คนไทยสุขภาพจิตแย่ลง! ป่วยโรคเฝ้าระวังเพิ่ม -วัยรุ่นติดซิฟิลิสพุ่ง 3 เท่า
ไตรมาสที่ 1 ปี 68 โรคเฝ้าระวังพุ่ง 64% ไข้หวัดใหญ่-ปอดอักเสบระบาด สุขภาพจิตคนไทยแย่ลง ซึมเศร้า-เครียด-เสี่ยงฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยว่า สถานการณ์แรงงาน ไตรมาสที่ 1 ปี 2568 พบ การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง เพิ่มขึ้น จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2567 64.1% หรือเพิ่มจาก 259,672 ราย เป็น 426,286 ราย โดยโรคที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด 2 ลำดับแรก ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดอักเสบ ทั้งนี้ ผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่มีจำนวนสูงสุด 267,952 ราย เพิ่มขึ้นจาก ช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 2.2 เท่า และระบาดต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2567

- โรค COVID-19 ที่มีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เป็นกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว)
- โรคไข้ดำแดงในเด็ก ปี 2568 ( 1ม.ค.-30 เม.ย.) พบผู้ป่วย 3,072 รายเพิ่มขึ้นจากปี 2567 ถึง 96 เท่าและสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะโรคซิฟิลิส และโรคเอชไอวี (HIV) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยโรคซิฟิลิสมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 9,101 ราย ในปี 2562เป็น 27,686 ราย ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนอายุ 15 - 24 ปี ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจาก 3,767 ราย ในปี 2562 เป็น 14,627 ราย ในปี 2567 ขณะที่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 พบผู้ป่วยแล้วกว่า 12,429 รายเช่นเดียวกับการติดเชื้อโรคเอชไอวี HIV ที่คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 8,862 ราย

- การแพร่ระบาดของโรคไข้ดำแดงในเด็ก ปี 2568 ( 1ม.ค.-30 เม.ย.) พบผู้ป่วย 3,072 รายเพิ่มขึ้นจากปี 2567 ถึง 96 เท่าและสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา
- การสัมผัสหรือทานเนื้อวัวดิบอาจติดเชื้อแอนแทรกซ์ (30 เม.ย. - 6 พ.ค.) พบผู้ป่วย 4 ราย และมีผู้เสียชีวิตที่จังหวัดมุกดาหาร 1 ราย
สถานการณ์ด้านสุขภาพจิตของคนไทย จากข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตของคนไทย (Mental Health Check In: MHCI ไตรมาสหนึ่ง ปี 2568 ซึ่งมีผู้เข้ารับการประเมินจำนวน 4.6 แสนคน พบสัดส่วนผู้ที่เสี่ยงซึมเศร้า สูงสุดที่ร้อยละ 9.6 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีสัดส่วนร้อยละ 8.9 ขณะที่ผู้ที่มีความเครียดสูงมีสัดส่วน ร้อยละ 9.2 และเสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 5.4