ปชช.สิทธิบัตรทอง 9 รพ.ถูกยกเลิกสัญญา เลือกหน่วยบริการใหม่ได้ 10 ต.ค.
กทม.พร้อมรองรับ ปชช.สิทธิบัตรทองใน 9 โรงพยาบาลเอกชนที่ถูกยกเลิกสัญญา เผยมีหน่วยบริการปฐมภูมิฯครอบคลุมให้ประชาชน 2.2 แสนคน ให้เลือกใหม่ได้ 10 ต.ค.นี้
จากกรณีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกสัญญาการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิประจำ และรับส่งต่อทั่วไปกับโรงพยาบาลเอกชนรวม 9 แห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา กระทั่งต่อมามีการแจ้งประชาชนที่มีสิทธิ์บัตรทองและได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญา สามารถลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการปฐมภูมิ ประจำแห่งใหม่ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไปนั้น
สปสช.แจง 'ไม่ได้ยกเลิกสิทธิบัตรทอง' แต่ยกเลิกสัญญา 9 รพ.เอกชนเหตุเบิกจ่ายเงินไม่ถูกต้อง
กทม.-สปสช.ร่วมจัดหา รพ. รองรับคนถูกยกเลิกสิทธิบัตรทองจาก 9 รพ.เอกชน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2565 ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ประชาชนที่ใช้บริการปฐมภูมิ/ประจำที่ได้รับผลกระทบจากการที่ สปสช.ยกเลิกสัญญากับโรงพยาบาลเอกชน 9 แห่ง ได้แก่
- รพ.มเหสักข์
- รพ.บางนา 1
- รพ.ประชาพัฒน์
- รพ.นวมินทร์
- รพ.เพชรเวช
- รพ.ผู้สูงอายุกล้วยน้ำไท 2
- รพ.แพทย์ปัญญา
- รพ.บางมด
- รพ.กล้วยน้ำไท
มีประมาณ 2.2 แสนคน และจำนวนนี้มีผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับยาต่อเนื่องประมาณ 2 หมื่นคน และยังมีผู้ป่วยที่มารับบริการปฐมภูมิเป็นประจำ อีกประมาณ 4,000 คน
นอกจากนี้ ในจำนวนดังกล่าวยังมีผู้ป่วยที่อยู่ในระบบรับส่งต่ออีกประมาณ 6 แสนคน ซึ่งศักยภาพโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครอยากรับดูแลไว้ทั้งหมด แต่หากรับมาจะมีผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วยที่ครองเตียงอยู่ในขณะนี้ จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ กทม.มีโควตารับผู้ป่วยส่งต่อจากกลุ่มนี้ได้ประมาณ 30% แต่กำลังพิจารณาขยายจำนวนรับเพิ่ม อย่างไรก็ตาม สปสช.ได้ประสานโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือสังกัดอื่นๆ เพื่อขยายการรับผู้ป่วยส่งต่อเช่นกัน
ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน กทม.มีโรงพยาบาลในสังกัด รวม 12 แห่ง มีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขสาขาอีก 73 แห่ง รวมถึงคลินิกชุมชนอบอุ่น ร้านยาชุมชนอบอุ่น อีกหลายร้อยแห่ง ขณะเดียวกัน กทม.กำลังประสานกับ สปสช. เพื่อร่วมกันขยายหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิต่างๆ เช่น การชักชวนร้านยาเข้าร่วมโครงการร้านยาชุมชนอบอุ่นให้มากขึ้น หลังจากปัจจุบัน มีร้านยาในพื้นที่กรุงเทพฯ เข้าร่วมประมาณ 200 แห่ง ซึ่งคาดว่าหากมีร้านยาสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมอีก 1 เท่าตัว จะทำให้กรุงเทพฯ มีหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่สามารถดูแลประชาชนสิทธิ์บัตรทองในการบริการสุขภาพปฐมภูมิกลุ่มโรคพื้นฐานได้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะจะมีหน่วยบริการมากกว่า 700 แห่ง
ยอมรับว่า ไม่สามารถรับส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองจากทั้งโรงพยาบาลเอกชน 9 แห่งทั้งหมดได้ แต่หากเป็นการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ ที่มีหน่วยบริการกระจายอยู่ทุกพื้นที่ ประชาชนที่มีสิทธิบัตรทองสามารถลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการปฐมภูมิแห่งใหม่ได้เลยตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2565 นี้ ซึ่งหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ มีครอบคลุมอย่างแน่นอน
ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวอีกว่า หากมีการขยายหน่วยบริการเพิ่มเติม จะยิ่งช่วยให้การบริการสุขภาพระดับทุติยภูมิ และระดับตติยภูมิ รวมไปถึงการรักษาผู้ป่วยที่โรคซับซ้อนในโรงพยาบาลมีประสิทธิภาพดีขึ้นเช่นกัน เพราะประชาชนที่ป่วยไข้ หรือมีอาการเบื้องต้น สามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิได้เลย ขณะที่โรงพยาบาลก็จะได้ดูแลผู้ป่วยอาการหนัก หรือที่มีอาการซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่
1. สายด่วน สปสช. 1330
2. ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือ คลิก
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
สปสช. บรรจุ“บริการป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย” ป้องกันตั้งครรภ์ไม่พร้อม
อัปเดต! สิทธิรักษาโควิด-19 หลังเปลี่ยนผ่านโควิด 1 ต.ค.นี้