ปีนี้ “ไม่แล้ง” โฆษกรัฐบาลบอกนายกฯห่วง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ปีนี้ "ไม่แล้ง" กรมชลประทานเผยปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศมีอยู่กว่า 60% ซึ่งมากกว่าปี 64 ขณะที่นายกฯห่วงสถานการณ์ภัยแล้ง

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามและให้ความสำคัญกับสถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้งซึ่งเป็นวาระสำคัญของประเทศตามนโยบายรัฐบาล 

โดยจากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีหลายจังหวัดที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เพราะพื้นที่ของจังหวัดมีแหล่งน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ การบริหารจัดการน้ำจึงต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก 

“M-Flow” เริ่มปรับจริง 1 เม.ย. ไม่ชำระเงินภายใน 7 วัน จ่าย 10 เท่า

กรณีไหน? ขอขยายเวลาการยื่นแบบ "ภาษี"ได้

ซึ่งการให้ความช่วยเหลือจะเป็นลักษณะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ยั่งยืนได้ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้

นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยประชาชนผู้ใช้น้ำ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง บริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศทั้งระบบอย่างบูรณาการ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำในฤดูแล้งปี 2565 ที่กำลังมาถึง เน้นย้ำการหาวิธีเก็บกักน้ำ การกระจายน้ำ และการจูงน้ำไว้ใช้ในยามปกติและในฤดูแล้งให้มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน พร้อมย้ำการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ แจ้งเตือนให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสถานการณ์น้ำ ให้ประชาชนตระหนักในการใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อช่วยลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ซึ่งความร่วมมือของทุกภาคส่วน จะทำให้ปัญหาวิกฤตภัยแล้งผ่านพ้นไปได้

ขณะที่ ฝ่ายประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65 ณ วันศุกร์ที่ 1 เมษายน 2565 ระบุว่า สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 47,693 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 63% เมื่อเทียบกับปี 2564 พบว่ามีปริมาตรน้ำมากกว่า 9,542 ล้าน ลบ.ม. และสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีปริมาตรน้ำในอ่าง 44,251 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 62% เทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่ามีปริมาตรน้ำมากกว่า 8,804 ล้าน ลบ.ม.

โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% ขึ้นไป จำนวน 4 อ่าง ได้แก่ อ่างสำนางรอง, อ่างศรีนครินทร์, อ่างบางพระ และอ่างบางลาง ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำน้อยกว่า 30% มีจำนวน 1 อ่าง ได้แก่ อ่างคลองสียัด

ทั้งนี้ สำหรับแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564-30 เมษายน 2565 ระบุว่า ปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 มีจำนวน 37,857 ล้าน ลบ.ม. โดยความต้องการใช้น้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ จำนวน 22,280 ล้าน ลบ.ม. โดยมีการวางแผนจัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญดังนี้ เพื่อการเกษตร 11,785 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,535 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 518 ล้าน ลบ.ม. และรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 7,442 ล้าน ลบ.ม. สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยามีความต้องการใช้น้ำ 5,700 ล้าน ลบ.ม. มีการวางแผนจัดสรรน้ำแยกเป็น เพื่อการเกษตร 2,415 ล้าน ลบ.ม. เพื่ออุปโภค-บริโภค 1,150 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 135 ล้าน ลบ.ม. และการรักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 2,000 ล้าน ลบ.ม.

ผลการจัดสรรน้ำ ทั้งประเทศ (อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564-30 เมษายน 2565 ใช้น้ำไปแล้ว 18,489 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 83% ของแผนจัดสรรน้ำ ส่วนในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ ป่าสักฯ รวมการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง) วันนี้ใช้น้ำไป 37.24 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ถึงปัจจุบันใช้น้ำไปแล้ว 5,155 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 90% ของแผนจัดสรรน้ำ

สรุปได้ว่า แม้ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564-30 เมษายน 2565 จะมีการจัดสรรน้ำไปแล้วมากกว่า 80% ของแผนจัดสรรน้ำ แต่ปริมาตรน้ำในปัจจุบัน ทั้งในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีอยู่กว่า 60% ซึ่งมากกว่าปี 2564


 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ