีดูแลสุขภาพ "ฟันเด็ก" ลดผุ ไม่ถูกถอนก่อนกำหนด
ดูแลสุขภาพช่องปากลูกตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรก ช่วยใฟ้ฟันแข็งแรงไม่ส่งผลกระทบถึงตอนโต
ผู้ปกครองต้องใส่ใจ 4 เรื่องหลัก คือ การกิน การทำความสะอาด การมาพบทันตแพทย์ และการใช้ฟลูออไรด์ ควรมาพบทันตแพทย์เด็กภายใน 6 เดือน หลังจากฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น (ฟันน้ำนมจะขึ้นภายใน 6 เดือน ) หลังจากนั้นภายใน 1 ขวบควรมาพบทันตแพทย์เพื่อแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพช่องปาก ก่อนที่จะสายเกินแก้ เพราะหากทิ้งไว้เกิน 1 - 2 ปี โดยไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องอาจทำให้เกิดฟันผุนอกจากนี้ สุขภาพฟันที่ดียังเกี่ยวข้องกับอาหาร และการทำความสะอาดอีกด้วย
วิธีเตรียมตัว "เด็ก-ผู้ปกครอง" ก่อนพาลูกน้อยไปหา "หมอฟัน"
"นมแม่" มหัศจรรย์แห่งภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติของ "ลูกน้อย"
การทำความสะอาดฟันที่เหมาะสม ตามช่วงวัย
- ฟันยังไม่ขึ้น ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำต้มสุกเช็ดภายในช่องปาก
- เทคนิคการแปรงฟันสำหรับเด็กให้สะอาดด้วยท่านอนแปรงฟัน โดยใช้มือ 1 ข้างดึงรั้งกระพุ้งแก้ม และอีก 1 ข้างใช้แปรงฟัน
- เริ่มมีฟัน สามารถใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ได้เลย แนะนำให้ฟันได้สัมผัสกับฟลูออไรด์ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง (เช้า และก่อนนอน) และใช้ปริมาณยาสีฟันให้เหมาะสมกับช่วงอายุ
- อายุต่ำกว่า 2 ขวบ ใช้ยาสีฟันปริมาณ เท่าเม็ดข้าว 1 จุดเล็กๆ
- อายุ 3 - 6 ขวบ ใช้ยาสีฟันปริมาณเท่ากับเมล็ดถั่วลันเตา เนื่องจากเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบ ยังควบคุมการกลืนไม่ได้ หากกลืนลงไปมากๆ หรือเผลอกลืนลงไปอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ปวดท้อง หรือมีการสะสมของฟลูออไรด์มากเกินไป
- อายุ 6 ปี ขึ้นไป ใช้ยาสีฟันปริมาณ 1 นิ้ว
ลดการเกิดฟันผุ กับการกินที่พอดี
• วัยกินนม เริ่มตั้งแต่แรกคลอด – 2 ขวบ การกินนมถี่ๆ หรือกินมื้อดึก ต้องหมั่นทำความสะอาด เพราะอาจทำให้ฟันผุได้
• วัยอนุบาล เป็นวัยที่มีโอกาสฟันผุสูงเพราะยังดูแลตัวเองไม่ค่อยได้ เริ่มเปลี่ยนจากนมมาเป็นข้าว เริ่มรู้จักของหวาน พฤติกรรมการกินถี่ๆ และบ่อยครั้ง มักชอบอาหารจากแป้ง และน้ำตาล ที่เสี่ยงทำให้เกิดฟันผุได้มากกว่าอาหารทั่วไป แนะนำจำกัดการทานเฉพาะหลังมื้ออาหาร เพื่อช่วยให้กินได้จบตามรอบมื้ออาหาร โดยน้ำลายที่หลั่งออกมาในช่วงเคี้ยวข้าวก็ช่วยชะล้าง ลดโอกาสฟันผุได้ ที่สำคัญต้องพยายามไม่ให้เด็กกินจุกจิก หากหลีกเลี่ยงการทานระหว่างมื้อไม่ได้ ต้องงดแป้ง และน้ำตาล ปรับมาเป็นผลไม้ นมสด (รสจืด) แทน
ละเลยการดูแลฟันน้ำนม มีผลอะไรตอนโต
จะผลกระทบตั้งแต่ฟัน ไปจนถึงร่างกาย หากละเลยปล่อยให้ฟันน้ำนมผุ ลุกลามจนถึงมีอาการปวดฟัน เคี้ยวข้าวไม่ได้ดี ทำความสะอาดไม่ได้ ยิ่งทำให้มีโอกาสสะสมเชื้อกลายเป็นหนองในช่องปาก ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเด็ก ไม่ว่าอาการปวดฟันจนเรียนไม่ได้ หรือนอนไม่หลับ และเมื่อฟันน้ำนมถูกถอนก่อนกำหนด ช่องว่างที่ถูกถอนอาจทำให้ฟันแท้เรียงตัวได้ไม่ดี เกิดฟันซ้อน ฟันเก รวมถึงส่งผลต่อโครงสร้างใบหน้า และพัฒนาการของเด็กตามมา
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน