สำหรับคนที่มีรายได้สูงกว่ารายจ่ายอยู่มาก น่าจะพอรับมือได้ไม่ยากกับราคาข้าวของที่เพิ่มสูงขึ้นแบบในปัจจุบัน กล่าวคือ แม้เงินเหลือเก็บอาจจะลดลงบ้าง หรือเวลาใช้จ่ายก็อาจจะไม่ได้สะดวกใจเท่าเมื่อก่อน แต่โดยรวมก็ถือว่าไม่ได้เดือดร้อนมากนัก แต่...
3 รายกลุ่มสินค้าดันเงินเฟ้อแตะ 4.65%
ส่งออกไทย “เริ่มชะลอตัว” คาดปี 65 เผชิญแรงกดดันเศรษฐกิจ-การค้าโลก
ในทางกลับกัน สำหรับคนที่มีรายได้เมื่อหักรายจ่ายแล้วเหลือไม่มาก หรือกระทั่งรายได้ไม่พอรายจ่ายเลย ก็จะมีปัญหาในช่วงที่เงินเฟ้อสูง
ต้องลดรายจ่ายลง ในบางกรณีอาจกระทบไปถึงส่วนของเงินเก็บสะสมที่ต้องนำออกมาใช้ หรือต้องมีการกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาใช้จ่ายหากเงินเก็บมีจำกัดหรือไม่มีสภาพคล่อง ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของคนกลุ่มนี้เสี่ยงที่จะถดถอยลง
ข้อมูลการสำรวจครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงก่อนเข้าสู่ภาวะข้าวของแพงนั้น พบว่า มีครัวเรือนไทยจำนวนถึง 7.2 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงเกือบ 1 ใน 3 จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ที่มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย (รวมส่วนที่ต้องนำไปชำระหนี้) ซึ่งคนกลุ่มนี้เดือดร้อนกันอยู่แล้วแม้ยังไม่มีปัญหาเงินเฟ้อ
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบ จะพบว่า ครัวเรือนกลุ่มนี้มีสถานะทางเศรษฐกิจที่แย่กว่ากลุ่มอื่นในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น
- รายได้น้อยกว่า
- หนี้สูงกว่า สูงถึง 1.6 เท่าของรายได้ทั้งปี ขณะที่กลุ่มอื่น ๆ มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ที่เพียงราว 0.8 เท่า
- เงินสะสมน้อยกว่า
- มีปัญหาทางการเงินมากกว่า เช่น มักมีปัญหาในการจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ หรือมีการพึ่งพาหนี้นอกระบบในสัดส่วนสูง เป็นต้น
และ ยังมีอีกถึงกว่า 2 ล้านครัวเรือน ที่แม้จะมีเงินเหลือเก็บบ้างในแต่ละเดือน แต่ก็ไม่เกิน 5% ต่อรายได้ ซึ่งถือว่าไม่มากนัก สุ่มเสี่ยงที่จะมีปัญหาในปีที่ราคาข้าวของแพงขึ้นเฉียด 5%
EIC คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 4.9% ในปี 2565 นี้คาดว่า บางส่วนของคนกลุ่มนี้อาจต้องตกไปอยู่ในกลุ่มแรกหากปรับตัวไม่ได้
การเข้าสู่ปีแห่งเงินเฟ้อสูงของไทยที่มีครัวเรือนจำนวนมากกว่า 9 ล้านครัวเรือน (41% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด) ที่ไม่ได้มีความพร้อมในการรับมือมากนัก ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ ทั้งในแง่ของการเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
รัดเข็มขัด คือทางแรกในภาวะที่ค่าครองชีพสูง
สิ่งแรกคือ การรัดเข็มขัด ทั้งการลดการบริโภค การเปลี่ยนไปซื้อของที่ถูกลง การชะลอการตัดสินใจซื้อ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่จะทำให้การใช้จ่ายภายในประเทศในภาพรวมซบเซากว่าที่ควรจะเป็น เสียโอกาสไปไม่มากก็น้อยในช่วงที่บ้านเราเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดซึ่งเป็นช่วงที่คนควรจะได้ออกมาจับจ่ายใช้สอย ส่วนอีกหลายครัวเรือนที่รายได้ไม่พออยู่แล้ว ปัญหาของแพงจะไม่ได้ส่งผลแค่ให้ต้องรัดเข็มขัดเท่านั้น แต่จะยังกระทบไปถึงเงินเก็บสะสมที่ต้องถูกนำออกมาใช้ชดเชยส่วนที่ขาดไปด้วย ส่งผลให้ฐานะทางการเงินแย่ลง
“ก่อหนี้ใหม่” กลุ่มไม่ได้มีเงินเก็บพร้อมใช้รับมือ
นอกจากนี้ ยังมีครัวเรือนเปราะบางอีกจำนวนมากที่อาจไม่ได้มีเงินเก็บพร้อมใช้รับมือกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทางออกของคนกลุ่มนี้หนีไม่พ้นต้องพึ่งพาการก่อหนี้ใหม่ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องได้แค่ชั่วคราว ลูกหนี้มีภาระต้องกลับมาจ่ายคืน ซึ่งที่น่ากังวลคือ หากสถานการณ์ข้าวยากหมากแพงยืดเยื้อและรายได้ยังโตไม่ทัน ก็จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น ปัญหาของแพงจะลุกลามกลายเป็นปัญหาหนี้เสียไปด้วย
และถ้าสถานการณ์ยิ่งลากยาวก็จะยิ่งมีคนเดือดร้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ กลุ่มครัวเรือนที่เปราะบางอยู่แล้ว ที่ส่วนหนึ่งในนั้นถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต คือ มีปัญหาทั้งรายได้ไม่พอ เงินเก็บไม่มี และยังมีหนี้สูงที่ทำให้การเข้าถึงสินเชื่อในระบบมีข้อจำกัด คนกลุ่มนี้จะพลิกฟื้นตัวเองได้ยากมาก
และอาจจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงและเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูสถานะการเงินที่อยู่ในขั้นวิกฤตและป้องกันการก่อหนี้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูงอันจะทำให้ปัญหาพอกพูนแบบกู่ไม่กลับ