“วีลแชร์สำหรับสัตว์” 1 สิ่งที่ทำให้สัตว์พิการมีรอยยิ้ม เติมเต็มสิ่งที่ขาดหาย
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
หลายท่านอาจจะเคยทราบมาแล้วว่าวีลแชร์ เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ชนิดหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมด้านการกายภาพบำบัด สำหรับผู้สูงอายุหรือคนพิการ แต่ไม่่ใช่มีเพียงสำหรับคนเท่านั่น วีลแชร์ยังถูกออกแบบมาให้สำหรับสัตว์อีกด้วย ซึ่งก็เช่นเดียวกับคนคือการกายภาพบำบัด และยังสามารถช่วยให้พวกเขาเหล่านั่นได้กลับมาวิ่งเล่นได้อีกครั้ง

ต้องยอมรับว่าเวลาที่ได้เห็นสุนัขพิการ ขาหัก หรือขาอ่อนแรง ไม่สามารถเดินเหินหรือวิ่งเล่นได้ ทำให้เขามีชีวิตที่ไม่ปกติ เชื่อว่าหลายคนอาจจะรู้สึกสงสารและคงเกิดความรู้สึกอยากเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปให้กับพวกเขา นั่นก็คือ “ขา”
แล้วจะทำอย่างไรให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไป “การได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี” ก็คงจะเป็นเหตุผลนั้น...
น.สพ.ศุภเสกข์ ศรจิตติ โรงพยาบาลสัตว์คริสตัล เพ็ท หรือ หมอทู บอกกับทีมนิวมีเดีย PPTV ว่าวีลแชร์มีอยู่ 2 ชนิด นั่นคือ วีลแชร์สำหรับสัตว์พิการ เช่น สองขาหลังมีปัญหา หรือทั้งสี่ขาหลังเดินไม่ได้ และในส่วนของวีลแชร์สำหรับสัตว์พิการนั้นจะช่วยให้เขากลับมาวิ่งเล่นได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
และ 2 วีลแชร์สำหรับการกายภาพบำบัด เช่น เจ็บขาหรือกระดูกสันหลังมีปัญหา หลายๆตัว ที่ได้รับการกายภาพที่ถูกต้อง ก็อาจทำให้เขาสามารถกลับมาเดินได้อีกครั้ง ซึ่งระยะเวลาจะนานหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับอาการที่สุนัขเป็น บางตัวกระดูกสันหลังมีปัญหา บางตัวขามีปัญหา เอ็นมีปัญหา ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาจึงแตกต่างกันออกไป และปัจจัยสำคัญคืิอการดูแลของเจ้าของ ว่าสามารถที่จะพาสุนัขทำกายภาพบำบัดเช้าเย็นได้ไหม ตอนเช้า 1 ชั่วโมง และตอนเย็นอีก 1 ชั่วโมง
ยกตัวอย่างกรณีสุนัขชื่อ “ลุงโคลน” ลุงโคลนเป็นหมาจรที่เดินไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้เลยแม้กระทั่งปัสสาวะเอง หลังจากที่ได้ทำกายภาพให้เขา เขาก็สามารถกลับมาเดินได้ ยกขาปัสสาวะได้ คือทำอะไรได้ปกติเกือบทุกอย่าง
ในปัจจุบันรูปแบบของวีลแชร์ก็มีแตกต่างกันออกไป ทั้งราคาตั้งแต่ 300-7,000 บาท ถ้าจะพูดถึงข้อเสียของวีลแชร์นั้น คงหนีไม่พ้นการเลือกใช้วัสดุ การที่เราเอาวีลแชร์ที่แข็งเกินไป น้ำหนักมากเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นกับสุนัขได้ เช่น การงอตัวของวัสดุอาจไม่เพียงพอหรือมีการงอตัวที่ไม่ดีพอ หากแข็งกระด้างหรือมีการกระแทกที่แข็งเกินไป ก็สามารถทำให้กระดูกสุนัขหรือสันหลังสุนัขที่เกิดปัญหาอยู่แ้ล้ว เคลื่อนได้ ทำให้เกิดปัญหามากขึ้น สุนัขที่มีสิทธิหายก็จะไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก
ด้านคุณจิณณะ ตรรกวาทการ หรือคุณริน ซึ่งเป็นเจ้าของสุนัขพิการที่ชื่อว่า "สปอต" ซึ่งกำลังรักษาด้วยวิธีการใส่วีลแชร์อยู่ บอกว่า เจอสปอตครั้งแรกตอนสปอตอายุ 1 เดือนกว่าๆ ตอนที่เจอนั้นสปอตมีลักษณะขาพิการ หลังหัก เพราะถูกสุนัขใหญ่กัด จึงพามารักษา เริ่มแรกพาไปรักษาให้พ้นขีดอันตรายก่อน หลังจากนั้นพอสปอตอายุได้ประมาณ 2 เดือน ก็เริ่มใส่วีลแชร์
หลังจากที่ได้ใช้วีลแชร์ พัฒนาการของสปอตดีขึ้นมาก จากขาที่ไม่มีแรงเลย ตอนนี้ก็มีแรงถีบเรื่อยๆ แต่ก็ยังต้องอยู่ในช่วงรักษากันต่อๆไป โดยสำหรับตัวของสปอตนั้นเคยใช้วิลแชร์มาแล้ว 3 แบบ แบบแรกคือวีลแชร์สำหรับหมาพิการสองขาหลัง ทั้งนี้พอขาหลังเริ่มมีแรง เดินได้ดีขึ้นแล้ว ก็เปลี่ยนมาเป็นวีลแชร์แบบพยุงเดิน 4 ล้อ
ส่วนสาเหตุที่ตัดสินใจใช้วีลแชร์ คุณรินบอกว่าเพราะเขาพิการ และวีลแชร์ก็เป็นส่วนเสริมให้เขาได้ออกกำลังกายขามากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเหมือนเป็นส่วนเติมเต็มที่ทำให้ชีวิตเขามีความสุข และเวลาที่ตนได้เห็นสุนัขอยู่ในวีลแชร์ ตนรู้สึกดีมาก เพราะแววตาเขานั้นบ่งบอกว่ามีความสุขที่ได้กลับมาวิ่งเล่นได้อีกครั้งหนึ่ง
เอ้าวิ่งงงงงงงงงง
สนุกจังเลยยยยยยย
สนุกที่สุดดดดดดดด
ทั้งนี้คุณรินทิ้งท้ายไว้ว่า “วีลแชร์ไม่ใช่ส่วนสำคัญ วีลแชร์เป็แค่นส่วนเสริมที่ทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้นเท่านั้น ส่วนสำคัญจริงๆคือการดูแล เพราะสุนัขพิการส่วนใหญ่จะเป็นแผลที่ขาแล้วขาดการดูแล”
ขณะที่คุณสิริพร สกุลเรืองรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กู๊ดไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ คุณหลี ผู้ผลิตวีลแชร์เพื่อช่วยสุนัข บอกว่าจุดเริ่มต้นของการผลิตวีลแชร์ เริ่มจากได้ไปช่วยหมาจรตัวหนึ่ง โดยตั้งชื่อให้ว่า “หลง” ตอนช่วงน้ำท่วมที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร และนำมาเลี้ยงไว้ที่โรงงาน จากนั้น “หลง” ได้หนีออกจากโรงงานแล้วโดนรถชนทำให้ขาพิการ ทางตนก็มีการสั่งซื้อวิลแชร์มาให้ แต่ปรากฏว่าใส่ไปได้พักหนึ่ง วีลแชร์ก็หัก เพราะ “หลง” มีน้ำหนักมากเกินไป ด้วยทางครอบครัวประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ก็เลยปรึกษากับทางครอบครัว แล้วได้ให้วิศวะรถยนต์ลองออกแบบดู โดยใช้อุปกรณ์ภายในโรงงานมาลองผลิต พอผลิตเสร็จเอามาให้ “หลง” ใส่ ปรากฏว่าหลงสามารถวิ่งได้อย่างคล่องตัว พอเราเห็นแบบนั่นก็เลยให้ทาง สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้ามาตรวจจนได้มาเป็นเครื่องมือแพทย์
คุณหลียังบอกอีกว่าถึงแม้วีลแชร์จะเป็นส่วนที่ทำให้สุนัขเดินได้หรือช่วยในเรื่องกายภาพ แต่ก็ยังแนะนำให้ใช้วีลแชร์ควบคู่กับการรักษาของแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอก่อนที่จะให้สุนัขใช้วีลแชร์
สุดท้ายนี้คุณหลีฝากไว้ว่า “อย่ามอบคำว่าพิการให้แก่เขาโดยที่ยังไม่ได้รับการรักษา เพราะบางตัวเราเห็นว่าเขาพิการ แต่ความจริงแล้วเขาอาจจะเป็นโรคที่ทำให้กล้ามเนื้อขาอ่อนแรงก็ได้ แต่ถ้าเกิดเราไปใส่รถพิการให้เขาทันทีโดยไม่มีการตรวจ จะถือว่าเรามอบคำว่าพิการให้เขาเต็มตัว เขาจะไม่มีการพัฒนาแล้วกลับมาเดินได้อีกเลย”
Content : ภาสินี พลับบุรี
Producer/Editing: บุญญานันท์ คำโพธิ์ทอง
PPTV Photo : ทวีชัย จันทะวงศ์ , อำพล ทองเมืองหลวง
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้