นานาชาติ จับตาการเลือกตั้งกรีซ ความหวังใหม่ของประเทศ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เดือนพ.ค.ปีนี้ถือเป็นเดือนที่หลายประเทศจัดการเลือกตั้งทั่วไป เช่น ไทยและตุรกี เป็นการเลือกตั้งที่หลายฝ่ายติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะทั้งสองประเทศมีสิ่งที่คล้ายกันคือ ประชาชนต้องเลือกระหว่างขั้วอำนาจเก่าหรือขั้วอำนาจใหม่

อย่างไรก็ดี นอกจากไทยและตุรกี อีกประเทศหนึ่งที่กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไป คือ ประเทศกรีซ การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 21 พ.ค.นี้

พรรคการเมืองและโฉมหน้าของผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หัวหน้าฝ่ายบริหารของรัฐบาลกรีซที่จะทำหน้าที่ต่อไปอีก 4 ปีหลังจากนี้ 

การเลือกตั้งรอบนี้ มี 3 พรรคใหญ่ชิงชัยเป็นรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy) พรรคซีริซา (Syriza) และพรรคปาโซค-คินัล (Pasok-KINAL)

นายกฯ กรีซ โพสต์ขอโทษ ปชช. ปมรถไฟชนกัน ดับ 57 ราย

รัสเซียฉุน โปแลนด์เสนอเปลี่ยนชื่อแคว้น "คาลินินกราด"

ส่วนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคมีดังนี้

คนแรกคือ คีรีอาคอส มิตโซทาคิส วัย  55 ปี หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่และนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

คนที่สองคือ อเล็กซิส ซิปราส วัย 48 ปี หัวหน้าพรรคซีริซา และผู้นำฝ่ายค้าน อดีตนายกรัฐมนตรีกรีซ ปี 2015-2019

ขณะที่พรรคปาโซค-คินัล ได้ส่งนิคอส อันโดรลาคิส วัย 44 ปี ประธานพรรคปาโซค-คินัล อดีตสมาชิกประจำรัฐสภายุโรป หรือ MEP ปี 2019

แต่ละพรรคชูนโยบายใดบ้างเพื่อเป็นทางเลือกให้กับชาวกรีก?

เริ่มที่ พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคฝ่ายขวาที่เป็นรัฐบาลชุดปัจจุบัน เน้นชูนโยบายลดอัตราภาษี ลดตัวเลขอัตราการว่างงาน เพิ่มเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ และตั้งเป้าว่าจะทำให้เศรษฐกิจของกรีซบรรลุการเติบโตให้ได้ 3% ต่อปี

ส่วนพรรคซีริซา พรรคฝ่ายซ้ายจัดที่เป็นฝ่ายค้านในปัจจุบันได้ชูนโยบายที่เน้นไปที่การอุ้มชูกลุ่มแรงงานด้วยการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและเบี้ยบำนาญ ลดชั่วโมงการทำงาน ตลอดจนการออกนโยบายปกป้องชนกลุ่มน้อย

ขณะที่พรรคปาโซค-คินัล ได้ชูนโยบายสีเขียวเพื่อเปลี่ยนการใช้พลังงานจากถ่านหินมาเป็นพลังงานสะอาดอื่นๆ รวมถึงเสนอนโยบายเพิ่มธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ รวมถึงนโยบายสร้างระบบรักษาพยาบาลที่มั่นคงและครอบคลุม

ด้วยการแข่งขันทางการเมืองที่สูง ทำให้ในช่วงโค้งสุดท้าย บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ของกรีซได้จัดเตรียมปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้ายเพื่อโกยคะแนนเสียงจากประชาชนเข้าไปนั่งสภา

เริ่มที่พรรคฝ้ายค้านคู่แข่งของรัฐบาล  นี่คือภาพการปราศรัยใหญ่ก่อนการเลือกตั้งของพรรคซีริซา ที่กรุงเอเธนส์ เมืองหลวงกรีซเมื่อวานนี้ ธงสีแดงและธงชาติกรีซโบกสะบัดท่ามกลางแสงไฟและควันสีแดงจากพลุแฟลร์ ก่อนที่อเล็กซิส ซิปราส หัวหน้าพรรคซีริซาจะเปิดตัวต่อมวลชนผู้สนับสนุนพรรคจำนวนหลายพันคน

หัวหน้าพรรคซิริซา กล่าวปราศรัยโดยระบุว่า การรวมตัวของมวลชนในวันนี้สะท้อนให้เห็นว่าความหวังได้เปลี่ยนมาเป็นการตัดสินใจครั้งใหม่ และแสดงให้เห็นว่าประชาชนจะไม่ทนกับรัฐบาลที่นิ่งเฉยและไม่แยแสพวกเขาแล้ว จากนั้นเขาได้ฝากข้อความไปถึงพรรคคู่แข่งซึ่งเป็นรัฐบาลตอนนี้ว่า ถึงเวลาที่พรรคประชาธิปไตยใหม่จะต้องอำลาตำแหน่งและเก็บของออกจากสภาแล้ว

ขณะที่พรรคปาโซค-คินัล ได้เปิดปราศรัยต่อมวลชนไปตั้งแต่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากพร้อมด้วยธงขาวของพรรคที่มีตราสีเขียวมารวมตัวกันที่กรุงเอเธนส์เพื่อฟังปราศรัยจากหัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

อันโดรลาคิส ประธานพรรคปาโซค-คินัล กล่าวอย่างมั่นใจว่าพรรคของตนเองจะได้รับชัยชนะจนทำให้คู่แข่งทางการเมืองตกใจ และเขาจะไม่มีทางเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปไตยใหม่หรือพรรคซิริซาอย่างแน่นอน

ด้านพรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรครัฐบาลปัจจุบัน นายกฯ คีรีอาคอส มิตโซทาคิส ประกาศว่า จะเปิดปราศรัยใหญ่เพื่อเรียกคะแนนครั้งสุดท้ายในเวลา 5 โมงเย็นตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับเที่ยงคืนตามเวลาบ้านเรา

ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด ตลอดจนการชูนโยบายและจุดยืนที่ต่างกันของแต่ละพรรค ทำให้หลายฝ่ายผลสำรวจเพื่อทำนายว่า ใครจะเป็นผู้นำกรีซคนต่อไป

ผลการสำรวจของสำนักข่าวโพลิติโก (Politico) ระบุว่า จากผลสำรวจเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา พรรคที่มีคะแนนนิยมมาเป็นอันดับ 1 ยังคงเป็นพรรคประชาธิปไตยใหม่หรือพรรครัฐบาลในปัจุบัน โดยครองคะแนนความนิยมอยู่ที่ร้อยละ 36 รองลงมาคือพรรคซีริซา พรรคฝ่ายค้าน มีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 29 ตามมาด้วยพรรคปาโซค-คินัล มีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 10 

ผลสำรวจของสำนักข่าวโพลิติโกสอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักข่าวอัลจาซีราที่ระบุว่า พรรคที่อาจชนะการเลือกตั้งรอบนี้คือ พรรคประชาธิปไตยใหม่ที่ครองคะแนนเสียงร้อยละ 32 ตามมาด้วยพรรคซีริซา ครองคะแนนความนิยมที่ร้อยละ 29 และพรรคปาโซค-คินัล ครองคะแนนความนิยมร้อยละ 9

นอกจากผลสำรวจแล้ว นักข่าวได้ลงพื้นที่ไปสอบถามความเห็นของชาวกรีกว่าต้องการหรือคาดหวังอะไรกับการเลือกตั้งในครั้งนี้บ้าง เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญหลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 รวมถึงวิกฤตค่าครองชีพซึ่งเป็นผลมาจากสงครามยูเครน

คำตอบจากประชาชนค่อนข้างเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า พวกเขาต้องการให้รัฐบาลใหม่แก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องและค่าครองชีพเป็นอันดับแรก

ส่วนประเด็นรองลงมา คือ ปัญหาผู้ลี้ภัยและปัญหาความไม่ลงรอยกับเพื่อนบ้านอย่างตุรกี หลังทั้งสองประเทศปะทะกันเมื่อวันที่ 12 กันยายน ปีที่แล้ว โดยกองทัพเรือกรีซได้ยิงเรือขนส่งสินค้าของตุรกีในทะเลอิเจียน ซึ่งเป็นจุดพิพาทระหว่างทั้งสองประเทศ

อย่างไรก็ดี หนทางในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองที่กำลังจะชนะการเลือกตั้งในอีก 2 วันข้างหน้าไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากกติกาของระบบการเลือกตั้งของกรีซมีลักษณะเฉพาะตัว ที่แทบจะทำให้ไม่มีพรรคใดสามารถสร้างปรากฏการณ์แลนสไลด์ได้เลย

ระบบการเลือกตั้งของกรีซเป็นอย่างไร ทำไมพรรคที่ชนะจึงได้สส. เพิ่ม ระบบการเลือกตั้งของกรีกจะเปิดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกสส.ได้ แต่จะเป็นการเลือกตั้งแบบสัดส่วนที่นำคะแนนรวมของพรรคนั้นๆ มาคิดเป็นจำนวนที่นั่งของสส.ซึ่งมี 300 ที่นั่ง โดยมีวาระ 4 ปี

ทั้งนี้เก้าอี้สส.ทั้ง 300 ที่นั่งจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนดังนี้

ส่วนแรกมี 280 ที่นั่ง เก้าอี้สส.ส่วนนี้จะถูกแบ่งไปตามสัดส่วนคะแนนที่แต่ละพรรคได้มาจากประชาชน หากพรรคใดได้เสียงจากประชาชนมาก ก็จะได้ที่นั่งตรงนี้มากตามไปด้วย

นอกจากนี้ ระบบการเลือกตั้งมีเงื่อนไขว่าพรรคการเมืองที่จะมีสิทธิส่งสส.เข้ามานั่งในสภา จะต้องได้คะแนนเสียงจากประชาชนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 หากต่ำกว่านี้จะไม่ได้แม้แต่ที่นั่งเดียวในสภา

ส่วนที่สองมี 20 ที่นั่ง เก้าอี้สส.ส่วนนี้จะถูกสำรองไว้ให้กับพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุด โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ชนะการเลือกตั้งมีที่นั่งเพิ่มขึ้นและตั้งรัฐบาลได้

ทั้งนี้การตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากของกรีซ ฝ่ายรัฐบาลจำเป็นต้องมีเสียงจากสส.อย่างน้อย 151 เสียงจาก 300 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร

เงื่อนไขเหล่านี้กลายเป็นความท้าทายและอุปสรรคกับพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรคที่ลงชิงชัยในปีนี้เนื่องจากถ้าต้องการเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากโดยไม่ร่วมกับพรรคอื่นๆ เลย พรรคที่ชนะการเลือกตั้งจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 46 ซึ่งในรอบ 30 กว่าปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีพรรคใดชนะแบบแลนด์สไลด์ตามกติกานี้เลย

สาเหตุที่ต้องเป็นร้อยละ 46 เนื่องจากนี่เป็นจำนวนที่น้อยที่สุดในการตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากแบบพรรคเดียว หากได้ตามนี้พรรคนั้นๆ จะมีจำนวนสส. ประมาณ 138 คนจาก 280 คน ซึ่งพรรคนั้นๆ ที่ชนะจะได้สส. เพิ่มอีก 20 คน รวมเป็น 158 คน

ดังนั้นถ้าไม่มีพรรคที่ชนะขาดจนตั้งรัฐบาลเดี่ยวได้ พรรคที่ได้คะแนนมากที่สุดจะต้องเทียบเชิญพรรคอื่นที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกันมาร่วมกันตั้งรัฐบาลผสม แต่ถ้าพรรคอันดับหนึ่งไม่สามารถรวมพรรคอื่นเพื่อตั้งรัฐบาลผสมได้ จะนำไปสู่การเลือกตั้งรอบที่ 2 เพื่อให้ได้พรรคที่มีคะแนนเสียงข้างมากจนตั้งรัฐบาลได้

อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งรอบ 2 นี้ พรรคที่ต้องการลงเลือกตั้งจะต้องยื่นคำร้องไปให้ศาลสูงสุดพิจารณาอนุญาต ซึ่งในกระบวนการนี้ศาลจะตัดบางพรรคการเมืองเล็กๆ บางส่วนออกตามเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดไว้ก่อนเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่

สำหรับการเลือกตั้งในปีนี้ ผู้ติดตามการเลือกตั้งกรีซให้ความเห็นว่าอาจมีการเลือกตั้งรอบ 2 เกิดขึ้นเนื่องจากสามพรรคการเมืองใหญ่ไม่มีพรรคใดที่มีแนวโน้มว่าจะได้คะแนนจากประชาชนถึงร้อยละ 46 และทั้งสามพรรคประกาศชัดเจนว่าจะไม่ตั้งรัฐบาลผสมร่วมกันแน่นอน  หากต้องมีการเลือกตั้งรอบที่สองจริง คาดว่าจะขึ้นในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ