เมื่อวันที่ (22 มี.ค. 62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลตำรวจโท รอย อิงคไพโรจน์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการใบสั่งจราจร กรณีผู้กระทำผิดซ้ำ เบื้องต้นพบว่า ปี 2561 มีการกระทำผิดกฎจราจรและออกใบสั่งเพิ่มขึ้นจากปี 2560 กว่า 3 ล้าน 2 แสนครั้ง คิดเป็นร้อยละ 39 ยอดรวมปี 2560 มีการออกใบสั่งกว่า 8 ล้าน 4 แสนครั้ง ปี 2561 มีการออกใบสั่งกว่า 11 ล้าน 7 แสนครั้ง จากการศึกษายังพบว่า มีคนไทยที่มีใบสั่งซ้อนสูงสุด 144 ใบใน 1 ปี ซึ่งรถคันดังกล่าวเป็นรถขนส่งของภาคเอกชน วิ่งขนส่งของทั่วประเทศแต่ถูกกล้องตรวจจับการกระทำความผิดอัตโนมัติ ในข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และรถบรรทุกไม่ขับชิดขอบทางด้านซ้าย และมีผู้ขับขี่ที่เมาแล้วขับโดนจับซ้ำรวมกว่า 1,507 ราย ในรอบ 4 ปี
ด้านพลตำรวจตรี เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ในฐานะคณะทำงานแก้ไขปัญหาการจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากผลวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ปัญหาใบสั่งซ้ำซ้อนเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายเดิมไม่สามารถบังคับใช้ได้กับทุกคน และไม่ทำให้เกิดความหวาดกลัวในการลงโทษ จนกระทำผิดซ้ำ
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพิจารณาแนวทางการชำระใบสั่งที่ซ้ำซ้อนหลายใบในแบบเหมาจ่ายหรือลดราคา ในเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถพิจารณาปรับลดเองได้ ต้องนำเรื่องเสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและรัฐบาลพิจารณา
ส่วนข้อมูลการศึกษาที่พบว่า มีคนเมาแล้วขับซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง พลตำรวจตรี เอกรักษ์ ยอมรับว่า เรื่องดังกล่าวเกิดจากตัวผู้ขับขี่ส่วนหนึ่ง อีกส่วนเกิดจากกฎหมายมีบทลงโทษที่ไม่รุนแรง ซึ่งทำให้ผู้ขับขี่ไม่เกรงกลัวกฎหมายและฝ่าฝืน ซึ่งในที่ประชุมอยู่ระหว่างการพิจารณานำปัญหาดังกล่าวหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขบทลงโทษในข้อหาเมาแล้วขับให้หนักขึ้น เหมือนอย่างในประเทศญี่ปุ่นที่มีการลงโทษผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่นั่งมาด้วย ในข้อหาสนับสนุนให้กระทำความผิด ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง