อาฟาร์ : คนแดนเดือด แห่งเอธิโอเปีย


โดย เก่ง ฝ้าย ปักหมุดสุดขอบโลก

เผยแพร่




บนแผ่นดินที่ร้อนที่สุดในโลกที่มนุษย์อาศัยอยู่ได้ ด้วยอุณหภูมิ 37- 45 องศาเซลเซียส ไม่มีน้ำประปา ไม่มีไฟฟ้าใช้ มีถนนแต่เราไม่มีรถใช้จะไปไหนมาไหนต้องเดิน ไม่ต้องถามหาความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ใด

 

ถ้าเป็นเราจะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไร? เป็นคำถามชวนให้คิด ...

แต่นี่ คือคำถามที่เป็นคำเชื้อเชิญ ให้ เก่ง กับฝ้าย ออกเดินทางไกลเพื่อมาที่นี่... ณ ดินแดน ของคนอาฟาร์ (Afar) ภูมิภาคทางตอนเหนือฝั่งขวา ของ “เอธิโอเปีย” ประเทศสุดเขตชายแดน ติดเขตประเทศเอริเทรีย (Eritrea) และ ประเทศจิบูตี (Djibouti)

“เอธิโอเปีย” ดินแดนที่เคยนองเลือดจากการสู้รบของชนเผ่ากลุ่มต่างๆ มานานไม่รู้กี่สิบปี ก่อนทุกอย่างจะจบลงด้วยการแบ่งเขตเป็นประเทศใหม่ คือประเทศเอริเทรีย (Eritrea) และ ประเทศจิบูตี (Djibouti)

แม้จะมีความพยายามสร้างสันติภาพมาแล้ว 27 ปี ในช่วงเวลาที่เราสองคนเดินทางมาถึงนั้นอยู่ในช่วงเฉลิมฉลองสันติภาพของที่นี่พอดิบพอดี เราสัมผัสได้อย่างชัดเจนว่าผู้คนแถบนี้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยความระแวดระวัง ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่จะเผยรอยยิ้มต้อนรับให้ผู้มาเยือนอย่างเรา และเป็นเราที่จะต้องยิ้มและแสดงความจริงใจให้กับเขาก่อนจนกว่าอีกฝ่ายจะพอใจ แต่ก็ใช่ว่าจะได้รอยยิ้มและมิตรภาพกลับมาทุกครั้ง เมื่อแรกพบผู้คนบนดินแดนอาฟาร์ (Afar) สิ่งที่ทำให้เราสองคนหวั่นใจที่สุดไม่ใช่ความยิ้มยาก แต่เป็นความเกรี้ยวกราดของผู้คนแถบนี้  ไม่ใช่กับเฉพาะคนแปลกหน้าอย่างเรา หรือคนเอธิโอเปียจากเมืองใหญ่เท่านั้น แต่ความดุดันและท่าทีไม่เป็นมิตรนั้นยังแสดงออกต่อผู้คนเผ่าพันธุ์เดียวกันอีกด้วย เพื่อนชาวเอธิโอเปียทั้งจากภาคกลางและจากภูมิภาคอาฟาร์ (Afar) อธิบายให้เราได้เข้าใจตรงกันว่า อากัปกิริยาท่าทีที่เกรี้ยวกราดดุดันพร้อมจะรบรากันได้ตลอดเวลาของคนอาฟาร์ (Afar) เป็นพฤติกรรมที่ถูกบ่มเพาะจากรุ่นสู่รุ่นของคนแถบนี้ ราวกับเป็นดีเอ็นเอในสายเลือดที่พร้อมจะเดือดดาลทุกเมื่อ “ขอเราอย่าได้ตื่นตระหนกตกใจ แต่ขอชวนให้เราทำความเข้าใจ”

ด้วยภูมิประเทศที่แตกต่างจากแผ่นดินอื่น คนในแดนเดือดอย่างชาวอาฟาร์ (Afar)  เกิด เติบโต และจำต้องใช้ชีวิตอยู่บนแผ่นดินที่ร้อนระอุ มีความร้อนจากใต้พิภพแผดเผาเหมือนอยู่ในเตาอบตลอดเวลา เพราะว่าแผ่นดินนี้อยู่ใกล้กับความร้อนใต้โลกมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากที่ทะเลสาบเดดซี (Dead Sea) ถ้านับจากการเป็นที่ ที่สามารถมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ แผ่นดินของชนอาฟาร์ (Afar) จะกลายเป็นแผ่นดินที่ร้อนที่สุดในโลก เนื่องด้วยอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางถึงราว 120 เมตร ปัจจัยข้างต้นทำให้ที่นี่ “ร้อนแล้ง ไร้ความชุ่มชื้น” จากน้ำทั้งในอากาศและผืนดิน อยู่กินกันด้วยความยากลำบาก ไร้โอกาสและทางเลือกที่ดีในชีวิต นอกจากการเลี้ยงสัตว์อย่างแพะ และอูฐที่แสนจะทนถึกกับความแห้งแล้งแล้ว คนที่นี่มีรายได้หลักจากการขุดเกลือจากทะเลสาบเกลือ ที่รู้จักในนาม Asan Lake (แหล่งเกลือสำคัญของโลกตั้งแต่สมัยโบราณ )

 ชายAfar วัยฉกรรจ์ จะออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืดเพื่อมาที่ทะเลเกลือนี้เพราะหวังว่าเริ่มงานก่อนดวงตะวันจะโผล่พ้นฟ้า จะช่วยทุเลาความร้อนลงได้บ้าง

ชายหนุ่มชาวอาฟาร์ (Afar) จับกลุ่มกันอย่างน้อย 5 คน สำรวจหาพิกัดที่แผ่นเกลือแห้งพอและเหมาะจะขุดได้ คนหนึ่งออกแรงใช้เครื่องมือสับ และแบ่งให้แผ่นเกลือแตก 3 คนใช้ไม้ท่อนใหญ่ งัดแผ่นเกลือขึ้นด้วยแรงทั้งหมดที่มี ส่วนอีกคนใช้เครื่องมือที่คมและแข็งแรงมากพอ บวกรวมกับความชำนาญ แบ่งแผ่นเกลือให้เป็นก้อนขนาดประมาณอิฐบล็อกเท่าๆ กันทุกแผ่น ก่อนยกไปเรียงตั้งไว้ พวกเขาก้มหน้าก้มตาทำไปกลางแดดที่แผดเผา มีเพียงน้ำขวดที่ห่อด้วยผ้าเพื่อรักษาความเย็นไว้ให้มากที่สุด กับแผ่นแป้งที่ห่อพกมาจากบ้านเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงพลังระหว่างวัน

"อาบเหงื่อ ต่างน้ำ" สำหรับคนที่นี่ไม่ใช้คำเปรียบเปรย แต่เป็นคำอธิบายการทำงานที่แสนเหน็ดเหนื่อยอย่างตรงไปตรงมา พวกเขาอยู่กลางทะเลสาบเกลือตั้งแต่เช้ามืดจนถึงเวลาลำเลียงขึ้นหลังอูฐของพ่อค้าเกลือที่มารับซื้อต่อ ในราคาก้อนละ 5 Birr (ประมาณ 5-6 บาท) ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย ทุกคนในทีมจะได้ส่วนแบ่งจากการขายเกลือทั้งหมดเท่ากัน คิดเป็นเงินบาทไทยเฉลี่ยละประมาณ 200-300 บาทจำนวนนี้เป็นเงินไม่น้อย แต่ต้องแลกกับการใช้แรงงานหนักท่ามกลางธรรมชาติที่ไม่เอื้ออำนวย

บ้านที่พักอาศัยสร้างจากกิ่งไม้ มีสังกะสีหรือผืนผ้าใบกันลมร้อน และนอนบนเตียงที่ขึงด้วยเชือก ไม่มีเตียงนุ่มนอนสบาย สมกับที่ต้องใช้แรงอย่างหนักและต้องใช้ชีวิตอย่างลำบาก พูดง่ายๆ สำหรับคนนอกอย่างเรา เราว่าไม่คุ้ม แต่นี่อาจเป็นทางเลือกเดียวที่เขามี

 

ขณะที่ช่วงชีวิตของคนอาฟาร์ (Afar) หลายสิบปีมานี้ต้องเผชิญกับการต่อสู้ รบรากันกับกลุ่มชนเผ่าด้วยกันเองอย่างไม่หยุดหย่อนต่อเนื่องยาวนานมาเมื่อครั้งอดีต ตั้งแต่ยังไม่มีเส้นพรมแดนแบ่งแยกรัฐประเทศ ตามนิยามของสากลโลก ถึงจะประกาศสันติภาพเลิกรบกันแล้วอย่างที่บอก แต่ยังมีเหตุร้ายเข่นฆ่ากันเกิดขึ้นเสมอ ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าวมาจนถึงตอนนี้ นั่นยิ่งทำให้พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างระแวดระวัง รถทุกคันที่ขับเข้าเขตเมือง เขตหมู่บ้านของชาวอาฟาร์ (Afar) ถูกตรวจตรา และต้องแจ้งที่มาที่ไปอย่างละเอียด เพราะพวกเขารู้ดีว่า ชีวิตและแผ่นดินเกิดแห่งนี้พร้อมจะถูกคุกคามได้ทุกเวลา จากปัจจัยแวดล้อมทางธรรมชาติ ความยากลำบากในการหาเลี้ยงชีพ และปัจจัยด้านการเมืองที่มีมายาวนานในประวัติศาสตร์เพียงเท่านี้ ก็เป็นเหตุผลมากพอที่ทำให้เราเข้าใจที่มาของความ "ไม่เป็นมิตร" ของคนที่นี่ ... “Afar Region”

เราถามไถ่พวกเขาผ่านคนท้องถิ่น “หากมีทางเลือกในชีวิตที่ดีกว่าเขาจะยังใช้ชีวิตแบบนี้ อยู่ตรงนี้ไหม” บางคนบอกอย่างไม่ต้องคิด ว่าพวกเขาไม่มีทางมีตัวเลือกที่ดีไปกว่านี้ หาใช่ว่าเขาไม่ดิ้นรนขวนขวายตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่การไปอยู่ถิ่นที่อื่นนั่นหมายถึงการต้องต่อสู้เพื่อย้ายถิ่นฐาน เหตุผลปัจจัยหลายประการทำให้สุดท้ายต้องอยู่ที่นี่ เพราะที่นี่คือบ้านเกิด และพวกเขารู้ดีว่าจะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ได้อย่างไร บางความเห็นทำให้เราเข้าใจชัดว่าเมื่อเข้าไปอยู่ในเมืองใหญ่ต้องดิ้นรนและปรับตัวกับคนหลากหลาย ด้วยข้อจำกัดด้านการศึกษาทำให้เป็นได้เพียงแรงงานราคาถูก การตรากตรำอยู่บ้านเกิดและใช้ชีวิตอยู่ในโลกของอาฟาร์ (Afar) คือสิ่งที่ทำให้มีตัวตน

ในวงสนทนาของเก่งกับฝ้าย และเพื่อนชาวเอธิโอเปียตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีหลากหลายมุมมอง หลากหลายความเห็นสิ่งที่เรามองตรงกันคือ “ถ้ามีหนทางที่จะไปให้ชีวิตดีขึ้น คงไม่มีใครคิดปฏิเสธ” เพราะแม้บนแผ่นดินนี้จะแห้งแล้ง และร้อนระอุปานใด แต่ธรรมชาติก็ไม่ได้โหดร้ายกับผู้คนที่นี่ขนาดนั้น ในเขตแดนของชาวอาฟาร์ (Afar) นั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุ ทั้งซัลเฟอร์ที่ปะทุออกมาทุกเมื่อเชื่อวัน เกลือจากทะเลสาบที่ขุดใช้ได้ต่อเนื่อง แถมยังมีแร่ธาตุอื่นๆ ที่สามารถนำไปสร้างประโยชน์ทางอุตสาหกรรมได้อย่างมหาศาล ไม่ใช่ว่าไม่มีใครรู้ ความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุจากแผ่นดินที่ว่าร้อนสุดบนโลกนี้ เป็นที่หมายมั่นของนักลงทุนต่างชาติจำนวนไม่น้อย ปัจจุบันพื้นที่รอบๆเขตอาฟาร์ (Afar) มีโรงงานของกลุ่มทุนจากจีน มาลงหลักปักฐาน มีถนนหนทางให้รถขนาดใหญ่ขนส่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อย่างสะดวกแล้ว

หากถ้ามองย้อนไปในอดีตที่นี่ก็เป็นสาเหตุให้นักล่าอาณานิคมหลายชาติพยายามเข้ามาครอบครองเพื่อใช้ประโยชน์ เพียงแต่ว่ายุคนั้นวิทยาการต่างๆ อาจยังไม่สามารถทำให้ทนต่อความร้อนที่สูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียสในทุกวันได้ ขณะเดียวกันก็มีบันทึกว่าที่นี่เคยมีอุณหภูมิสูงสุดถึง 60 องศาเซลเซียส จนทำให้หลายคนต้องยอมพ่ายต่อความร้อน ถอนใจยกพลกลับ

เอธิโอเปียเป็นชาติเดียวที่ไม่เคยตกอยู่ใต้อาณานิคม มีคนให้ความเห็นว่า นอกจากการเมืองการทหารยุคนั้นจะเข้มแข็งพอตัวแล้ว ปัจจัยอีกส่วนหนึ่งเพราะความร้อนแล้งและดุดันตามสัญชาตญาณของคนอาฟาร์ (Afar) นั่นเอง เราทุกคนในวงสนทนามองว่าความอุดมสมบูรณ์ใต้ผืนดินที่ธรรมชาติมอบให้คนที่นี่ มันน่าจะทำให้พวกเขายังพอมีความหวัง ว่าสักวันชีวิตจะดีขึ้น  เพียงแต่อาจต้องรอ...รอให้คนอาฟาร์ (Afar) รู้จักใช้พลังของกลุ่มก้อนจากการรวมตัวอย่างเหนียวแน่น สร้างโอกาสให้ทุกคนลืมตาอ้าปากได้อย่างเท่าเทียม ไม่ใช่เพียงคนชั้นปกครอง ที่มีอำนาจ มีเงินและอาวุธ หรือคนต่างถิ่นที่มีเงินเต็มมือเท่านั้นที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบนแผ่นดินเกิดของคนอาฟาร์ (Afar) รอให้เด็กๆที่กำลังเติบโต เข้าถึงการศึกษาและทำความเข้าใจว่าโลกใบนี้กว้างใหญ่ หาใช่เพียงโลกของอาฟาร์ (Afar) แล้วกลับมาพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่บนแผ่นดินที่บรรพบุรุษของพวกเขาสร้างเอาไว้ ตอนนี้ทุกคนต่างก็รอ...  คนอาฟาร์ (Afar) ก็ยังรอ ถึงแม้เรายังไม่รู้ว่าต้องรอถึงเมื่อไหร่ ที่คนแดนเดือด จะเปลี่ยนแปลง

ออกเดินทางพร้อมกันในรายการ ปักหมุดสุดขอบโลก ตอน เอธิโอเปีย บันทึกจากนรก ศุกร์ที่ 25 มกราคม 2562 เวลา 22.30 น. ทาง PPTV HD ช่อง 36

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ