โหวตนายก : ส.ว.ประพันธ์ ลุกอภิปรายค้าน “พิธา” นั่งนายรัฐมนตรี

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ส.ว.ประพันธ์ ลุกอภิปรายค้าน“พิธา” นั่งนายกรัฐมนตรี ชี้ เป็นบุคคลต้องห้าม-ขาดคุณสมบัติตามรธน.เพราะถือหุ้นสื่อ เตือน ส.ส.-ส.ว.หากลงมติโหวตให้เสี่ยงผิดกฎหมาย

วันที่ 13 ก.ค. 2566  ที่รัฐสภามีการประชุมรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เพื่อพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม นพ.ชลน่าน ศรีแล้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี

จากนั้น ประธานรัฐสภา ได้ให้เปิดให้สมาชิกอภิปรายคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี โดยให้ ส.ส.จากทุกพรรคการเมืองได้เวลา 4 ชั่วโมง และ แบ่งเวลาให้ ส.ว.อภิปราย 2 ชั่วโมง

คอนเทนต์แนะนำ
โหวตนายก : เกาะติดประชุมรัฐสภา จับตาเลือกนายกรัฐมนตรี
เลือกนายก : จับทิศทาง ส.ว. ก่อนโหวตนายก ผ่านรายการ "สับประเด็น"
โหวตนายก: “หมอชลน่าน” ลุกขึ้นเสนอชื่อ “พิธา” เป็นนายกฯ เปิด ส.ส.-ส.ว.อภิปรายคุณสมบัติ

โดยนาย ประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลุกขึ้นอภิปรายคุณสมบัติผู้ที่ถูกเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ว่า การเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ตนถือว่าการเสนอชื่อบุคคลที่มีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 และมาตรา 160 ซึ่งมีเหตุผลสำคัญคือ ในวันนี้เราอยู่ในโหมดรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาล และการเสนอชื่อคนมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็อยู่ในบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ที่บัญญัติว่าบุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้จะต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม

รัฐธรรมนูญมาตรา 160 กำหนดเรื่องคุณสมบัติของการเป็นรัฐมนตรี มาตรา 160 (6) ต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 98 กำหนดหลายประการ เช่น ต้องไม่เป็นผู้ที่ติดยาเสพติด ต้องไม่เป็นผู้ที่ล้มละลาย และที่สำคัญ (3) ต้องไม่เป็นเจ้าของ หรือ ผู้ถือหุ้นในกิจการ หนังสือพิมพ์ หรือ สื่อมวลชนใดๆ

นาย ประพันธ์ กล่าวอีกว่า นายพิธาที่ถูกเสนอชื่อขึ้นมานั้นมีปัญหาและขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 160 และมาตรา 98 (3) เมื่อเป็นเช่นนี้การเสนอชื่อนายพิธา ขัดต่อข้อบังคับข้อที่ 136 ที่กำหนดไว้ว่า จะเสนอชื่อบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามไม่ได้ ปัญหาเรื่องคุณสมบัติของนายพิธา ก็ปรากฎให้เห็นชัดแจ้งแล้ว เพราะเมื่อวานนี้ ( 12 ก.ค.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติพร้อมยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีคำสั่งให้นายพิธา พ้นสมาชิกภาพส.ส.หรือไม่ ซึ่งศาลได้รับหลักการทางธุรการไปแล้ว และ จะได้เสนอคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไป อันเป็นข้อเท็จจริงโดยปราศจากข้อสงสัยว่า นายพิธา เป็นคนที่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม และในความเห็นของกกต.ยังชี้ว่านายพิธา หมดสมาชิกภาพของการเป็นส.ส.ไปแล้ว

หากมีคนแย้งว่าศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยอันเป็นที่สิ้นสุด จะถือว่าเขาขาดคุณสมบัติไม่ได้นั้น ปัญหานี้ไม่จำเป็นต้องรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดเพราะปัญหาเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัครส.ส. ซึ่งเป็นคุณสมบัติเดียวกันกับบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯ  

นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า ที่ตนเองหยิบยกเรื่องนี้มาพูดเพราะคนที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ให้รัฐสภาโหวตรับรองเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ หากรัฐสภาฯพิจารณาให้ลงมติรับรองต่อไปย่อมขัดต่อกฎหมายสูงสุดของประเทศ และขัดต่อข้อบังคับที่ประชุมสภาฯโดยชัดแจ้ง อีกทั้งยังมีความผิดที่ร้ายแรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา  

นอกจากนั้นเมื่อมีการลงมติให้ผู้ที่ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแล้ว การจะนำชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติและคุณลักษณะต้องห้าม ไปนำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นนายกรัฐมนตรี และการกระทำดังกล่าวย่อมเป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท เป็นสิ่งที่สภาแห่งนี้มิควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง

หากสมาชิกยังดึงดันลงมติให้กับบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านอาจจะถูกดำเนินคดี ตามมาตรา 231 (1) เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามประมวลจริยธรรมของส.ส. ส่วนส.ว.ที่จะลงมติให้ก็มีความผิดด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุผลนี้คนเองจึงไม่เห็นด้วย และขอคัดค้านการเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี

คอนเทนต์แนะนำ
นักวิทย์พบหลักฐานยืนยัน โลกเข้าสู่ยุคสมัย “แอนโทรโพซีน” แล้ว!
ดีเซลขึ้น 5 บาท/ลิตร ต้นทุนขนส่งเพิ่มแน่ 10% จ่อปรับราคาสินค้า
ผลวอลเลย์บอลเนชั่นส์ ลีก 2023 รอบ 8 ทีมสุดท้าย สหรัฐอเมริกา ชนะ ญี่ปุ่น

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ