วันที่ 2 ก.ย. 2565 กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำ แจ้งว่า ตามที่ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ มีประกาศฉบับที่ 35/2565 ลงวันที่ 31 ส.ค. 2565 เรื่อง กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา จากการคาดการณ์จะมีฝนตกหนักในช่วงวันที่ 3 - 8 ก.ย. 2565 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา
“จิสด้า” เทียบพื้นที่น้ำท่วม ส.ค. 54 กับ ส.ค. 65 พบต่างกัน 3 เท่าตัว
เตือน! “4 จังหวัด-กทม.” เฝ้าระวังระดับน้ำเจ้าพระยา ช่วง 1- 10 ก.ย. 65
จากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 2,000 - 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 1,800 - 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.40 - 0.50 เมตร ในช่วงวันที่ 1 - 10 ก.ย. 2565 บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ซึ่งรวมถึงพื้นที่กรุงเทพมหานคร นั้น
กรุงเทพมหานคร ได้มีการเตรียมการวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจากน้ำฝน น้ำหลาก และน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งมีศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยมีการประชุมหารือเพื่อประสานข้อมูลร่วมกับกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องเป็นประจำซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างและเป็นแผนปฏิบัติการเตรียมการรองรับสถานการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อลดผลกระทบและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนให้น้อยที่สุด
การเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม กรุงเทพมหานครได้จัดเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังตามจุดอ่อนหรือจุดเสี่ยงน้ำท่วม รวมทั้งได้จัดเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชน หากเกิดเหตุกรณีฉุกเฉินสามารถจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการแก้ไขและช่วยเหลือได้ในทันทีตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ยังได้จัดเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำและตรวจสอบความมั่งคงแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนงอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีแนวป้องกันน้ำท่วมความยาวประมาณ 87.93 กม. ประกอบด้วยแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรของกรุงเทพมหานครความยาวประมาณ 79.63 กม. ซึ่งมีระดับความสูงของคันกั้นน้ำอยู่ที่ระดับ+2.80 ม.รทก.ถึง+3.50 ม.รทก.(เมตร. ระดับทะเลปานกลาง) สามารถรองรับปริมาณน้ำเหนือหลากที่ไหลผ่านกรุงเทพมหานครได้ที่ปริมาณ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ส่วนของแนวป้องกันตนเองของหน่วยงานราชการอื่นและของเอกชนความยาวประมาณ 8.30 กม. เช่น แนวป้องกันน้ำท่วมของกรมชลประทาน แนวป้องกันน้ำท่วมของกองทัพเรือ แนวป้องกันน้ำท่วมของธนาคารแห่งประเทศไทย แนวป้องกันน้ำท่วมของศาสนสถานหรือศาลเจ้าท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า อู่จอดเรือ ร้านค้า สถานประกอบการร้านอาหารริมน้ำ อาคารโกดังสินค้า เป็นต้น ซึ่งในส่วนของแนวป้องกันตนเองบางแห่งมีระดับของแนวคันกั้นน้ำต่ำและไม่มีความมั่นคงแข็งแรง มีการรั่วซึมหรือแนวฟันหลอ ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการเรียงกระสอบทรายเสริมความสูงของแนวคันกั้นน้ำ อุดจุดรั่วซึม เพื่อให้สามารถป้องกันน้ำเหนือหลาก น้ำทะเลหนุนสูงได้อย่างปลอดภัยและจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง
สำหรับชุมชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วม ต้องติดตามสถานการณ์น้ำเหนือ เวลาน้ำขึ้นเต็มที่ในแต่ละวันอย่างใกล้ชิด บางชุมชนอาจจะได้รับผลกระทบเรือวิ่งผ่านไปมาด้วยความเร็วทำให้แรงคลื่นกระทบพื้นบ้าน ซึ่งกรุงเทพมหานคร ได้ประสานขอความร่วมมือไปยังกรมเจ้าท่าช่วยตรวจสอบ กำชับและใช้มาตรการเรื่องการเดินเรือเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบบ้านเรือนของประชาชน
ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงบริษัท ห้างร้านที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถติดตามสถานการณ์น้ำรวมถึงแจ้งเหตุเดือดร้อนและขอรับความช่วยเหลือจาก กทม.ได้ที่ http://dds.bangkok.go.th/ ,www.prbangkok.com ,Facebook:@BKK.BEST, กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ Twitter:@BKK_BEST, กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ รวมถึงการแจ้งจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมบนถนนสายหลัก และรับแจ้งเหตุน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ โทร. 1555 หรือศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำ โทร.022485115 หรือแจ้งทางระบบทราฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue)
น้ำมันลง 2 วันติด 'เบนซิน' ลดอีก 50-80 สต. มีผลตีห้า 3 ก.ย.