กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานตำรวจแห่งชาติจับกุม น.ส.กชพร (สงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นโบรกเกอร์จัดหาแหล่งเงินทุนให้กับนายแพทย์บุญ วนาสิน ผู้ต้องหาในคดีพิเศษที่ 136/2567 สืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ กองกิจการอำนวยความยุติธรรม ได้รับโอนสำนวนการสอบสวนคดีอาญาจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2567 มีผู้กล่าวหาและผู้เสียหาย จำนวนกว่า 605 ราย
ปรากฏมูลค่าความเสียหาย 16,100,602,806 บาท ได้ทำการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมอายัดทรัพย์และส่งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษดังกล่าวไปยังพนักงานอัยการ
เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 มีความเห็นควรสั่งฟ้องนายแพทย์บุญกับพวก รวม 16 ราย มีผู้ต้องหา จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายบุญ (สงวนนามสกุล) น.ส.กชพรฯ และ น.ส.ฐิติพรฯ หลบหนีไปยังต่างประเทศ จึงได้แจ้งไปยังองค์การตำรวจสากล (INTERPOL) ออกประกาศตำรวจสากลสีแดง (Red Notice) ซึ่งก่อนหน้านี้ (วันที่ 7 เมษายน 2568) กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ร่วมกันจับกุมตัว น.ส.ฐิติพรฯ ซึ่งเป็นโบรคเกอร์ของนายแพทย์บุญฯ เช่นเดียวกันได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ
โดย น.ส.กชพร ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาได้ที่สนามบินนานาชาติดอนเมือง โดย น.ส.กชพรฯ เดินทางหลบหนีออกจากประเทศไทย ตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา
น.ส.กชพร เป็นผู้ต้องหารายที่ 15 ที่ถูกจับกุมตัวในคดีพิเศษที่ 136/2567 มีพฤติการณ์เชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงทุนโดยการนำเงินมาให้นายแพทย์บุญฯ กับพวกกู้ยืม ต่อมาไม่จ่ายผลตอบแทนและไม่คืนเงินต้น จึงเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้ติดตามจับกุมตัวนายแพทย์บุญ ที่ยังหลบหนีอยู่เพื่อนำมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2567 และดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม กรณีการให้สัมภาษณ์ของนายบุญ ผ่านสื่อมวลชนแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 ว่า ตนและครอบครัวไม่เคยนำหุ้น THG ที่ถือไปจำนำหรือกู้เพื่อขอสินเชื่อทั้งในและนอกตลาด ไม่กล้าทำ เพราะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ นั้น แต่จากการตรวจสอบพบพยานหลักฐานที่พิจารณาได้ว่า การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่พบว่านายบุญและบุคคลในกลุ่มวนาสินมีการจำนำหุ้น THG ไว้กับบุคคลหลายรายในจำนวนที่มีนัยสำคัญ และหุ้นดังกล่าวบางส่วนได้ถูกบังคับจำนำไปขายทอดตลาดแล้ว และส่วนที่เหลือมีโอกาสสูงที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นของบุคคลอื่น
ดังนั้น โดยที่นายบุญและกลุ่มวนาสินเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของบริษัท THG การให้สัมภาษณ์ของนายบุญตามที่กล่าวข้างต้น ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ของ THG จะยังคงมีนายบุญและกลุ่มวนาสินเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ THG อันดับ 2 ต่อไป จึงเข้าข่ายเป็นการบอกกล่าว เผยแพร่ หรือให้คำรับรองข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวกับบริษัท THG โดยประการที่น่าจะทำให้มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ หรือต่อการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 240 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ซึ่งมีระวางโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ก.ล.ต. จึงได้กล่าวโทษนายบุญ ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ได้รายงานการดำเนินการตามข้างต้นต่อ ปปง. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป เนื่องจากความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ทั้งนี้ ภายหลังการกล่าวโทษของ ก.ล.ต. กระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาต่อไปเป็นการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ และการพิจารณาของศาลยุติธรรม ตามลำดับ โดย ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดี และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว