แพทย์ มช.ชี้ฝุ่น PM 2.5 ทำเลือดกำเดาไหลเพิ่ม 2 เท่า
แพทย์ มช.เตือนสูดดม PM 2.5 กระตุ้นเลือดกำเดาไหลง่าย ในเดือน ก.พ.-มี.ค. พบผู้ป่วยเลือดไหลไม่ทราบสาเหตุเพิ่มขึ้นแล้ว 2 เท่า
สถานการณ์ฝุ่นที่ภาคเหนือวันนี้ (19 มีนาคม 2567) ยังคงพุ่งสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ หรือแม้กระทั่งที่จังหวัดพะเยา ที่วันนี้จะมีประชุม ครม.สัญจร
โดยกรมควบคุมมลพิษรายงานค่าฝุ่น PM 2.5 สะสม 24 ชั่วโมง ณ เวลา 8.00 น. ที่ผ่านมา พบว่าที่จังหวัดพะเยาที่มีการประชุม ครม.สัญจรวันนี้ มีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในโซนสีแดง 99.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

เช่นเดียวกับจังหวัดเชียงใหม่ ที่ฝุ่น PM 2.5 ยังวิกฤตหนัก อยู่ในโซนสีแดงเกือบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะที่ ต.เมืองนะ อำเภอเชียงดาว เช้าวันนี้พบค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 157.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
โดยข้อมูลการรักษาพยาบาล ด้าน โสต ศอ นาสิกวิทยา ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่เลือดกำเดาไหล โดยไม่ทราบสาเหตุ เพิ่มขึ้นสองเท่าในผู้ป่วยปกติ และพบว่าผู้ป่วยที่มีโรคร่วม จะมีอาการหนักกว่าคนอื่นๆ ซึ่งน่าเป็นห่วง
รศ.พญ.กรรณิการ์ รุ่งโรจน์วัฒนศิริ หัวหน้าภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปกติแล้วบริเวณเยื่อบุในจมูกคนเราจะมีเลือดมาเลี้ยงเยอะอยู่แล้ว หากสูดเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไป จะทำให้เกิดการอักเสบบริเวณเยื่อบุในช่องจมูกและไปกระตุ้นทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีโอกาสเลือดกำเดาไหลง่ายกว่าผู้ใหญ่ บางคนเป็นมาก ไม่สามารถห้ามเลือดได้ ก็ต้องใส่วัสดุห้ามเลือดเข้าไปในช่องจมูก เพื่อช่วยให้เลือดหยุดไหล
ทั้งนี้ ขอเตือนว่านอกจากเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 4 ขวบแล้ว หรือกลุ่มผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจแล้ว กลุ่มคนท้อง หรือตั้งครรภ์ มีอันตรายเช่นกัน เพราะหากสูดดมฝุ่นเข้าไปมากๆ มีโอกาสที่ทารกในครรภ์จะได้รับผลกระทบ
สำหรับค่าฝุ่น PM 2.5 สะสม เมื่อเวลา 9.00 น. จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ พบมากที่สุด ในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 162.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร
รองลงมาเป็นที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 161.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร, อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน 158.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร, อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน 130.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร และ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 125 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร
ส่วนค่าฝุ่น PM 2.5 เมื่อเวลา 9.00 น.ในพื้นที่ กทม.พบคุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง ที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร โดยอยู่ที่เขตสัมพันธวงศ์ 39.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร