สถิติพบเด็กเสียชีวิต ในรถตู้เฉลี่ยปีละ 1 คน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรณีเด็กหลับในรถ ก่อนที่จะถูกลืมทิ้งไว้ในรถตู้รับส่งนักเรียน และสุดท้ายเกิดความเศร้าสลด เพราะเด็กตัวน้อยๆ ได้เสียชีวิตจากไปนั้น นับว่าเป็นเรื่องซ้ำซากที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง และทุกวันนี้ยังพบปัญหาเดิม

ย้อนไปดูคดีต่างๆ  ที่เคยเกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา พบว่า ตั้งแต่ปี 2555 มาจนถึงเคสล่าสุดนี้ มีเคสที่เคยเกิดขึ้นแล้ว อย่างน้อยอีก 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2555-2559 เป็นเด็กหญิง 2 คน เด็กชาย 2 คน อายุ 3 ขวบ 2 คน อายุ 4 ขวบ 2 คน เกิดขึ้นในหลายจังหวัด ทั้ง สมุทรปราการ นครศรีธรรมราช กาฬสินธุ์ และชลบุรีครั้งนี้ ซึ่งทั้งหมดเป็นกรณี เด็กหลับในรถตู้ แต่คนขับมองไม่เห็น ส่วนใหญ่มีการขับรถไปจอดกลางแดด อย่างน้อย 6 ชั่วโมง และสุดท้าย เพื่อพบเด็ก เด็กก็ได้เสียชีวิตลงแล้ว

ขนส่งฯย้ำ! รถรับส่งนักเรียนทุกคันต้องได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนมีโทษหนัก

JSL จ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างให้กับพนักงานครบแล้ว รวมกันกว่า 28 ล้านบาท

ทีมข่าวพูดคุยกับ นพ. ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ระบุว่า ปี 2557-2563 ประเทศไทย เกิดเหตุลืมเด็กในรถรวมทั้งสิ้น 129 คน เฉลี่ยปีละ 18 คน ส่วนกรณีที่เด็กเสียชีวิตมากที่สุดเกิดขึ้นบนรถตู้หรือรถรับส่งนักเรียน รวม 5 คน หรือเฉลี่ยปีละ 1 คน โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ขวบ

คุณหมอธนะพงศ์ มองว่า ปัจจัยหลัก คือ เราไม่ได้ให้ความสำคัญ กับการเช็กจำนวนนักเรียนทั้งตอนขึ้น และลงจากรถ เมื่อเด็กหลงอยู่ในรถ และหากรถตากแดดอยู่ ในเวลาเพียงประมาณครึ่งชั่วโมง อุณหภูมิในรถจะเพิ่มขึ้น 10 องศาเซลเซียส แต่หากนานหลายชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วงกลางวัน อุณหภูมิในรถจะเพิ่มขึ้นอีก 40-50 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดฮีทสโตรก เด็กจะเกิดภาวะเลือดเป็นกรด อวัยวะต่างๆ ล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นระบบหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด และการทำงานของไต จนทำให้เสียชีวิตในที่สุด

สำหรับแนวทางการป้องกันนายแพทย์ธนะพงศ์เน้นย้ำว่า หัวใจสำคัญที่สุดคือการเช็กจำนวนเด็กนักเรียนทั้งก่อนขึ้นรถและหลังลงจากรถ หรืออาจใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอย่างที่หลายๆ โรงเรียนทำ คือ ระบบสแกนบัตรนักเรียน เพื่อที่พ่อแม่ผู้ปกครองและคุณครูจะได้ทราบว่าเด็กเข้าโรงเรียนเรียบร้อยแล้วหรือยัง

คุณหมอธนะพงศ์ ยังได้ยกตัวอย่างระบบ Child Safety Alarm Act ของรถโรงเรียนในฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นระบบที่จะส่งสัญญาณเตือน ให้คนขับรถตรวจสอบว่ายังมีเด็กอยู่บนรถหรือไม่ หลังจากที่ส่งนักเรียนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งระบบนี้ก็เกิดขึ้นหลังจากที่ฟลอริดา มีรายงานเด็กเสียชีวิตเพราะติดอยู่ในรถที่อากาศร้อนหลายเคส

สำหรับตัวเด็กเอง ควรที่จะมีการสอนให้เด็กรู้จักการบีบแตร เคาะเรียก หรือปลดล็อก เมื่อติดอยู่ในรถ โดยเฉพาะเด็กเล็กวัยประมาณ 2-3 ขวบ

ส่วนกรณีเด็กหญิงวัย 7 ขวบที่เสียชีวิตบนรถที่จังหวัดชลบุรี นพ.ธนะพงศ์ตั้งข้อสังเกตว่าส่วนใหญ่แล้วเหตุการณ์เด็กติดในรถ มักไม่ค่อยเกิดกับเด็กโต หรือวัยประถม เพราะเป็นวัยที่ช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว โดยส่วนตัวมองว่าอาจมีสาเหตุอื่นอย่างโรคประจำตัว หรือการทำร้ายร่างกาย หรือไม่ ซึ่งยังฟันธงไม่ได้ ต้องรอผลชันสูตร

ด้าน นส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุ ได้รับรายงานเรื่องนี้แล้ว เป็นโรงเรียนเอกชน ได้สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า นักเรียนที่เสียชีวิต สาเหตุที่แท้จริงเป็นอย่างไร ที่ผ่านมากำชับเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษามาตลอด โดยเฉพาะรถรับส่งนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีมาตรการเรื่องระบบรถรับส่งนักเรียนทั้งของรัฐและเอกชนมาอย่างเข้มงวด 

ส่วน ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่า เรื่องนี้ หากเป็นการลืมเด็กในรถโรงเรียนจนเด็กเสียชีวิต ก็ถือเป็นความบกพร่อง ละเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่ ศธ.กำหนด  เช่น จะต้องมีคนขับ และครูที่ดูแลตามจำนวนที่กำหนด ก่อนปิดรถก็ต้องตรวจสอบให้ละเอียดว่ามีเด็กค้างอยู่หรือไม่ ดังนั้นเรื่องนี้จะต้องมีผู้รับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ