ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม ภายใต้การอำนวยการของพล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ร่วมกันจับกุม น.ส.บวรรัตน์ อายุ 22 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ 296/2568 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2568
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ผู้เสียหายได้รับโทรศัพท์จากบุคคลอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทขนส่งเอกชน แจ้งว่ามีพัสดุต้องสงสัยที่ภายในบรรจุพาสปอร์ตของชาวเมียนมา สมุดบัญชีธนาคารหลายรายการ รวมถึงบัญชีธนาคารที่มีชื่อของผู้เสียหายอยู่ด้วย
จากนั้น ผู้ต้องหาได้ใช้เบอร์โทรศัพท์ปลอมเป็นสายด่วน 191 โทรกลับมาหาผู้เสียหาย อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่า ผู้เสียหายอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการฟอกเงินและเสนอให้เพิ่มเพื่อนไลน์ โดยใช้ชื่อและตราของหน่วยงานราชการปลอม พร้อมวิดีโอคอลใส่เครื่องแบบตำรวจ อ้างข้อกฎหมายและข่มขู่ให้โอนเงินเพื่อแสดงความบริสุทธิ์
ผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงโอนเงินจำนวน 3 ครั้ง รวมทั้งสิ้นกว่า 150,000 บาท ต่อมาทราบว่า ถูกหลอกจึงเข้าแจ้งความซึ่งจากการสืบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจพบเส้นทางการเงินโยงถึงหลายบัญชี หนึ่งในนั้นเป็นชื่อของ น.ส.บวรรัตน์
ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อนุมัติหมายจับผู้ต้องหาก่อนจับกุมตัวผู้ต้องหา เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมนายกฤตธี สามีของ น.ส.บวรรัตน์ ตามหมายจับศาลอาญาในความผิดเกี่ยวกับ “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ที่ จ.อุทัยธานี
ซึ่งขณะจับกุมนายกฤตธี น.ส.บวรรัตน์ ได้ร้องขอให้เจ้าหน้าที่จับตนเองไปด้วย อ้างว่า ตนก็น่าจะมีหมายจับและไม่อยากห่างสามี แต่ตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบหมายจับแต่อย่างใด
ต่อมาหลังจากจับกุมตัวนายกฤตธี เจ้าหน้าที่ตรวจพบว่า น.ส.บวรรัตน์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับจริง และทราบว่า น.ส.บวรรัตน์ฯ ย้ายมาอยู่ใกล้เรือนจำ
ต่อมาพี่สาวของ น.ส.บวรรัตน์ ทราบว่า น.ส.บวรรัตน์ มีหมายจับ จึงติดต่อเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมเพื่อขอมอบตัว น.ส.บวรรัตน์ ตามความประสงค์ที่ต้องการติดคุก และออกคุกมาพร้อมกับ นายกฤตธี เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการจับกุม น.ส.บวรรัตน์ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ไม่ให้การใด ๆ