ค้น 21 จุด จับหนุ่มขายกระสุนปืนให้เด็ก 14 ปี
ผู้ปกครองเด็ก 14 ปี ร่อนเอกสาร กราบขอโทษสังคม ยันร่วมมือตำรวจเต็มที่
ถือเป็นเรื่องสุดช็อกแห่งปีกับเหตุการณ์ “เด็ก 14 กราดยิงในพารากอน” เพราะครั้งนี้ผู้ก่อเหตุไม่ใช่ “ทหาร” หรือ “อดีตตำรวจ”อีกแล้ว แต่เป็นเพียง “เด็ก” ที่แม้แต่คำนิยามทางกฎหมาย ก็ยังถือว่าไม่บรรลุนิติภาวะ
เสียงปืนที่ดังสนั่นห้างสรรพสินค้าใจกลางเมืองหลวงครั้งนี้ คงกลายเป็นฝันร้ายที่ยากจะลืมเลือน เพราะสถานที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ติดกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระดับเดินเพียง 10 นาทีก็ถึง
ซ้ำยังเป็นพื้นที่เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งเดินทางไปได้ทั่วทุกจุด ยิ่งทำให้การกราดยิงดูใกล้ตัวเข้ามาทุกที
และถึงแม้จะมีการถอดบทเรียน แต่กระนั้นก็ยังเกิดเหตุอีกครั้ง ทิ้งร่องรอยความสงสัยให้กับสังคมมากมาย บ้างมองว่าเป็นเพราะปัญหาสุขภาพจิต บ้างมองว่าเป็นเพราะเกม ขณะที่บางคนตั้งข้อสังเกตว่าหรือนี่จะเป็นความตั้งใจที่มาจากพฤติกรรมลอกเลียนแบบ
เพราะอะไรเด็กถึงตัดสินใจลั่นไก และเหตุการณ์กราดยิงจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นรากฐานของเมล็ดพันธุ์แห่งฝันร้าย?
คืนเกิดเหตุของฝันร้ายใจกลางกรุง
จากคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์และภาพจากกล้องวงจรปิด ทำให้พบว่า จุดเริ่มต้นของฝันร้ายครั้งนี้ เริ่มต้นเมื่อประมาณ 15.35 น. ของเย็นวันที่ 3 ตุลาคม 2566
- 15.35 น. เขาเดินสะพายกระเป้าเป้เข้าศูนย์การค้าสยามพารากอน ทาง BTS Link 2 ชั้น ก่อนจะเดินลงมายังชั้น 1 และลงกลับมา ชั้น M Star Dome
- 15.40 น. เดินมายังฝั่งศูนย์การค้า ชั้น M ยังสะพายกระเป๋าเป้อยู่
- 15.42 น. เดินเข้าห้องน้ำ ชั้น M ข้างร้านแบรนด์เนม
- 16.10 น. เริ่มยิงในห้องน้ำ และหน้าห้องน้ำจีเวล ชั้น M
- 16.11 น. เดินออกจากห้องน้ำ เริ่มยิงบริเวณศูนย์การค้าและฝั่งห้างสรรพสินค้า ชั้น M
- 16.25 น. ยิงบริเวณชั้น 2 Void North
- 16.28 น. เดินขึ้นบันได้เลื่อนไปชั้น 3 เริ่มยิงต่อ
- 16.30 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทวงการคลัง รับทราบเหตุการณ์ใช้ปืนยิงในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน พร้อมสั่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงพื้นที่ศูนย์การค้าสยามพารากอนดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด
- 16.40 น. BTS สถานีสยาม แจ้งปิดประตูฝั่งพารากอน ให้ผู้โดยสารใช้ทางเชื่อมฝั่ง สยามสแควร์ วัน แทน
- 16.50 น. มีภาพจากกล้องวงจรปิด เปิดเผยออกมาให้เห็นว่า ผู้ก่อเหตุแต่งกายแนว Tactical อย่างรัดกุม รถฉุกเฉินคันแรกออกไปส่งผู้ได้รับบาดเจ็บที่โรงพยาบาล
- 17.10 น. ควบคุมตัวผู้ก่อเหตุได้บริเวณชั้น 3 ภายในร้านค้า
- 18.22 น. ศูนย์การค้าสยามพารากอน ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์อันไม่คาดคิดที่เกิดขึ้น
- 18.32 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวผู้ก่อเหตุขึ้นรถตู้ ไปยัง สน.ปทุมวัน
- 18.40 น. พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยบิ๊กตำรวจ และ ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่เดินทางถึงพื้นที่เกิดเหตุ
- 18.45 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทวงการคลัง เดินทางมาที่เกิดเหตุ เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
- 19.39 น. ศูนย์การค้าสยามพารากอน ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และขอให้ผู้บาดเจ็บทุกท่านปลอดภัย พร้อมทั้งขอบคุณตำรวจ และอาสาสมัครทุกนาย และทีมรักษาความปลอดภัยของสยามพารากอนที่ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่เข้ายุติสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเต็มกำลัง และขอขอบพระคุณทุกกำลังใจที่มอบให้แก่ทางสยามพารากอนในวิกฤตการณ์ครั้งนี้
เหตุการณ์ครั้งนี้ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บรวม 5 คน ซึ่งหนึ่งในผู้บาดเจ็บ คือ พนักงานรักษาความปลอดภัยของสยามพารากอน ที่พยายามเข้าไประงับเหตุทันที และมีผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นชาวต่างชาติ 2 ศพ
ก่อนที่ต่อมาหนึ่งในผู้บาดเจ็บ จะเสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ศพ ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตรวม 3 ศพ
อย่างไรก็ตามจากการสอบสวนเด็ก 14 ปี ยอมรับในเรื่องของอาวุธปืนและให้การเกี่ยวกับอาวุธปืน แต่ปฏิเสธในข้อหาฆ่าผู้อื่นฯ โดยบอกว่าหูแว่ว มีคนสั่งให้ทำจึงก่อเหตุ
ทั้งนี้จากการสืบสวนของตำรวจ ผู้ก่อเหตุมีประวัติเคยเข้ารับการรักษาอาการทางจิตจริง และก่อนหน้าลงมือยิงในศูนย์การค้าสยามพารากอน ได้ส่งภาพแม็กกาซีนบรรจุกระสุนปืนไปให้ในแชตของกลุ่มเพื่อน รวมทั้งได้บันทึกคลิปวิดีโอใช้อาวุธปืนเอาไว้ ส่วนจะป่วยทางจิตหรือไม่ยังต้องรอการพิสูจน์
ขณะที่พ่อแม่เด็ก ขอโทษผู้เกี่ยวข้องทุกคนผ่านสื่อ และเดินทางไปร่วมงานศพเข้าขอขมาผู้เสียชีวิตด้วยตัวเอง พร้อมยันจะไม่ประกันตัวลูก และจะรับผิดชอบทุกอย่าง
ซึ่งอยู่ระหว่างสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ด้วยว่า จะเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ด้วยหรือไม่ เพราะตามกฎหมาย ถึงแม้ลูกจะอายุไม่ถึง 15 ปี ที่จะสามารถรับผิดทางอาญาได้ แต่ผู้ปกครองอาจต้องรับผิดชอบทางแพ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 เว้นแต่พ่อแม่จะพิสูจน์ได้ว่าใช้ความระมัดระวังในการดูแลแล้ว
อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. กล่าวว่า สยามพารากอนได้จัดการตามมาตรการที่ได้รับการฝึกอบรมเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์ ทุก ๆ 3 เดือน ซึ่งมีผลช่วยลดความสูญเสียได้ ทำให้ตำรวจสามารถเข้าช่วยเหลือและลำเลียงประชาชนอย่างมีขั้นตอน ขณะเดียวกันก็ต้องปิดล้อมพื้นที่เพื่อเข้าระงับเหตุ ซึ่งเป็นไปตามหลักยุทธวิธี
4 ปีซ้อนที่เจอเหตุการณ์กราดยิงในไทย
การกราดยิงในที่สาธารณะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก แม้ความรุนแรงในรูปแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นบ่อยนักในสังคมไทย แต่ในปัจจุบันกลับมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
• ทหารคลั่งกราดยิงโคราช เสียชีวิต 31 ศพ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563
• ทหารคลั่งกราดยิงโรงพยาบาลสนาม เสียชีวิต 2 ศพ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564
• ทหารคลั่งกราดยิงวิทยาลัยการทัพบก เสียชีวิต 2 ศพ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564
• ตำรวจคลั่งกราดยิงศูนย์เด็กเล็ก หนองบัวลำภู เสียชีวิต 36 ศพ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565
• เด็ก 14 กราดยิงในพารากอน เสียชีวิต 3 ศพ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566
หากลองไล่ย้อนไทม์ไลน์ จะพบว่าในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปี เหตุกราดยิงเกิดขึ้นถึง 5 ครั้ง และถึงแม้จะถอดบทเรียนมามากมาย แต่กระนั้นในเหตุการณ์หนองบัวลำภูที่หลายคนคาดหวังให้เป็นครั้งสุดท้าย ยังเกิดเหตุซ้ำได้อีกภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปีด้วยซ้ำ
มนุษย์ซับซ้อน หลายสาเหตุมีผลต่อการก่อเหตุ
คงไม่มีใครสามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า สาเหตุที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากอะไรกันแน่ เพราะมนุษย์มีความซับซ้อน หลายสาเหตุปัจจัย ทั้งการเลี้ยงดูของครอบครัว โรคประจำตัว หรือสภาพแวดล้อมรอบตัวเขา ต่างก็มีส่วนสำคัญที่มีผลต่อเด็ก ว่าจะพัฒนาชีวิตไปในทิศทางใด
นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราเห็นสังคมตั้งข้อสังเกตกันมากมายหลังเกิดเหตุว่า หรือนี่จะเป็นเพราะเกม การเลี้ยงดูที่เจอสภาวะกดดัน การนำเสนอของสื่อที่มีความสุ่มเสี่ยง ความตั้งใจในการลอกเลียนแบบจากเหตุการณ์ดังในต่างประเทศ หรือจะเป็นเพราะปืนหาซื้อได้ง่ายเกินไป
ถอดบทเรียนมาหลายครั้ง ทำไมเกิดเหตุซ้ำซ้อน
ทุกคนมีโอกาสที่จะกระทำความรุนแรงได้ แม้ว่าจะเป็นคนปกติก็ตาม พอถึงเวลาที่พอเหมาะ มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ทำให้เกิด trigger (ตัวกระตุ้น) ก็สามารถเกิดพฤติกรรมความรุนแรงได้ เพราะความก้าวร้าวเป็นธรรมชาติของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย เป็นพฤติกรรมเพื่อการอยู่รอด
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรตระหนักคือการควบคุมไม่ให้มันแสดงออกนั้นสำคัญกว่า
อย่างไรก็ตามแม้เรื่องนี้จะถูกถอดบทเรืยนออกมาจนบางคนก็คิดว่าคงรวบรวมเป็นตำราไปได้แล้วไม่รู้กี่เล่ม แต่การถอดบทเรียนนี้คงไม่สามารถหยุดได้ หากต้นตอซึ่งเป็น “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ยังไม่ถูกแก้ไข
ช่างภาพพีพีทีวี
ภาพเหตุการณ์กราดยิงพารากอน

วิธีป้องกันเหตุกราดยิง
ถ้าถามว่าวิธีป้องกันเหตุกราดยิงควรทำอย่างไร สิ่งที่ต้องทำ คือ “ตัดโอกาสและตัดเหตุจูงใจ”
- โอกาส คือ ช่วงจังหวะเวลา สถานที่ ที่ทำให้ประกอบอาชญากรรมได้ เช่น การเข้าถึงอาวุธปืน การเข้าถึงสถานที่
- ส่วนมูลเหตุจูงใจ คือ การตัดสินใจของคน พฤติกรรมของคน
การตัดโอกาส เช่น เรื่องการควบคุมอาวุธปืน ไม่ให้มีมายิงกันง่าย ๆ และการตัดมูลเหตุจูงใจ ก็เช่น ต้องเปิดช่องให้คนในสังคมได้มีโอกาสระบาย มีเวลาได้อยู่กับครอบครัว สร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงดูที่ดี และสื่อต้องนำเสนอข่าวโดยยึดแนวปฏิบัติทำข่าวเด็ก
วิธีแก้หนึ่งประโยคดูเหมือนง่าย แต่ส่วนมากก็เป็น “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ทั้งนั้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้ความร่วมมือทางสังคม และมักไม่ได้รับการแก้ไขเพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง
อย่างเรื่องการครอบครองปืนก็มีสถิติของ World Population Review ระบุว่า ประเทศไทยมีอาวุธปืนมากกว่า 10.3 ล้านกระบอก และอัตราการครอบครองปืนของพลเรือนอยู่ที่ 15.10 ต่อ 100 คน สูงที่สุดในอาเซียนและสูงเป็นอันดับสองในเอเชียรองจากปากีสถาน
อีกทั้ง TIME ก็มีบทความชื่อ ชื่อ “Guns Are Everywhere in Thailand. Could the Country’s Deadliest Mass Shooting Change That?” ตีพิมพ์ออกมาในเวลาไล่เลี่ยกัน ระบุอีกว่า ปืนกว่า 10 ล้านกระบอกในประเทศไทย มีเพียงประมาณ 6 ล้านกระบอกเท่านั้นที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย แม้จะมีบทลงโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับสูงสุด 20,000 บาท แต่ผู้คนจำนวนมากก็ยังทำ เนื่องจากตลาดมืดที่เฟื่องฟู ทำให้การซื้อและขายปืนผิดกฎหมายทางออนไลน์ค่อนข้างง่าย
นอกเหนือจากเรื่องนี้ก็ยังมีสถิติจากสำนักงานส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุด้วยว่า เด็กไทยเรียนหนักที่สุดในโลกรองจากญี่ปุ่น เรียนวันละ 8-10 คาบต่อวัน และร้อยละ 87 มีเวลาคุยกับพ่อแม่เพียงวันละ 10 นาที ขณะที่ตัวเลขของลูกไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ก็สูง เด็กไทยกว่า 2 ใน 3 ครัวเรือนอยู่ในชนบท พ่อแม่ทำงานในกรุง ฝากลูกให้ปู่ย่าเลี้ยง
เบื้องลึกเบื้องหลังเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย มีเหตุผลอีกเยอะแยะที่ควรพูดถึงอีก แต่ปัญหาโครงสร้างเหล่านี้ยากมากหากไม่ร่วมกันลงมือลงแรงกันในทุกภาคส่วน และถ้าปล่อยไว้อย่างไม่มีใครแก้ไขจริงจัง เหตุการณ์กราดยิงที่พารากอน ก็อาจเป็นกลายแผลเก่าที่รอวันให้ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาให้หลอกหลอนอีกครั้ง กลายเป็นรากฐานของเมล็ดพันธุ์แห่งฝันร้าย ที่จะออกมาก่อกวนใจ สร้างความเจ็บปวดทางสังคมรุนแรงได้ทุกเมื่อ
ภาพจาก : PPTV
กฟภ.ขายพันธบัตร 3 พันล้านบาท ดอกเบี้ย 3.84% ต่อปี จ่ายทุก 6 เดือน
ตำรวจไล่เก็บภาพวงจรปิด เตรียมออกหมายเรียก "สมรักษ์ คำสิงห์" พบพนักงานสอบสวน