ภาพความดีใจและเฉลิมฉลองสุดเหวี่ยงนี้เกิดขึ้นในบูร์กินาฟาโซเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผู้คนชอบอกชอบใจที่ทหารก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจจากอดีตประธานาธิบดีโรช คาโบเรได้สำเร็จ เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประชาชนมองว่ารัฐบาลของคาโบเรอ่อนแอ ไม่สามารถรับมือกับภัยคุกคามจากกลุ่มติดอาวุธมุสลิมหัวรุนแรงได้
ภายใต้การนำของ พลโท พอล อองรี ซานเดาโก ดามิบา ผู้นำคนใหม่ คนบูร์กินาฟาโซคาดหวังถึงชีวิตที่ปลอดภัยและสงบสุขขึ้น แต่ข้ามเวลามาเกือบครึ่งปี สถานการณ์กลับตรงกันข้าม
กองทัพบูร์กินาฟาโซออกแถลงก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจประธานาธิบดี
บูร์กินาฟาโซตั้งหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นประธานาธิบดี พร้อมคืนรัฐธรรมนูญ
ที่เมืองโดริ ทางตอนเหนือของบูร์กินาฟาโซ ชาวบ้านกลุ่มนี้ทยอยเดินทางกลับบ้านหลังได้ข่าวว่าความรุนแรงทุเลาลง ข้าวของติดตัวมีไม่มากเพราะวันที่ออกไปจากหมู่บ้าน ทหารให้เวลาพวกเขาไม่นาน
ชีวิตของชาวบ้านในหมู่บ้านเซเตนกาที่ตั้งอยู่ในเมืองโดริเป็นเพียงหมากท่ามกลางสงคราม เริ่มจากกลุ่มติดอาวุธจีฮัดบุกสังหารคนในหมู่บ้าน จากนั้นกองกำลังของภาครัฐก็ตามมากวาดล้าง บุกค้นทุกซอกหลืบ ขับไล่ชาวบ้านให้ออกไปจากพื้นที่ชั่วคราว โดยไม่มีใครทันได้ตั้งตัว
สถานการณ์เต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน ชาวบ้านโอดครวญว่า ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่สร้างความเสียหายไม่น้อยไปกว่ากลุ่มติดอาวุธ
รายงานจากสำนักข่าวรอยส์เตอร์ เหตุสังหารตามหมู่บ้านต่างๆ ของบูร์กินาฟาโซเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คาดกันว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 100 ถึง 165 ราย
นับเป็นเหตุโจมตีที่อุกอาจและสร้างความเสียหายมากที่สุดในรอบปี ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างว่าตนอยู่เบื้องหลัง และที่ผ่านมาบูร์กินาฟาโซเผชิญภัยคุกคามจากหลายกลุ่ม
ภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกกำลังกลายมาเป็นแหล่งซ่องสุมของบรรดากลุ่มติดอาวุธมุสลิมหัวรุนแรง ทั้งกลุ่มที่ย้ายฐานมาจากตะวันออกกลาง และกลุ่มที่ถือกำเนิดใหม่ขึ้นที่นี่
ด้วยปัจจัยอย่าง ความยากจน การขาดแคลนการศึกษา สภาวะไม่มั่นคงทางการเมือง ประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐ ไปจนถึงความขัดแย้งจากชนเผ่าและชนพื้นเมืองในพื้นที่ เหล่านี้คือปุ๋ยที่ทำให้จีฮัดแห่งแอฟริกางอกงาม
ข้อมูลจาก Africa Center for Strategic Studies ฉายให้เห็นขนาดของกลุ่มติดอาวุธในแอฟริกาตะวันตกที่น่าหวาดหวั่นไม่น้อยไปกว่ากลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลาง
ใหญ่ที่สุดคือกลุ่ม JNIM กลุ่มที่แยกย่อยออกมาจากอัลกออิดะห์ และเคยประกาศสวามิภักดิ์ อัยมัน อัซเซาะวาฮิรี ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากบิน ลาเดน ใน JNIM ยังย่อยออกเป็นอีกหลายกลุ่ม เช่น Ansar Dine, FLM และกลุ่มอัลกออิดะห์ภาคพื้นแอฟริกาตะวันตก หรือ AQIM
นอกจากนั้นยังมีภัยคุกคามจากกลุ่ม ISGS หรือไอซิสแห่งซาฮารา ที่พยายามขยายอิทธิพลในภูมิภาคซาเฮลลงมาถึงแอฟริกาตะวันตก
สำหรับบูร์กินาฟาโซ ประเทศนี้เผชิญภัยจากกลุ่มติดอาวุธมุสลิมหัวรุนแรงมาตั้งแต่ปี 2015 พื้นที่เปราะบางคือภูมิภาคทางตอนเหนือและทางตะวันออก ซึ่งติดกับไนเจอร์และมาลี
รายงานระบุว่า ภัยคุกคามจากกลุ่มติดอาวุธทั้ง JNIM และ ISGS ส่งผลให้มีชาวบูร์กินาฟาโซต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นแล้วมากถึง 1.5 ล้านคน
บางหมู่บ้านกลายเป็นผู้ลี้ภัยทั้งหมู่บ้าน เพราะไม่อาจทนกับชีวิตที่ต้องหวาดกลัวตลอดเวลา ผู้นำของชุมชนเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า กลุ่มจีฮัดสังหารคนไม่เลือกหน้า
คำบอกเล่าเสริมด้วยสถิติจาก Global Terrorism Index 2022 ระบุว่า ร้อยละ 48 หรือเกือบครึ่งหนึ่งของเหตุโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธจำนวน 3,461 ครั้งเมื่อปี 2021 ล้วนเกิดขึ้นในบูร์กินาฟาโซ, ดีอาร์ซีคองโก, มาลี และไนเจอร์
สะท้อนว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภูมิภาคนี้เผชิญกับภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
คนที่กดดันมากที่สุดคือรัฐบาลบูร์กินาฟาโซ ที่ขึ้นสู่อำนาจด้วยการก่อรัฐประหาร เพราะเป็นเวลาหลายเดือนแล้วที่ความสงบยังคงไม่เกิดขึ้นตามที่ใครหลายคนวาดหวัง
หลังเหตุสังหารอันน่าตกใจเมื่อกลางเดือนมิถุนายน ผู้นำประเทศลงพื้นที่เยี่ยมเมืองโดริทันทีที่ได้ข่าวว่า ชาวบ้านผู้รอดชีวิตกลับมาแล้ว
พลโท พอล อองรี ซานเดาโก ดามิบา ย้ำถึงภัยอันตรายจากกลุ่มติดอาวุธ ว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถรับมือได้ฝ่ายเดียว หากต้องอาศัยความร่วมมือของชุมชนด้วย พร้อมสัญญาว่าจะแก้ไขปัญหาความมั่นคงในประเทศภายในเดือนกันยายน
เป็นสัญญาที่ต้องทำให้ได้ ก่อนที่รัฐบาลจะสูญเสียความเชื่อมั่นไปมากกว่านี้ เพราะรายงานจาก Armed Conflict Location & Event Data Project บ่งชี้ว่า ความรุนแรงจากกลุ่มติดอาวุธในช่วง 3 เดือนแรกหลังรัฐประหารเพิ่มขึ้นมาร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วง 3 เดือนก่อนหน้า
รัฐบาลสูญเสียการควบคุมในหลายพื้นที่ สำนักข่าว The Washigton Post ลงพื้นที่พูดคุยกับทหาร พวกเขาระบุว่า ปัญหาหลักคือการขาดแคลนอาวุธ บางครั้งพวกเขาต้องยึดเอาอาวุธจากศพนักรบจีฮัดที่สังหารได้
อีกความท้าทายใหม่คือ กลยุทธ์ที่เปลี่ยนไป ทุกวันนี้จีฮัดในบูร์กินาฟาโซโจมตีหมู่บ้านในชนบทควบคู่ไปกับการทำลายแหล่งน้ำ คาดกันว่ามีแหล่งน้ำสะอาดมากถึง 32 แห่งแล้วที่ถูกทำลายในปีนี้ ส่งผลให้จำนวนผู้พลัดถิ่นยิ่งเพิ่มมากขึ้น
ภาพหายนะในบูร์กินาฟาโซยังเกิดขึ้นที่มาลีเช่นกัน หลังเหตุสังหารหมู่ในบูร์กินาฟาโซ ไม่กี่วันถัดมารัฐบาลมาลีระบุว่า กลุ่มติดอาวุธก่อเหตุโจมตีหมู่บ้านในเมืองม็อบติที่ตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 132 ราย คาดกันว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มย่อยที่สวามิภักดิ์ต่ออัลกออิดะห์
นับตั้งแต่ต้นปี 2022 จนถึงปัจจุบัน เหตุโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธในมาลีเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจเช่นเดียวกับบูร์กินาฟาโซ
อันที่จริงในแอฟริกาตะวันตกและภูมิภาคซาเฮลมีทหารของสหภาพยุโรปและทหารของสหประชาชาติประจำการ แต่รัฐประหารที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไล่มาตั้งแต่ในมาลีเมื่อเดือนพฤษภาคม และในกินีเมื่อเดือนกันยายนปี 2021 จนมาถึงล่าสุดที่บูร์กินาฟาโซ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมามีผลต่อความมั่นคง
เดนมาร์กประกาศถอนทหารออก หลังทหารมาลีไม่ชัดเจนว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่เมื่อไหร่ ตามมาด้วยฝรั่งเศสที่ปัจจุบันยังคงมีทหารราว 5,000 นายในพื้นที่ แต่อาจจะพิจารณาถอนออกในอนาคตอันใกล้
ทหารต่างชาติเหล่านี้ยังเสื่อมความนิยมจากคนท้องถิ่น เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พวกเขาไม่สามารถปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายให้ราบคาบได้
อนาคตของบูร์กินาฟาโซและมาลีกำลังตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านที่คลื่นผู้ลี้ภัยและนักรบจีฮัดสามารถแพร่กระจาย หลายพื้นที่โดยเฉพาะหมู่บ้านกันดารห่างไกลไร้การควบคุม ตัวเลขความเสียหายที่ถูกเผยแพร่ออกมาคาดกันว่าเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของหายนะที่เกิดขึ้นจริง
ซ้ำเติมด้วยความไม่มั่นคงทางการเมือง วิกฤตซ้อนวิกฤตกำลังเติมเชื้อไฟให้ก่อการร้ายแห่งแอฟริกาให้ลุกโชน