กรมควบคุมโรค เผยเฝ้าระวังโรคภัย พบค่าฝุ่นPM2.5 เกินมาตรฐานหลายพื้นที่
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์โรคภัยในไทยพบผู้ป่วยโควิดสูงขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ช่วงเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา พบค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานหลายพื้นที่ แนะวิธีรับมือโรคและภัยสุขภาพช่วงหน้าหนาว
แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ดำเนินการแถลงข่าวในหัวข้อ “หน้าหนาว อุ่นใจ ปลอดภัย ห่างไกลโรค” พร้อมแนะแนวทางการรับมือโรคและภัยสุขภาพในช่วงฤดูหนาวปีนี้
- โควิด 19 พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม - 2 พฤศจิกายน 2567 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 41,142 ราย เสียชีวิต 214 ราย
โควิด-19 รอบสัปดาห์ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 549 ราย ยังพบรายงานผู้ป่วยหนัก
เห็นชอบจัดชุดเครื่องมือ หนุน อสม.ทั่วประเทศ ควบคุมป้องกันโรคNCDs
โดยระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 549 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุ
- ไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 26 ตุลาคม 2567 มีผู้ป่วย 595,855 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็ก และวัยเรียน พบผู้เสียชีวิต 47 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว และไม่ได้รับวัคซีน
- โรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ตุลาคม 2567 มีรายงานผู้ป่วยปอดอักเสบ จาก เชื้อไวรัสอาร์เอสวี 6,934 ราย
- ไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 ตุลาคม 2567 พบผู้ป่วย 92,203 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กวัยเรียน เสียชีวิต 96 ราย มาตรการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายยังเป็นสิ่งที่ต้องเน้นย้ำ พร้อมกับเน้นงดจ่ายยากลุ่ม NSAIDs แก่ผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคไข้เลือดออก ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายเลือดออกในทางเดินอาหาร ขอแนะนำให้ประชาชนและผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออกทายากันยุง เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด และป้องกันการแพร่เชื้อไข้เลือดออกสู่บุคคลในครอบครัวและชุมชน
สำหรับโรคและภัยสุขภาพอื่นๆ ที่ต้องติดตามในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวนี้ ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 การเสียชีวิตจากภาวะอากาศหนาว การขาดอากาศหายใจและการสูดดมแก๊สพิษ จากเครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้ระบบแก๊ส และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน
ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ระหว่างวันที่ 1-31 ตุลาคม 2567 พบว่ามีค่าฝุ่น PM2.5 ระหว่าง 3-61 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมี 20 จังหวัดที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน (มากกว่า 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) นอกจากนี้ยังพบว่าจังหวัดที่มีค่าฝุ่นสูงที่สุด คือ จังหวัดกาญจนบุรี (วันที่ 8 ต.ค.67) กลุ่มเสี่ยงที่เป็นกลุ่มเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ควรติดตามสถานการณ์ฝุ่นอย่างใกล้ชิด เมื่อมีคำเตือนค่าฝุ่น PM2.5 สูง ควรปฏิบัติตนตามมาตรการ “หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด” หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 เลี่ยงกิจกรรมภายนอกอาคาร ลดการใช้รถยนต์และการเผาทุกชนิด
การเสียชีวิตจากภาวะอากาศหนาว จากรายงานการเฝ้าระวังสถานการณ์การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว ระหว่างปี 2558-2567 พบว่ามีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 242 ราย สูงสุดในช่วงเดือนธันวาคม - มกราคม จึงขอเน้นย้ำประชาชนเตรียมความพร้อมดูแล ส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง สวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจเป็นปัจจัยเสริมให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตในช่วงภาวะอากาศหนาวมากขึ้น
การขาดอากาศหายใจและการสูดดมแก๊สพิษ จากเครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้ระบบแก๊ส จากข้อมูลระหว่างปี 2551 - ตุลาคม 2567 พบว่ามีรายงานทั้งสิ้น 34 เหตุการณ์ เป็นผู้ป่วย 41 ราย เสียชีวิต 10 ราย เน้นย้ำคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินหายใจ ควรให้ความระมัดระวังมากขึ้น เพราะหากได้รับแก๊สดังกล่าวจะทำให้เสียชีวิตได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่นๆ และควรสังเกตอาการที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับแก๊สระหว่างใช้ห้องน้ำ เช่น วิงเวียน หน้ามืด หายใจลำบาก ควรรีบออกจากห้องน้ำหรือให้การช่วยเหลือทันที
โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน จากข้อมูลกองระบาดวิทยา พบว่า กลุ่มเด็กที่มีอายุ 5-9 ปี ร้อยละ 57.89 ตรวจพบเชื้อไวรัสก่อโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันมากที่สุด แนะนำให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลงานบุญ งานกฐิน ที่ประชาชนต้องมีการจัดเตรียมอาหารทำบุญ และมีการเดินทางเป็นหมู่คณะ โรคและภัยสุขภาพที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ อาหารเป็นพิษ ซึ่งต้องยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” และต้องล้างมือ ด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงประกอบอาหารสำหรับการเดินทาง แนะนำให้คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งตลอดการเดินทาง ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงการเดินทางในเวลากลางคืน เนื่องจากทัศนวิสัยอาจไม่ดี เป็นเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
สำหรับเทศกาลลอยกระทงที่จะมาถึง มีให้ระวังเรื่องการจุดพลุ ประทัด ทั้งนี้ สถานการณ์พลุ ประทัดระเบิด ตั้งแต่ปี 2562 - 2566พบผู้บาดเจ็บ 4,225 ราย และเสียชีวิต 10 ราย จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนระมัดระวัง ควรออกห่างจากบริเวณที่มีการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ หรือพลุ หากเกิดอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บให้โทร 1669 และรีบส่งโรงพยาบาล ให้เร็วที่สุด และในช่วงเทศกาลลอยกระทง เนื่องจากวัยรุ่นอาจมีการแสดงแสดงออกการเป็นคู่รัก แนะนำให้ป้องกันตนเอง ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง สังเกตและหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีผื่น แผล ตุ่ม หนองสงสัย หากมีความเสี่ยงแนะนำให้ปรึกษาและรับการตรวจที่คลินิกทันที
สถานการณ์โรคระบาดในต่างประเทศที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ โรคไข้หวัดนก ยังพบมีรายงานเป็นระยะ โดยเฉพาะสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่ยังจำกัดความสามารถติดต่อจากคนสู่คน ข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก (WHO) มีรายงานพบเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ในฟาร์มสัตว์ปีก ในเมืองดงแฮ จังหวัดคังวอนโด สาธารณรัฐเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 และเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 มีรายงานคนงานฟาร์มสัตว์ปีกในรัฐวอชิงตัน ติดเชื้อ 9 ราย ผู้ติดเชื้อ 3 รายยืนยันว่าทั้งหมดเป็นไวรัสไข้หวัดนกชนิด A (H5N1) สำหรับประเทศไทย พบผู้ป่วยรายสุดท้าย เมื่อปี 2549 ทั้งนี้ ยังคงเน้นย้ำประชาชน ให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ปีก ไข่ และผลิตภัณฑ์จากโคนม หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก สุกร หรือโคนมที่ป่วยหรือตาย หากต้องสัมผัสกับสัตว์ปีก สุกร หรือโคนม ควรสวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ และล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัส หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ หรือตาแดงอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยงดังกล่าวให้แพทย์ทราบ