เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบคลองอีสานเขียว ในอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา หลังชาวบ้านซับชุมพล หมู่ 9 ตำบลหนองหญ้าขาว ประกอบกิจการนำถังคล้ายถังสารเคมีมาล้าง แล้วนำไปขาย โดยไม่มีการบำบัดน้ำเสียที่ถูกต้อง ทำให้ของเสียไหลลงคลอง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ
การตรวจสอบพบว่า บ่อเก็บน้ำเสียที่อยู่ติดกัน 2 บ่อ ใกล้แหล่งน้ำ มีสภาพดำคล้ำเป็นคราบ มีร่องรอยการรั่วไหลของน้ำเสียลงสู่คลองอีสานเขียว ผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณโลหะหนักของน้ำ มีค่าแคดเมียมเกินค่ามาตรฐานน้ำดื่ม ที่กรมอนามัยกำหนด
53 องค์กรร้องนายกฯ สั่งยกเลิกใช้สาร “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส”
นักวิจัย เผยเด็กชนบทเสี่ยงป่วยทางจิตน้อยกว่าเด็กในเมือง
บ่งชี้ว่า น้ำในคลองอีสานเขียวมีคุณภาพไม่เหมาะสมที่จะนำไปใช้เพื่อการเลี้ยงสัตว์หรือการบริโภค
จากนั้นเจ้าหน้าที่ตรวจบ้านเรือนที่ประกอบกิจการล้างถังสารเคมี ที่ติดกับคลองอีสานเขียว โดยผู้ประกอบการ 2 ราย ทำบ่อบำบัดน้ำเสียไม่ได้มาตรฐาน สภาพน้ำในบ่อเกรอะ บ่อกัก บ่อเก็บน้ำทิ้งยังมีสภาพดำเสีย และเป็นฟอง มีสารปนเปื้อนโลหะหนักอยู่เป็นปริมาณมาก แม้ว่าจะพยายามทำบ่อบำบัดน้ำเสียเพิ่ม แต่ก็ยังส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ นอกจากนี้ ได้นำปูนขาวมาโรยบริเวณพื้นที่อยู่ติดกับคลองอีสานเขียว เพื่อซับความชื้นให้แห้ง แต่ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร
ตรวจสอบข้อมูลทราบว่าปัจจุบันในพื้นที่มีผู้ประกอบกิจการล้างถังสารเคมีลักษณะทำเป็นครัวเรือน จำนวน 13 ราย แต่มีเพียง 1 รายที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ ส่วนที่เหลือไม่มีใบอนุญาต ส่วนที่มาของถังบรรจุสารพิษนั้น จากการสอบถามผู้ประกอบการแจ้งว่า ไม่รู้ว่ามาจากที่ไหน เพราะที่ผ่านมาก็รับซื้อมาจากร้ายขายของเก่า
ล่าสุดทางจังหวัดมอบหมายให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ไปแจ้งความดำเนินคดีและปิดกิจการผู้ประกอบการทั้ง 12 ราย เพราะนำถังที่บรรจุสารเคมีอันตราย ออกมาโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และจะได้ประสานสาธารณสุขมาตรวจสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ว่าได้รับผลกระทบจากสารเคมีหรือไม่ แต่เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ จึงอนุญาตให้เจ้าของกิจการ นำถังที่ยังไม่ได้ล้าง ไปขายได้ และให้ไปหาถัง ที่ไม่ใช่ถังบรรจุสารเคมีอันตราย เช่นถังบรรจุน้ำ หรือบรรจุอาหารต่างๆ มาล้างแทน
ส่วนในระยะยาว จะต้องแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ คือไม่ปล่อยให้มีถังบรรจุสารเคมีออกมาจากโรงงาน แล้วมากระจายอยู่ตามร้านขายของเก่าทั่วไป ซึ่งจะได้ทำเรื่องเสนอต่ออธิบดีกรมควบคุมมลพิษว่า ผู้ที่จะนำถังบรรจุสารเคมีอันตรายออกมาได้ ต้องมีใบอนุญาตเท่านั้น เพื่อตัดวงจรต้นเหตุของปัญหาเหล่านี้ออกไป จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน.