นี่ถือเป็นการละเมิดคำมั่นสัญญาที่กลุ่มตาลีบันเคยให้ไว้กับนานาชาติ หลังการกลับมาครองอำนาจของกลุ่มเมื่อกลางเดือนสิงหาคม ปี 2021 ว่าพวกเขาจะไม่ลิดรอนสิทธิด้านการศึกษาของผู้หญิงเหมือนกับยุคที่กลุ่มตาลีบันเคยมีอำนาจปกครองอัฟกานิสถานครั้งก่อนในช่วงระหว่างปี 1996-2001
นอกจากคำสั่งของกลุ่มตาลีบันที่ออกมาเมื่อวันอังคาร จะมีเนื้อหาห้ามนักศึกษาหญิงเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศในทันทีแล้ว
“ตาลีบัน” สั่งเจ้าของร้านตัดหัวหุ่นโชว์เสื้อผ้า
ไอเอสโจมตีโรงแรมในกรุงคาบูล แขกต่างชาติปีนตึกหนีตาย
ถัดมาในวันพุธ (21 ธ.ค.) ทางกลุ่มตาลีบันก็ได้ออกคำสั่งเพิ่มเติม ด้วยการห้ามผู้หญิงที่มีอาชีพเป็นครู-อาจารย์ตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ กลับเข้าทำงานด้วยเช่นกัน
ขณะที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลที่นำโดยแกนนำกลุ่มตาลีบันก็เพิ่งยกเลิกการเปิดโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาสำหรับเด็กผู้หญิงทั่วประเทศ
โฆษกกระทรวงการศึกษาขั้นสูงของรัฐบาลตาลีบันออกมายืนยันว่า ได้มีการส่งจดหมายแจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังมหาวิทยาลัยทั่วประเทศอัฟกานิสถาน ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและของเอกชน โดยระบุว่า นี่เป็นมติของคณะรัฐมนตรี แต่ปฏิเสธที่จะชี้แจงเหตุผลเพิ่มเติมใดๆ
รายงานข่าวระบุว่า คำสั่งของกลุ่มตาลีบันถูกประกาศออกมาในช่วงที่นักศึกษาชาวอัฟกันทั้งชาย-หญิงทั่วประเทศ กำลังอยู่ในช่วงการสอบปลายภาคพอดี
ส่งผลให้นักศึกษาหญิงในระดับปริญญาตรีที่กำลังศึกษาในภาคเรียนสุดท้ายและกำลังจะจบการศึกษา จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบ และพวกเธอจะไม่ได้รับอนุมัติให้รับปริญญาหรือสำเร็จการศึกษา
หลังจากคำสั่งดังกล่าวถูกเผยแพร่สู่สาธารณชน มีรายงานว่า พบนักรบกลุ่มตาลีบันพร้อมอาวุธครบมือถูกส่งไปประจำการรอบมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อตรวจตราไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปด้านใน
คำสั่งห้ามนักศึกษาหญิงกลับเข้าเรียน และห้ามครู-อาจารย์ที่เป็นผู้หญิงกลับเข้าทำงาน จะกลายเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้รัฐบาลของประเทศต่างๆทั่วโลก ให้การรับรองรัฐบาลตาลีบัน
รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของอัฟกานิสถาน
ทำไมกลุ่มตาลีบัน จึงผิดสัญญาที่ให้ไว้กับนานาชาติ? นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2021 นักรบกลุ่มตาลีบันประสบความสำเร็จในการทำสงครามแย่งชิงดินแดนเหนือกองกำลังฝ่ายรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และสามารถเข้ายึดกรุงคาบูล เมืองหลวงของประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จ เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน
หลังจากที่กรุงคาบูลแตก และประธานาธิบดีอัชราฟ กานี ผู้นำรัฐบาลอัฟกานิสถานในขณะนั้น ตัดสินใจหลบหนีออกนอกประเทศและไปขอลี้ภัยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตาลีบันตั้งตนเป็นรัฐบาลปกครองอัฟกานิสถานตั้งแต่นั้นมา
ทางแกนนำกลุ่มนักรบตาลีบันได้ให้คำมั่นกับผู้แทนนานาชาติว่า รัฐบาลใหม่ของพวกเขาจะให้การเคารพต่อสิทธิมนุษยชนของชาวอัฟกันทุกเพศทุกวัย รวมถึงจะไม่ละเมิดสิทธิในการศึกษาเล่าเรียน และสิทธิในการทำงานของผู้หญิงในประเทศ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยความผิดพลาดในอดีตที่เกิดขึ้นในสมัยที่กลุ่มตาลีบันเคยเป็นรัฐบาลปกครองอัฟกานิสถานครั้งก่อน ในช่วงปี 1996-2001
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวทางการทูตในกรุงคาบูลระบุว่า บรรดาผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดของกลุ่มตาลีบันส่วนใหญ่นั้น คือ บรรดาแกนนำระดับอาวุโส ซึ่งเป็นพวกที่มีแนวคิดสุดโต่งและต้องการสถาปนาการปกครองโดยใช้"หลักชาเรีย"ของศาสนาอิสลาม มาบังคับใช้เป็นกฏหมายของประเทศอย่างเต็มรูปแบบ และเมื่อบรรดาแกนนำอาวุโสเหล่านี้คัดค้านการศึกษาสำหรับผู้หญิง รัฐบาลตาลีบันจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกเสียจากต้องปฏิบัติตาม
ถึงแม้สมาชิกตาลีบันหลายคนในรัฐบาลอัฟกานิสถานจะเป็นพวกหัวก้าวหน้า แต่พวกเขาก็ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ หรือไม่สามารถดำเนินการในสิ่งที่สวนทางกับการตัดสินใจของบรรดาแกนนำอาวุโสเหล่านี้ที่ยังคงมีจุดยืนอนุรักษนิยมแบบสุดขั้ว
หลังคำสั่งของกลุ่มตาลีบันถูกประกาศออกมา มีรายงานว่าเกิดการรวมตัวประท้วงของนักศึกษาหญิงตามมหาวิทยาลัยต่างๆทั้งในและนอกกรุงคาบูล
การประท้วงที่เข้มข้นที่สุดเกิดขึ้นที่ด้านหน้ามหาวิทยาลัยนันการ์ฮาร์ ในเมืองจาลาลาบัด ทางภาคตะวันออกของอัฟกานิสถาน
ผู้ชายจำนวนมากในพื้นที่ เข้าร่วมการประท้วงกับบรรดานักศึกษาหญิงที่ถูกห้ามเข้าเรียนด้วย หลังจากนี้ ไม่มีใครตอบได้ว่า คำสั่งห้ามผู้หญิงเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย และการห้ามบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นผู้หญิงกลับเข้าทำงานในครั้งนี้ จะมีผลบังคับใช้ไปจนถึงเมื่อไร
แต่เริ่มมีรายงานว่า นักศึกษาหญิงชาวอัฟกันจำนวนไม่น้อยที่ครอบครัวพอจะมีฐานะเตรียมหาช่องทางเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อไปศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยในต่างแดนแล้ว และหลายคนอาจตัดสินใจไม่เดินทางกลับมายังอัฟกานิสถานอีก เมื่อพวกเธอสำเร็จการศึกษา
แน่นอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานขณะนี้ ย่อมสร้างความกังวลและความไม่สบายใจให้กับนานาชาติ
สเตฟาน ดูชาร์ริก โฆษกองค์การสหประชาชาติ ออกมาแถลงว่า การตัดสินใจของรัฐบาลตาลีบัน ในการแบนผู้หญิงไม่ให้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยครั้งนี้ เป็นการละเมิดคำสัญญาที่กลุ่มตาลีบันเคยให้ไว้กับประชาคมโลก
พร้อมระบุว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กลุ่มตาลีบันผิดคำสัญญาว่าจะไม่ละเมิดและลิดรอนสิทธิของประชาชนชาวอัฟกัน
ขณะที่โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เน็ด ไพรซ์ ออกมาแถลงที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ประณามความเคลื่อนไหวของกลุ่มตาลีบันในครั้งนี้
พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลสหรัฐฯจะยังคงเพิ่มแรงกดดันต่อกลุ่มตาลีบัน ให้เคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกเพศทุกวัยในอัฟกานิสถานโดยไม่มีเงื่อนไข