แพทย์แผนไทย แนะใส่ใจสุขภาพพระสงฆ์ช่วงเข้าพรรษา ถวายอาหารและยาสมุนไพร
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะพุทธศาสนิกชน ใส่ใจสุขภาพพระสงฆ์ช่วงเข้าพรรษา เลือกถวายอาหารและยาที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรไทย
นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงระหว่างตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ในช่วงเข้าพรรษานี้จะตรงกับช่วงฤดูฝน ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย เรียกว่า วสันตฤดู สภาพอากาศจะมีความหนาวเย็นและชื้น หากกระทบร่างกายจะส่งผลให้ธาตุในร่างกายโดยเฉพาะธาตุลม เสียสมดุลเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย เช่น มีอาการหวัด คัดจมูก ไอ จาม ท้องอืด ท้องเฟ้อ วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ตาลาย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นต้น
เปิดประวัติ และความสำคัญของ "วันอาสาฬหบูชา" และคำว่า "อาสาฬหบูชา"
รวมงานบุญใหญ่ "อาสาฬหบูชา - เข้าพรรษา" และพิกัด "แห่เทียนพรรษา" ทั่วไทย ปี 2567
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
อาหารพระสงฆ์

อาหารที่เหมาะแก่การถวายพระสงฆ์ในช่วงเข้าพรรษา
- อาหารที่มีสมุนไพร รสร้อนเป็นส่วนประกอบ เช่น พริก พริกไทย หอมแดง กะเพรา ขมิ้นขาว ข่า ขิง ตะไคร้ กระชาย ช้าพลู สามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น แกงป่า แกงส้ม ต้มยำ น้ำพริกคู่ผักเคียง ไก่ผัดขิง แกงเลียง เมี่ยงคำ ที่สำคัญควรเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานจัด มันจัด และอาหารที่ย่อยยาก เพราะเป็นสิ่งกระตุ้นให้ธาตุลมในร่างกายแปรปรวนและเสียสมดุลมากยิ่งขึ้น
ยาสมุนไพรเหมาะถวายพระสงฆ์เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วย
- ยาขิง ใช้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด
- ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ
- ยาปราบชมพูทวีป บรรเทาอาการหวัดในระยะแรก และอาการที่เกิดจากการแพ้อากาศ
- ยาธาตุอบเชย บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม
- ยาจันทลีลา บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู
- ยาหอมนวโกฐ แก้วิงเวียนศีรษะ ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก
- ครีมไพล/ยาหม่องไพล ใช้ทาบรรเทาอาการปวดเมื่อย
นอกจากการเสริมด้วยสมุนไพรที่ช่วยดูแลสุขภาพพระสงฆ์แล้ว ควรลดการปรุงอาหารด้วยน้ำมันเปลี่ยนเป็นการนึ่ง ต้ม ตุ๋นแทน ลดการปรุงอาหารรสจัดลง ทั้งหวานจัด เค็มจัด เพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์