สปสช. เตือนห้ามนำถุงยางอนามัยแจกฟรีไปขายต่อ ย้ำดำเนินคดีถึงที่สุด
สปสช. เตือนห้ามนำถุงยางอนามัยแจกฟรีไปขายต่อออนไลน์ ย้ำหากพบจะดำเนินการทางกฎหมายจนถึงที่สุดแนะประชาชนอย่าไปเสียเงินซื้อเพราะสามารถไปขอรับได้ฟรีอยู่แล้ว
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเมื่อเร็วๆนี้ พบว่ามีผู้นำถุงยางอนามัยที่ สปสช. แจกฟรี ไปขายบนแพล็ตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ชื่อดังในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด จึงขอแจ้งว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการนำสิ่งของที่รัฐแจกฟรีให้แก่ประชาชนมาแสวงผลประโยชน์โดยมิชอบและมีความผิดตามกฎหมาย และขอเตือนให้หยุดการกระทำดังกล่าวโดยเร็ว มิเช่นนั้น สปสช. จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
รับวาเลนไทน์! สปสช. เดินหน้าแจกยาคุมกำเนิด-ถุงยางอนามัย ฟรี! ผ่านแอปเป๋าตัง
เช็ก! สิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค คนไทยทุกคนใช้ได้ ผ่านแอปเป๋าตัง ฟรี!
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การแจกถุงยางอนามัยนั้น เป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่ สปสช. จัดให้แก่ชายไทยทุกสิทธิ ควบคู่ไปกับการแจกยาคุมกำเนิดและยาคุมฉุกเฉินแก่สตรีวัยเจริญพันธุ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ซึ่งทั้งถุงยางอนามัยและยาคุมกำเนิด สปสช. แจกให้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ดังนั้น การฉวยโอกาสนำถุงยางอนามัยที่ได้รับฟรีมาขายต่อ จึงเป็นการกระทำที่ผิดวัตถุประสงค์ เอาเปรียบเบียดบังเอาสิ่งของที่ได้มาจากภาษีส่วนรวมมาหาผลประโยชน์โดยมิชอบทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า ขอให้ผู้ที่กระทำการในลักษณะนี้หยุดการกระทำโดยทันที หากพบว่ายังมีการนำถุงยางอนามัยที่ได้รับแจกฟรีมาขายต่ออีก สปสช. จะพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายจนถึงที่สุด ซึ่งขอเตือนว่าเป็นเรื่องที่ไม่คุ้ม ท่านอาจจะขายของได้เพียงหลักสิบหลักร้อยบาท แต่เมื่อถูกฟ้องร้องขึ้นมา ท่านอาจจะเสียทั้งเงินและอาจถึงขั้นติดคุกด้วย
พิกัด-ช่องทางรับฟรี! “ยาคุมกำเนิด-ถุงยาง” ป้องกันตั้งครรภ์-โรคติดต่อ
ในส่วนของประชาชนผู้ที่ต้องการใช้ถุงยางอนามัย ขอแนะนำว่าไม่ควรอุดหนุนการกระทำดังกล่าวด้วยเช่นกัน เพราะแม้ถุงยางที่นำมาขายจะมีราคาต่ำกว่าราคาที่ขายเป็นการทั่วไป แต่จริงๆแล้วท่านสามารถขอรับถุงยางอนามัยได้ฟรีโดยไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว โดยสามารถลงทะเบียนใช้สิทธิในเมนู “ประเป๋าสุขภาพ” ในแอปฯเป๋าตัง แล้วเลือกหน่วยบริการในระบบบัตรทองเพื่อไปรับถุงยางอนามัยได้ ทั้งคลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรม ร้านยา หน่วยบริการปฐมภูมิ คลินิกการพยาบาล รพ.สต. หรือในกรณีที่ไม่มีสมาร์ทโฟนก็สามารถนำบัตรประชาชนมาลงทะเบียนเพื่อรับยาคุมกำเนิด ณ หน่วยบริการในระบบบัตรทองได้เช่นกัน โดยสามารถรับได้ครั้งละ 10 ชิ้นต่อคน/สัปดาห์ และไม่เกิน 52 ครั้ง/คน/ปี โดยมีให้เลือก 4 ไซส์ คือ 49 มม., 52 มม., 54 มม. และ 56 มม.
ภาพ/ข้อมูลจาก : สปสช.
Safe Sex วาเลนไทน์ ป้องกันท้องก่อนวัย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์