
ผลกระทบ "เงินเฟ้อต่อเศรษฐกิจไทย"
เผยแพร่
เงินเฟ้อโลกเร่งตัวขึ้นสูงสุดในรอบหลายปี ซึ่งได้รับผลกระทบแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค รวมถึงไทย
อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกเร่งตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ นำโดยสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรปที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี และ 30 ปีตามลำดับ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มเศรษฐกิจกำลังพัฒนา (Emerging Markets: EMs) โดยเฉพาะในลาตินอเมริกาก็ปรับสูงขึ้นเร็วเช่นกัน
เปิดแนวโน้มเงินเฟ้อ "พุ่งขึ้น" ทุกประเทศทั่วโลก
คนซื้อบ้านกังวลผลกระทบโควิดยืดเยื้อ "ชะลอแผน-ปรับลดงบ"ซื้อที่อยู่อาศัย
ปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงเป็นผลมาจาก
- การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและพลังงานเพิ่มขึ้น
รวมถึง
- ปัญหาอุปทานคอขวด (supply-chain disruption) รวมถึงนโยบายควบคุมโควิดของจีน ส่งผลให้อุปทานขาดแคลนและขยายตัวได้ไม่ทันต่ออุปสงค์
- สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตอกย้ำให้สถานการณ์ความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานรุนแรงขึ้น กดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มเติม
เพราะฉะนั้น เงินเฟ้อจะกระทบต่อเศรษฐกิจ ทั้งในด้าน
- ของราคาแพงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคซื้อของได้น้อยลง
- การลงทุนลดลง เพราะต้นทุนสูงขึ้นและความสามารถในการทำกำไรลดลง
- นโยบายการเงินตึงตัวขึ้นจะเป็นความเสี่ยงต่อภาระหนี้ ที่อยู่ในระดับสูงในหลายประเทศ
- ประเทศที่นำเข้าสูง มีแนวโน้มขาดดุลเพิ่มขึ้น
- รายได้ที่แท้จริงลดลง กระทบการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน
เงินเฟ้อโลกที่เร่งตัวส่งผลต่อเงินเฟ้อไทยมากน้อยเพียงใด ?
สำหรับเงินเฟ้อไทยปรับตัวเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีเทียบกับปีก่อนหน้าปรับเพิ่มขึ้น 4.7% โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2022 จะเร่งตัวขึ้นถึง 4.9% นับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 14 ปี โดยมีปัจจัยหลัก จากราคาพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามในยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก และจากราคาอาหารที่ต้นทุนวัตถุดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งผลกระทบโดยตรงจากการส่งผ่านด้านราคามายังเศรษฐกิจไทยยังค่อนข้างจำกัดกว่าเศรษฐกิจอื่น ๆ เพราะ
สินค้านำเข้าของไทยส่วนใหญ่จำนวนมากถูกนำไปใช้ผลิตเพื่อการส่งออก ไม่ได้ใช้ในการบริโภคขั้นปลายหรือผลิตเพื่อการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ขณะที่สัดส่วนการนำเข้าต่ำเพียง 17% เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เงินเฟ้อของไทยมีความอ่อนไหวต่อราคาสินค้านำเข้าต่ำ
ราคาพลังงานจากตลาดโลกที่เร่งตัวขึ้น ไม่ได้ส่งผลต่อเงินเฟ้อไทยอย่างเต็มที่ แม้ประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันสุทธิ เนื่องจาก มีมาตรการช่วยเหลือหลายอย่างจากภาครัฐ เช่น การตรึงราคาพลังงาน
ภาคธุรกิจยังไม่สามารถส่งผ่านต้นทนการผลิตที่สูงขึ้นมายังผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่ เพราะมีการแข่งขันที่สูงและกำลังซื้อในประเทศยังมีน้อย
อุปสงค์ในประเทศยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ สะท้อนจากตลาดแรงงานที่ยังเปราะบาง อีกทั้ง การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นจะเป็นไปอย่างช้า ๆ เนื่องจากยังมีมาตรการภาครัฐคอยช่วยเหลืออยู่ และในระยะถัดไปที่อุปทานสินค้าจะมีเพิ่มขึ้นจากปัญหาอุปทานคอขวดที่จะทยอยคลี่คลายลง ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อจะทยอยลดลงอีกด้วย
ธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวเร็วเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
- ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 7 ครั้งในปีนี้ ไปสู่ระดับ 2.5-2.75%
- ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยจนถึง 1.75% ในปีนี้ และได้เริ่มลดขนาดงบดุลผ่านการปล่อยให้พันธบัตรที่ถือครองหมดอายุลงแล้ว
- ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่มีแนวโน้มสิ้นสุดโครงการเข้าซื้อสินทรัพย์ (APP) ในช่วงสิ้นไตรมาส 2 และอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนกรกฎาคมนี้
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) EIC คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดปีนี้ เพราะยังให้ความสำคัญกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งยังคงเปราะบางและอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อน โควิด-19 มากกว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก
นอกจากนี้ ไทยยังมีภาระหนี้ที่สูงขึ้นโดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนของไทย ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนมากกว่าในอดีต ดังนั้นคณะกรรมการจึงจะระมัดระวังการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังต้องการแรงสนับสนุนต่อไป
คาดเงินเฟ้อทยอยปรับลดลงเข้าใกล้ระดับเป้าหมายของธนาคารกลางได้ในปี 2023
EIC มองว่า เงินเฟ้อมีแนวโน้มยังอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่องในปีนี้ แต่อาจชะลอลงเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังของปี และปรับลดลงเข้าใกล้ระดับเป้าหมายของธนาคารกลางส่วนใหญ่ได้ในปี 2023 จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนและปัญหาอุปทานคอขวดที่คาดว่า จะทยอยคลี่คลายลง รวมถึงการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างที่จะชะลอลงจากอุปทานแรงงานที่จะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ปัจจัยฐานต่ำที่จะทยอยหมดไป และผลของการดำเนินนโยบายของภาครัฐและธนาคารกลางที่จะตึงตัวขึ้นทำให้อุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจชะลอลง
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline