สุราพื้นบ้าน คือ....
ครม.ปลดล็อกสุราพื้นบ้าน ไฟเขียวผลิตในครัวเรือน เปิดทางรายย่อย
เปิดกฎกระทรวง "ผลิตสุรา" ใหม่ ประกาศในราชกิจจาฯ แล้ว
เครื่องดื่มที่เกิดจากภูมิปัญญาไทย มีมาตั้งแต่โบราณ มีหลากหลายชนิด แต่หากแบ่งจริงๆ สุราพื้นบ้าน มีด้วยกัน 4 ชนิด คือ
1.สาโทหรือน้ำขาว
2.อุหรือเหล้าไห
3.กะแช่หรือ น้ำตาลเมา
4.สุราหรือเหล้ากลั่น
โดยแต่ละชนิดจะมีกรรมวิธีผลิตและวัตถุดิบที่แตกต่างกัน
สาโท หรือน้ำขาว ผลิตจากข้าวเหนียวนึ่ง คลุกกับลูกแป้ง หมักในภาชนะจนเกิดเป็นน้ำสุรา
ขณะที่ อุ ทำจากข้าวเหนียวเช่นกัน แต่มีส่วนผสมของแกลบด้วย หมักในไห ปิดสนิท เวลาดื่มต้องดูดจากไหด้วยหลอด
นอกจากนั้นยังมี กะแช่ หรือน้ำตาลเมา นั้น จะผลิตจากน้ำตาลจากจั่นมะพร้าวหรือต้นตาลโตนด นำมาใส่ไม้มะเกลือ เพื่อให้เกิดการหมักจนเกิดแอลกอฮอล์ และเหล้ากลั่นจะได้จากการนำน้ำสาโทมากลั่นจนได้เป็นเหล้าที่มีความแรงแอลกอฮอล์สูงกว่าสุราแช่ คือสูงกว่า 15 เปอร์เซ็นต์
ส่วน สุราหรือเหล้ากลั่น คือ สุราที่ได้กลั่นแล้วและให้หมายความรวมถึงสุรากลั่นที่ได้ผสมกับสุราแช่แล้ว แต่มีแรงแอลกอฮอล์เกินกว่า 15 ดีกรี
นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดชนิดของสุรากลั่นเป็น 5 ชนิด ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 46 แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 และกฎกระทรวงเรื่องกําหนดชนิดของสุราและอัตราภาษีของสุรา พ.ศ. 2546 คือ
- สุราชนิดสามทับ คือ สุรากลั่นที่มีแรงแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 80 ดีกรีขึ้นไป
- สุราขาว คือ สุรากลั่นที่ปราศจากเครื่องย้อมหรือสิ่งผสมปรุงแต่ง มีแรงแอลกอฮอล์ต่ํากว่า 80 ดีกรี
- สุราผสม คือ สุรากลั่นที่ใช่สุราขาวหรือสุราสามทับมาปรุงแต่ง มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 80 ดีกรี
- สุราปรุงพิเศษ คือ สุรากลั่นที่ใช้สุราสามทับมาปรุงแต่ง มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 80 ดีกรี
- สุราพิเศษ คือ สุรากลั่นที่ทําขึ้นโดยใช้กรรมวิธีพิเศษ มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 80 ดีกรี แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทวิสกี้ บรั่นดี รัม ยิน หรือสุราแบบต่างประเทศอย่างอื่น และประเภทเกาเหลียง เชี่ยงชุน บุ้นกุ่ยโล่ว หรือสุราแบบจีนอย่างอื่น