“เพื่อไทย” ซัด รัฐจัดงบปี 65 ผิดทิศผิดทาง ผิดที่ผิดเวลา เหตุ ตัดงบโควิดออก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




“เพื่อไทย” จัดเสวนา  “งบ 65 ผิดทิศผิดทาง ผิดที่ผิดเวลา”  โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจร่วมวิพากษ์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2565 

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู รองหัวหน้าพรรค ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล  รองเลขาธิการ และผอ.ศูนย์นโยบาย  นายจักรพงษ์ แสงมณี นายทะเบียนและทีมเศรษฐกิจ

โดยนายพิชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มีพฤติกรรมการบริหารประเทศด้วยการ “ถูกด่า” วันนี้จึงขอทำหน้าที่ตั้งข้อสังเกต วิจารณ์การตั้งงบประมาณปี 65 และ พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท  ซึ่งมีปัญหา 5 ข้อ คือ

โร่แจงยิบ 3 ปม ทำคนเข้าใจคลาดเคลื่อน งบปี 65 "กลาโหมมากกว่าสาธารณสุข?"

พท.ซัด กองทัพตั้งงบปี 65 ไม่สนโควิด-19 ระบาด

 

1.ล้มเหลว รัฐบาลบริหารมาแล้ว 7 ปี แต่เศรษฐกิจไม่ขยายตัว ทำให้การจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า จึงต้องตัดลดงบประมาณปี 65 และออก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทเพิ่มเติม นอกจากจะสร้างหนี้ให้กับประเทศแล้ว ยังสวนทางกับการเร่งฟื้นฟูพัฒนาประเทศอีกด้วย

2.เสื่อมถอย รัฐบาลเน้นกู้มากกว่าลงทุน และการกู้เกือบทั้งหมดก็เป็นการกู้มาใช้ ส่อเป็นงูกินหาง ทำเศรษฐกิจประเทศล้มครืน

3.หนี้ล้น รัฐบาลหารายได้ไม่เป็น และ “ดีแต่กู้” ปัจจุบันหนี้สาธารณะประเทศพุ่งเกิน 9 ล้านล้านบาท และกำลังจะทะลุเพดานวินัยการเงินการคลังที่ 60%

4. ใช้เงินไม่มีประสิทธิภาพ ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้งบไปแล้ว 20.8 ล้านบาท จีดีพีโตเฉลี่ยเพียงปีละ 1% แต่หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงถึง 92% จากตัวอย่างการใช้เงิน 1 ล้านล้านที่ผ่านมา ไตรมาสแรกยังติดลบ 2.6% ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างมาก

5. แยกแยะจัดลำดับความสำคัญไม่ได้  ไม่ว่าจะเรื่องการจัดหาวัคซีน หรือการจัดงบประมาณ ส่วนที่ต้องเพิ่ม เช่น การศึกษา แรงงาน สาธารณสุข กลับปรับลด หากรัฐบาลไม่มีการบริหารจัดการและวางแผนที่ดี เศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถฟื้นได้ และจะยิ่งทำให้ประชาชนลำบากอย่างยาวนาน

ขณะที่นายไชยา กล่าวว่า รัฐบาลไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณในสถานการณ์โควิดได้ ไม่รู้ว่าหากยังไม่สามารถระงับการระบาดของโควิด  จะไม่มีวันแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ เห็นได้จาก การใช้จ่ายใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้   โดยวานนี้ (27 พ.ค.64)  รัฐบาลเสนอให้สภาพิจารณาพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ซึ่งเอื้อแต่ผู้ประกอบการรายเดิมที่มีทุน 400-500 ล้านบาท  แต่ผู้ประกอบการรายเล็ก เอสเอ็มอี หรือพ่อค้าแม่ค้ารายเล็กในหลายพื้นที่กลับเข้าไม่ถึง  ทั้งที่ควรเอาเงินงบประมาณส่วนนี้ไปตั้งกองทุน คล้ายกองทุนหมู่บ้าน  เพื่อให้พ่อค้ารายเล็กที่ไม่สามารถพึ่งพาเงินกู้ผ่านสถาบันการเงิน สามารถกู้เงินจำนวนไม่มากไปพยุงกิจการเล็กๆโดยให้ชุมชนในหมู่บ้านกำกับดูแลและตรวจสอบได้

ด้านนายเผ่าภูมิ กล่าวว่า  ขอตั้งฉายางบประมาณปี  65 เป็นฉบับ  “5 ผิด”   ผิดกฎ ผิดจำนวน ผิดที่ ผิดเวลา ผิดคนใช้ ดังนี้

1.ผิดกฏวินัยทางการเงินการคลัง  ใน 2 มิติ  โดยมิติแรก งบลงทุนน้อยกว่างบขาดดุล ขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 20 (1) ทันที แม้กระทรวงการคลังจะนำเอารายได้นอกงบประมาณเข้ามาโปะความล้มเหลวของการจัดงบประมาณ เช่น ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ หรือการลงทุนรัฐร่วมเอกชน (PPP) แต่ถือว่าเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง   มิติที่สอง คือ หนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ทะลุเกิน 60% แล้ว จาก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ความเสียหายจากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 เดือนละ 1  แสนล้านบาท รวมการขาดดุลงบประมาณปี 65 อีก  7 แสนล้านบาท ซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และกรอบของวินัยการเงินการคลังแล้ว

2.ผิดจำนวน :  การตั้งงบประมาณปี 65 ที่ 3.11 ล้านล้านบาท ลดลง 5.6% ทั้งที่เศรษฐกิจอยู่ภาวะชะลอตัว จัดเก็บภาษีไม่ได้และยังมีหนี้สูง  หากเปรียบเหมือนคนเรากำลังตกอยู่ก้นเหว ขาดน้ำขาดอาหาร ไปต่อไม่ได้ 

3.ผิดที่ : โดยรัฐบาลตัดงบประมาณส่วนที่ไม่ควรตัด เพราะตัดลดรายจ่ายด้านสวัสดิการและสังคมสงเคราะห์ในภาวะที่พี่น้องประชาชน “ขาดตาข่ายทางสังคม” ทั้งตัดสังคมสงเคราะห์  งบด้านการศึกษาระดับประถมวัยและมัธยมศึกษา ตัดงดส่วนของเอสเอ็มอี โดยเฉพาะงบด้านแรงงานที่ตัดลดลงถึง 30% สวนทางกับการตกงานมากที่สุดในรอบ 12 ปี

4.ผิดเวลา :  กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานที่ยังไม่ใช่เวลาในการใช้งบประมาณ  แต่กลับได้รับการจัดงบ แม้จำนวนลดลงแต่เป็นแค่ภาพลวงตา เพราะสัดส่วนต่องบประมาณของกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นจาก 6.5%  เป็น 6.6% และเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณติด 1 ใน 5 ที่ได้รับงบมากที่สุด 

5.ผิดที่คนใช้ : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ใช้จ่ายงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ  ซึ่งในการพิจารณางบประมาณของสภาจะต้องเกิดการถกเถียงอย่างรุนแรง เพื่อให้เห็นจุดอ่อนมากที่สุดและต้องแก้ไขโดยเร็วที่สุด

นายจักรพงษ์ กล่าวว่า  การจัดสรรงบประมาณปี 65 ประมาณการณ์จัดเก็บรายได้ ที่ส่งผลต่อการคาดการณ์จีดีพีผิดพลาด ซึ่งรวมเป็นความผิดพลาด 3 ด้านได้แก่

ความผิดที่ 1  คาดการณ์จีดีพีผิดพลาดทำให้จัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า : โดยรัฐบาลคาดว่า จีดีพีปี 64 จะขยายตัว  4.5% และคาดว่าปี 65 จะโตอีก 4.5%  แต่ครึ่งปี 64 จีดีพีติดลบ เมื่อฐานผิดตอนแรก ทำให้การจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า โดยใน  6 เดือนแรกของปีงบ 64 รัฐจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการแล้ว  1.22 แสนล้าน และคาดว่าสิ้นปีงบประมาณจะจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าถึง 2 แสนล้านบาท 

ความผิดที่ 2  : เมื่อจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าก็ต้องกู้ขาดดุล

ความผิดที่ 3 :  ผิดที่พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้จัดทำงบประมาณฉบับนี้

นายจักรพงษ์ กล่าวว่า เมื่อครั้งรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี  จีดีพีในปี 2555  โต 6%   ปี 56 โต 5%  แต่เพียงแค่เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีคนเดียวเป็นพลเอกประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ตั้งแต่ปี 2557 จนถึง 2561 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 จีดีพีไทยเติบโตเฉลี่ยเพียง 2.6% 

สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดช่วง 5 ปีที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ บริหารประเทศ กู้มากกว่าหารายได้  สุดท้ายเมื่อเจอกับวิกฤตโควิด-19 เหมือนมาแก้ผ้าพลเอกประยุทธ์ทันที  เผยให้คนไทยทั้งประเทศรู้ว่าเศรษฐกิจไทยเปราะบางแค่ไหน  การที่พลเอกประยุทธ์เลือกจ่ายเงินเยียวยาแบบไม่มียุทธศาสตร์  8 แสนล้านบาท  ใน พ.ร.ก.กู้ 1 ล้านล้านบาท เป็นตัวชี้วัดได้เป็นอย่างดีว่า การแจกจ่ายเงินไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะจีดีพีไทยในปี 63 ติดลบ 6% 

นายจักรพงษ์ เสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ ทบทวนการจัดสรรงบประมาณปี 65 โดยปรับคาดการณ์จีดีพีใหม่ให้สอดคล้องกับการจัดเก็บรายได้ในปัจจุบัน หากทำไม่ได้พลเอกประยุทธ์ควรลาออกเพื่อให้คนอื่นที่มีความสามารถมาทำแทน 

“เปรียบประเทศไทยเหมือนคน ถ้าร่างกายแข็งแรงยังพอสู้โควิด-19 ได้ แต่เมื่อมีโรคประจำตัว  เมื่อเจอโควิด อาการหนัก เข้าไอซียูทันที  สิ่งที่โควิดเผยให้ประชาชนได้เห็นว่าพลเอกประยุทธ์ ไม่มีวิสัยทัศน์  ตีโจทย์ไม่ออก โควิดระบาดในปี 63 รายได้ท่องเที่ยวหายไปหลายล้านบาท ยังไม่มีวิธีแก้ไข  คิดเพียงว่าใส่เงินเข้าไปแบบไม่มียุทธศาสตร์ สร้างผลกระทบเชิงลบและจะขยายตัวไปทุกส่วนของภาคธุรกิจแล้ว”  นายจักรพงษ์ กล่าว

 

 

TOP การเมือง
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ